หลังผ่านศึกอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 แล้ว สถานีต่อไปก็คือการยุบสภาและเลือกตั้งใหม่

โดยถือเป็นการให้ความชัดเจนจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในเรื่องของการแผนการยุบสภา โดยยอมรับว่า เรื่องยุบสภานั้น คิดไว้ในใจแล้ว ซึ่งทุกอย่างต้องมีการวางแผนและดูรอบด้าน

ส่วนเหตุผลของการจะตัดสินใจยุบสภานั้นคือ เมื่อทุกพรรคมีความพร้อม โดยในส่วนพรรครวมไทยสร้างชาติเองก็มีความพร้อม เพียงแต่ตอนนี้ยังไม่เปิดตัว และย้ำว่าตนเองไม่ได้ถ่วงเวลาเพื่อให้พรรคมีความพร้อม

อย่างไรก็ตาม มีความเคลื่อนไหวสำคัญ โดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมายของรัฐบาลได้เข้าหารือกับนายกรัฐมนตรีเรื่องการยุบสภาฯแล้ว เพื่อหารือปฏิทินการทำงานหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร มีราชการที่ทำได้หรือไม่ได้หากมีการยุบสภาที่เตรียมอธิบายในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566 นี้ เนื่องจากที่ผ่านมารัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ยังไม่เคยเจอเหตุการณ์ยุบสภามาก่อน การยุบสภาครั้งสุดท้ายเมื่อ 8 ปีผ่านมาแล้วและรัฐธรรมนูญได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

“ผมอธิบายตามรัฐธรรมนูญมาตรา 169 ที่กำหนดว่ารัฐบาลรักษาการจะทำอะไรได้หรือไม่ได้ ในกรณีที่จะยุบสภาหรืออยู่ครบวาระ นายกฯ สงสัยว่าสามารถตั้งคณะกรรมการต่างๆ ได้หรือไม่ เพราะมาตรา 169 ห้ามเฉพาะการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการและพนักงาน แต่ไม่ได้พูดถึงคณะกรรมการ ซึ่งถือเป็นการซักซ้อมความเข้าใจกัน เรื่องเหล่านี้จะเริ่ม นับหนึ่งเมื่อนายกฯ ยุบสภาหรืออยู่ครบวาระ ในกรณีที่อยู่ครบวาระจะเริ่มนับตั้งแต่หลังเวลาเที่ยงคืนของวันที่23มีนาคมเป็นต้นไป”

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ นายวิษณุ มองว่า ช่วงเวลาที่เหมาะสมกับการยุบสภา คือ หลังวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 ผ่านไปแล้ว เนื่องจากต้องรอให้การแบ่งเขตเลือกตั้งนิ่งเรียบร้อยเสียก่อน อีกทั้งต้องรอกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้งหรือ กกต.ได้ส่งเรื่องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญตีความนิยามของคำว่า ราษฎร กรณี การคิดคำนวณจำนวน ส.ส.ด้วยการนำคนที่ไม่มีสัญชาติไทยมานับรวมด้วย

ดังนั้น แม้จะมีสัญญาณยุบสภาฯ มาจากพล.อ.ประยุทธ์ ที่ชัดเจนว่ายุบสภาฯ แต่จะเป็นเมื่อไหร่นั้น จะต้องรอหลังผ่านวันที่ 28 กุมภาพันธ์ไปแล้ว ส่วนจะได้เลือกตั้งเมื่อไหร่ ต้องเฝ้าติดตามสัญญาณจากศาลรัฐธรรมนูญ