ดูเหมือนว่านโยบายและมาตรการต่างๆจะผลิดอกออกผลในช่วงจังหวะเวลาที่จะใกล้เลือกตั้งพอดี แม้ที่ผ่านมารัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในการบริหารเศรษฐกิจ แต่จากข้อเท็จจริงต่างๆที่เริ่มปรากฏในห้วงเวลานี้ เป็นข้อมูลที่ต้องรับฟังและให้เครดิตอยู่เหมือนกัน
โดยเฉพาะในสายตาสื่อที่มีอิทธิพลระดับโลก อย่าง Financial Times จากเพจของพล.อ.ประยุทธ์ให้ข้อมูลว่าสื่อดังกล่าว มองว่าการบริหารเศรษฐกิจด้วยความเชี่ยวชาญ และมีความรับผิดชอบเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่ทั่วโลกต้องเผชิญกับความปั่นป่วนครั้งใหญ่ในหลายๆ เรื่อง ส่งผลให้สามารถพูดได้ว่าเงินบาทเป็นสกุลเงินที่มีความมั่นคงที่สุดเป็นอันดับแรกของโลก และทำให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อน้อยที่สุดด้วย
ขณะที่นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้เร็ว หลังจากนโยบายการเปิดประเทศตั้งแต่ปลายปี 2564 ที่เริ่มภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ถือว่าฟื้นตัวได้ดีกว่าหลายประเทศในภูมิภาค
โดยนายอาคม มองว่าในปี 2566 ภาคการท่องเที่ยวยังคงเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยภาคการท่องเที่ยวคิดเป็น 12% ของจีดีพี ซึ่งการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวดีขึ้นนั้น จะช่วยสนับสนุนให้ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องเติบโตตามไปด้วย เช่น ธุรกิจโรงแรม ที่ปัจจุบันมีอัตราการจองห้องพักเติบโต 70-80%
ขณะที่ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประจำเดือนมกราคม 2566 แถลงว่าเศรษฐกิจไทยมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวไทย 11.1 ล้านคนในปีที่ผ่านมา มากกว่าที่คาดการณ์ ช่วยให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องฟื้นตัวได้ โดยอัตราการเข้าพักโรงแรมในเดือนธันวาคมที่ผ่านมาอยู่ที่ 63% เข้าใกล้ระดับปกติที่ 77% และในปีนี้ มีปัจจัยหนุนจากการที่ประเทศจีนเปิดประเทศโดยผ่อนคลายมาตรการกักตัวภาคบังคับ ตั้งแต่ 8 มกราคม 2566 ซึ่งน่าจะทำให้ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้อาจสูงได้ถึง 20 – 25 ล้านคน อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนยังคงมีความกังวลถึงปัญหาแรงงานในภาคการท่องเที่ยวที่ยังคงขาดแคลน จึงจำเป็นที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องหาแนวทางในการดึงกลุ่มแรงงานกลับเข้าสู่ภาคธุรกิจท่องเที่ยวให้เพียงพอในการรองรับการฟื้นตัวดังกล่าวต่อไป
กระนั้น กกร.มองว่า เศรษฐกิจไทยปี 2566 ยังมีข้อจำกัดในการฟื้นตัว แม้ว่าแนวโน้มของภาคการท่องเที่ยวจะดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ภาคการส่งออกมีสัญญาณการชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก ขณะที่ ภาวะต้นทุนที่อยู่ในระดับสูงตามราคาพลังงาน ค่าไฟฟ้า และอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นเป็นความท้าทายของภาคเอกชน ที่ประชุม กกร. จึงคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2566 มีแนวโน้มขยายตัวที่ 3.0-3.5% ขณะที่การส่งออกประเมินว่าจะขยายตัวในกรอบ 1.0% ถึง 2.0% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะอยู่ในกรอบ 2.7 ถึง 3.2%
อย่างไรก็ตาม ต้องจับตาว่าสถานการณ์เศรษฐกิจฟื้นตัวจากมุมมองของสื่อต่างชาติ และภาคเอกชน จะเป็นผลบวกมากน้อยแค่ไหนต่อรัฐบาล และที่สำคัญคือคะแนนนิยมของพล.อ.ประยุทธ์