รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์

ประธานที่ปรึกษาสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

ไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพสูงสามารถพัฒนาก้าวหน้าไปได้อีกไกลไม่แพ้ชาติอื่น ๆ แต่ที่ผ่านมาประเทศเผชิญกับ
ความท้าทายจากปัญหาภายในและความเปลี่ยนแปลงของโลกภายนอกเข้าถาโถม ผู้นำบ้านเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่ง “นายกรัฐมนตรี” คนต่อไปซึ่งเป็นบุคคลที่มีอำนาจมากที่สุดทางการเมืองกลายเป็นความหวังหลังการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในไม่ช้าไม่นานนี้ เพราะนายกฯคนใหม่มีหน้าที่บริหารบ้านเมืองให้มีประสิทธิภาพ และมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาและขับเคลื่อนบ้านเมืองให้เจริญและแข่งขันได้

ดังนั้นบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกฯคนต่อไปของประเทศควรมีคุณสมบัติเด่นรองรับโลกใบใหม่และต้องถูกใจ
คนไทยทั้งชาติ เช่น

คุณสมบัติอย่างแรกสุดคือ “ภาวะผู้นำ” (Leadership) สามารถนำประเทศทั้งในยามปกติและยามวิกฤต ตัดสินใจเรื่อง ยาก ๆ ได้ทันสถานการณ์ มีวิสัยทัศน์หรือเห็นภาพอนาคต สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้อื่น สื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพโดยเฉพาะการพูดในเวทีสาธารณะและการเจรจาต่อรองกับผู้นำประเทศอื่น ๆ ตัดสินใจเด็ดขาดและรวดเร็ว แยกแยะข้อดีข้อเสียเมื่อต้องตัดสินใจเชิงนโยบายและเลือกแนวทางดำเนินการที่ดีที่สุดให้กับประเทศ ซึ่งบทบาทการใช้อำนาจของนายกฯอิงอยู่กับภาวะผู้นำของนายกฯเป็นปัจจัยแรก

คุณสมบัติที่สองคือ “ความเข้าใจทางการเมือง” (Political Savvy) เข้าใจและนำทางในพื้นที่ทางการเมืองที่ซับซ้อนได้ สร้างหรือแสวงหาพันธมิตรเพื่อทำงานต่าง ๆ ให้สำเร็จ ต้องเชี่ยวชาญด้านการทูต เป็นตัวแทนของประเทศในเวทีโลก เข้าใจบรรยากาศทางการเมือง ความคิดเห็นของสาธารณชน และผลประโยชน์ของชาติตนเองและชาติอื่น

คุณสมบัติถัดมาคือ “ความซื่อสัตย์” (Integrity) มีความซื่อสัตย์และคุณธรรมของผู้นำ เป็นผู้ที่สามารถไว้วางใจได้ ตัดสินใจบนผลประโยชน์สูงสุดของประเทศ ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว รับผิดชอบต่อบ้านเมืองและประชาชนที่ตนปกครอง และที่สำคัญที่สุดรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง

คุณสมบัติสุดท้ายคือ “ความสามารถในการปรับตัว” (Adaptability) พร้อมปรับตัวและเปิดรับการเปลี่ยนแปลงเพราะโลกมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สามารถปรับนโยบายและกลยุทธ์ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง เต็มใจรับฟังคำติชมหรือคำวิพากษ์วิจารณ์จากฝ่ายที่เห็นด้วยและฝ่ายตรงข้าม และพร้อมเรียนรู้และยอมรับข้อผิดพลาดเพื่อนำไปพัฒนาปรับปรุงให้ดีขึ้น

สำหรับความต้องการที่เป็นความหวังของคนไทยทุกกลุ่มต่อบุคคลที่จะเข้าดำรงตำแหน่งนายกฯ คนใหม่ ก็ต้องเป็นคนที่มีความสามารถรอบด้านในเชิงการพัฒนาบ้านเมืองให้เจริญก้าวหน้าทุก ๆ ด้าน

การพัฒนาเศรษฐกิจ - สร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อธุรกิจ ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศและส่งเสริมนวัตกรรม รวมถึงการเตรียมโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เพื่อรองรับความเติบโตทางเศรษฐกิจ การพัฒนาการศึกษา - ให้ความสำคัญกับการพัฒนาแรงงานที่มีทักษะช่วยขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ ลงทุนพัฒนาคุณภาพการศึกษาและสร้างโอกาสในการฝึกอบรมอาชีพเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน การพัฒนาส่งเสริมสังคมและวัฒนธรรม – ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการพัฒนาทางสังคมและวัฒนธรรม ความหลากหลายทางวัฒนธรรม การคุ้มครองสิทธิชนกลุ่มน้อย และสนับสนุนกลุ่มเปราะบางทางสังคม การเสริมสร้างประชาธิปไตย – เสริมสร้างความเป็นประชาธิปไตย การเลือกตั้งที่โปร่งใสและยุติธรรม การคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และการประกันว่าหลักนิติธรรมได้รับการปฏิบัติ

การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้ – คนไทยมีความเหลื่อมล้ำทางรายได้สูงมาก ต้องหาทางขจัดหรือลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ช่วยเหลือครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำ ดูแลเรื่องการศึกษาและสุขภาพ และส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจในพื้นที่ด้อยพัฒนา การแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน – ควรมีมาตรการที่เข้มข้นในการขจัดปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน และส่งเสริมความโปร่งใสและความรับผิดชอบของรัฐบาล และการปกป้องดูแลสภาพแวดล้อม – แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม ดูแลสภาพแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติโดยยึดนโยบายส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน

สุดท้ายสิ่งที่คนไทยอยากได้จากนายกฯที่มาจากการเลือกตั้ง “แบบมากมาก” คืออะไรบ้าง? ถ้ามองผ่านผลการจัดอันดับโลกของประเทศไทยช่วงปี 2564-2565 แล้วก็ต้องเป็น 1) การส่งเสริมประชาธิปไตยและการมีเสรีภาพ เพราะประเทศไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่ไม่มีเสรีภาพ เป็นปีที่สองติดต่อกัน 2) การปรับภาพลักษณ์คอร์รัปชันให้ดีขึ้น เพราะอันดับร่วงหล่นลงมาอยู่อันดับที่ 110 และ 3) เสรีภาพของสื่อ อยู่อันดับที่ 115 แม้ว่าอันดับดีขึ้นกว่าปี 2564 แต่ก็ยังดูแย่    

นายกฯเป็นผู้นำทางการเมืองที่มีอำนาจสูงสุดของฝ่ายบริหาร เมื่อท่านได้รับความไว้วางใจเข้ามาบริหารบ้านเมืองแล้ว ก็ต้องทำงานเพื่อประเทศและประชาชนเป็นอันดับแรก นี่แหละครับคือ ...นายกฯแบบที่คนไทยช๊อบชอบครับท่าน…