ทวี สุรฤทธิกุล
น่าอึดอัดสุด ๆ สำหรับคนที่ตั้งใจอยากจะลงคะแนนให้กับผู้สมัครหรือพรรคการเมืองที่ “ถูกตา ต้องใจ” ที่สุด ในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง
เหมือนว่าเรากำลังถูกบังคับให้ต้องเลือกบางคนบางพรรค แม้จะไม่อยากเลือกก็ตามที เพราะพรรคเหล่านั้นไม่ได้ส่งผู้สมัครเพราะว่าประชาชนอยากจะเลือก แต่เป็นเพราะพรรคแต่ละพรรคได้ “ประมูลตัว” มาให้ลงสมัคร รวมถึงที่ยังไม่มีพรรคใหม่ ๆ ที่ “ดีจริง ๆ” มาเปิดตัวให้เลือก
นี่คือปัญหาการเมืองไทยในยุค Y2K !
ขอเล่าเรื่องประสบการณ์ส่วนตัวเกี่ยวกับการไปลงคะแนนในการเลือกตั้งหลาย ๆ ครั้งที่ผ่านมาสักเล็กน้อย เพื่อเปรียบเทียบว่าทำไมการเลือกตั้งครั้งที่จะมาถึงนี้จึงดู “น่าอึดอัดที่สุด”
ผู้เขียนมีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรกในการเลือกตั้งเมื่อ พ.ศ. 2522 ปีนั้นพรรคประชากรไทยของนายสมัคร สุนทรเวช กวาดที่นั่งในกรุงเทพเกือบหมด คือจากจำนวน ส.ส.กรุงเทพฯ 32 คน พรรคประชากรไทยได้ไป 29 คน เหลือให้พรรคประชาธิปัตย์ 1 คน กับพรรคกิจสังคมอีก 2 คน ว่ากันว่าเป็นการ “ตบหน้า” พรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นต้นเหตุของการทำให้บ้านเมืองวุ่นวายในปี 2519 และนำมาสู่การยึดอำนาจของทหารคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินในวันที่ 6 ตุลาคม 2519
ต่อมาก็การเลือกตั้งใน พ.ศ. 2526 2529 และ 2531 โดยเป็นการเลือกตั้งที่เกิดก่อนที่สภาจะครบวาระทั้ง 3 ครั้ง โดยรัฐบาลที่นำโดยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประกาศยุบสภาด้วยปัญหาต่าง ๆ กัน จนครั้งสุดท้ายในปี 2531 หลังการเลือกตั้ง พลเอกเปรมก็ประกาศว่า “ผมพอแล้ว” นำมาสู่การเมืองยุค “กินแหลก -บุฟเฟต์คาบิเนต” ในรัฐบาลของพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ กระทั่งทหารคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติมายึดอำนาจในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งในตอนต้นปี 2535 โดยมีการวางหมากกลให้ทหารได้สืบทอดอำนาจด้วยการสนับสนุนของนักการเมืองที่ยอมตัวเป็นลูกสมุนของทหาร ทำให้นักการเมืองฝ่ายตรงข้ามที่มาจากทหารเหมือนกันไม่พอใจ นำมาสู่ความวุ่นวายในเดือนพฤษภาคม 2535 ไล่ทหารฝ่ายสืบทอดอำนาจนั้นออกไป จากนั้นก็เข้าสุ่ยุคปฏิรูปการเมืองเพื่อทำรัฐธรรมนูญใหม่ โดยมีการเลือกตั้งคั่นอีก 2 ครั้ง คือในปี 2538 กับ 2539 จนร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนเสร็จใน พ.ศ. 2540 ก็มีการเลือกตั้งในปี 2544 ที่นำมาซึ่งระบอบทักษิณที่ครอบงำการเมืองไทยมาตั้งแต่บัดนั้น
นั่นน่าจะเรียกว่าเป็นการเริ่มต้นการเมืองในยุค Y2K ก็ได้ เพราะคริสตศักราชเพิ่งเปลี่ยนเป็น ค.ศ. 2001 ใน พ.ศ. 2544 นั่นเอง
คนที่เกิดตั้งแต่ ค.ศ. 2000 คงจะได้ใช้สิทธิเลือกตั้งเป็นครั้งแรกไปแล้วเมื่อ พ.ศ. 2562 หรือ ค.ศ. 2019 ที่พวกเขามีอายุเกิน 18 ปี ดังนั้นการเลือกตั้งครั้งที่จะมาถึงก็จะเป็นการใช้สิทธิในครั้งที่ 2 นั่นเอง
แต่สำหรับผู้เขียนจะเป็นครั้งที่ 13 เพราะหลังจากการเลือกตั้งใน พ.ศ. 2544 ก็มีการเลือกตั้งมาอีก 4 ครั้ง คือใน พ.ศ. 2548 2549 4550 และ 2554 โดยเป็นการเลือกตั้งที่เป็นไปภายใต้อิทธิพลของระบอบทักษิณ เพราะจนถึง พ.ศ. 2554 คนไทยจำนวนมากก็ยังเลือกพรรคเพื่อไทยที่กลายร่างมาจากพรรคไทยรักไทยและพรรคพลังประชาชนเข้ามาอย่างถล่มทลาย และทำให้นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้เป็นนายกรัฐมนตรี โดยที่ไม่เคยมีประสบการณ์ทางการเมืองมาก่อน และใช้เวลาหาเสียงเพียงแค่ 40 กว่าวัน
เพียงเพราะเป็นน้องสาวอดีตนายกรัฐมนตรีผู้เป็นนักโทษหนีคดี ชื่อ ดร.ทักษิณ ชินวัตร
การเลือกตั้งที่ผู้เขียนผ่านมาทั้ง 13 ครั้ง แม้ว่าหลาย ๆ ครั้งจะมีสถานการณ์ที่แย่มาก ๆ และชวนอึดอัดมาก ๆ เช่น ใน พ.ศ. 2548 ที่พรรคไทยรักไทยบังคับพรรคเล็กให้ร่วมสมัครเป็นคู่แข่งขัน จนกระทั่งศาลรัฐธรรมนูญต้องประกาศให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ คนที่ไม่ชอบการเมืองแบบบีบบังคับในยุคนั้นก็ยังมีทางเลือก เพราะเมื่อมีการเลือกตั้วครั้งใหม่ใน พ.ศ. 2549 ก็ยังมีพรรคที่อยากจะเลือกเข้าร่วมแข่งขัน หรือการเลือกตั้งในปี 2550 และ 2554 ที่รู้ทั้งรู้เพราะโพลล์ต่าง ๆ บอกว่าระบอบทักษิณยังครอบงำการเมืองไทยอยู่ แต่คนที่จะไปเลือกตั้งก็ยังรู้สึกว่า “มีความยุติธรรม” เพราะเป็นการแข่งขันกันด้วยกติการที่เป็นประชาธิปไตย
แต่ในการเลือกตั้งตั้งแต่ 24 มีนาคม 2562 ได้ทำให้ความรู้สึก “โล่งสบาย” นั้นสิ้นไป
เพราะคนไทยถูกผูกมัดด้วยกติกาที่ปลิ้นปล้อน ด้วยแรงตัณหาของทหารที่ต้องการสืบทอดอำนาจ ร่วมกับนักการเมืองที่อิงแอบอาศัยท็อปบู๊ต อยากได้อำนาจแบบหน้าหนา ๆ นั้น
พร้อมกับเหล่าคนที่อยู่ในสภาที่ได้ชื่อว่า “สภาสูง” แต่เพียงชื่อ ที่มีสุขสบายภายใต้อุ้งอวัยวะของรัฐบาล “ลายพราง” นั้นเช่นกัน
นี่คือ “โคตะระเผด็จการ” หรือ “สมบูรณาอำมาตยาธิปไตย” อันมีประเทศไทยเป็นต้นแบบ !
การเลือกตั้งในครั้งต่อไปนี้ก็เช่นกัน คนไทยล้วนถูกลากจูงให้เข้าไปเลือกตั้งผู้คนพวกนี้
ผู้คนที่ไม่น่าจะเรียกว่า “ผู้แทนราษฎร” แต่ควรจะเรียกว่า “ผู้แอบอ้างว่าเป็นผู้แทนราษฎร”
ผู้คนที่ไม่น่าจะเรียกว่า “ตัวแทนปวงชนชาวไทย” แต่ควรจะเรียกว่า “ตัวแทนหรือนายหน้าของอำมาตย์ใหญ่”
ผู้คนที่ไม่ได้มองว่า “ประชาชนเป็นใหญ่” แต่ขอให้ “ตัวกูอยู่รอดและยิ่งใหญ่ตลอดไป”
หลัง 14 ตุลาคม 2516 ผู้คนในยุคนั้นเคยเชื่อคล้าย กับคนยุคมิลเลนเนียมหรือ Y2K นี้เช่นเดียวกันว่า “โลกกำลังจะเปลี่ยนไป” แต่สุดท้ายคนยุคนั้นก็สลายไป บางส่วนไปรับใช้ “นายทุน” และบางส่วนก็ไปรับใช้ “ขุนศึก”
คนรุ่นมิลเลนเนียมนี้จะเป็นเช่นนั้นไหมหนอ เพราะยังเห็นว่าโลกของคนรุ่นนี้ก็ไม่ได้เปลี่ยนไป แต่ยังหมุนอยู่รอบ ๆ นักโทษหนีคดีบางคนนั้นอยู่ดังเดิม