ยูร  กมลเสรีรัตน์           

ใครจะเชื่อว่าเมืองไทยเคยมีสหกรณ์นักเขียน เป็นสหกรณ์นักเขียนที่ตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกในเมืองไทยและมีแห่งเดียวในโลก เป็นความตั้งใจของนักเขียนอาวุโสในยุคนั้นที่ปรารถนาดีต่อวงการนักเขียน แต่ความตั้งใจก็ไปไม่ถึงฝัน   

จุดเริ่มต้นของการตั้งสหกรณ์นักเขียนเกิดจากบรรดานักเขียนร่วมกันจัดงาน “รับขวัญอรวรรณ” หรือเลียว  ศรีเสวก ซึ่งป่วยหนักและเพิ่งออกจากโรงพยาบาล ที่สโมสรพระที่นั่งนงคราญเก่า ภายในวังสุนันทาเมื่อวันที่  5  พฤษภาคม 2511

จากจุดนี้ ในปีต่อมาจึงเกิด“ชมรมนักเขียน 5 พฤษภาคม” โดยมีสุวัฒน์  วรดิลกและอุทธรณ์ พลกุลเป็นผู้จุดประกาย  ก่อนจะมาเป็น “สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย”ในปี 2514 ซึ่งมีอุทธรณ์  พลกุล เป็นนายกสมาคมฯคนแรก

วันหนึ่งฉัตร  บุณยศิริชัย หรือศักดิ์  สุริยา ได้ปรารภว่าสุวัฒน์  วรดิลกหรือรพีพร เป็นตัวตั้งตัวตีคนหนึ่งในการก่อตั้งสมาคมนักเขียนฯ ก็อยากจะทำอะไรเพื่อเป็นการยกย่องสุวัฒน์  วรดิลก จึงขอเชิญไปประชุมหารือกัน วันประชุม มีนักเขียนไปกันเยอะมาก สด  กูรมะโรหิต ซึ่งมีแนวคิดเรื่องสหกรณ์ชาวนามาก่อนเสนอแนะว่า หากต้องการยกย่องสุวัฒน์  วรดิลก ให้ตั้งสหกรณ์นักเขียนและยืนยันว่ายังไม่มีในประเทศไหนในโลก

สด กูรมะโรหิต ให้เหตุผลว่า นักเขียนใช่ว่าจะสามารถทำงานได้ตลอด บางครั้งอาจเจ็บป่วยหรือสังขารไม่อำนวย แล้วใครเล่าจะช่วยเหลือ นอกจากตั้งสหกรณ์เป็นของตัวเอง  โดยมีหลักการว่า การกำเนิดของสหกรณ์นักเขียน เป็นหนทางที่จะช่วยตัวเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

นโยบายหรือเป้าหมายก็คือ ส่งเสริมและเผยแพร่ผลงานของนักเขียน รวมทั้งรักษาผลประโยชน์ของนักเขียน ที่ประชุมเห็นด้วยกับความคิดนี้ หากกว่าจะเป็นรูปเป็นร่าง มีการประชุมกันอีกหลายครั้งที่บ้านของ สด  กูรมะโรหิต ย่านราชเทวี เมื่อทุกอย่างพร้อมดำเนินการ จึงทำเรื่องขออนุญาตสหกรณ์พระนคร

ในที่สุด สหกรณ์นักเขียนก็ถือกำเนิดขึ้น สถานที่ดำเนินงานคือ ห้องอาหารศกุนตลาของเพ็ญศรี  พุ่มชูศรี ซึ่งอยู่ติดกับโรงหนังออสการ์ เพชรบุรีตัดใหม่ เพลง “ศกุนตลา” ที่ทวีป  วรดิลก เจ้าของนามปากกา “ทวีปวร” เป็นผู้แต่ง แต่งขึ้นเพื่อโฆษณาห้องอาหารศกุนตลานี่แหละ โดยครูเอื้อ  สุนทรสนาน แห่งวงสุนทราภรณ์ เป็นผู้แต่งทำนอง

ประธานคณะกรรมการสหกรณ์นักเขียนแห่งประเทศไทยคือสุวัฒน์  วรดิลก  รองประธานฯคือ ทองใบ  ทองเปาด์ เลขาธิการ-ฉัตร  บุณยศิริชัย รองเลขาธิการ-พันทิพย์  หิรัญสมบูรณ์ กรรมการ-สมนึก  สูตะบุตร(บุษยมาส),สุรพล  มนต์กันภัย,พ.อ.(พิเศษ)ณรงค์  พิชัยณรงค์,อารีย์ พื้น นาค,สุรภี บุณยศิริชัย,กีรติ บุญสมบัติ,เตือนใจ  อมาตยกุล.สมิตร  สมิทธินันท์ ใช้ห้องอาหารศกุนตลาเป็นสำนักงาน

เมื่อตั้งเป็น“สหกรณ์”แล้ว นักเขียนแต่ละคนที่ร่วมกันตั้งสหกรณ์นักเขียน โดยเฉพาะคนที่มีศักยภาพต้องช่วยกันระดมขายหุ้น เพื่อจะได้มีเงินมาลงทุน ทั้งขายหุ้นให้นักเขียนและขายหุ้นตามบริษัทและธนาคารต่าง ๆ ได้เงินมาหลายแสนบาท  ผู้ที่ลงหุ้นจะมีบัตรสมาชิกของสหกรณ์นักเขียนให้ด้วย

คนในวงการนักเขียนพากันตื่นเต้นว่าทำได้อย่างไร เพราะว่าถือเป็นเรื่องใหม่และมีขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย ผู้อำนวยการสหกรณ์พระนครที่เคยทักท้วง เพราะกลัวทำไม่ได้ ถึงกับประหลาดใจที่สามารถระดมหุ้นได้มากมายขนาดนี้

หลังจากได้เงินทุนมาแล้ว จึงทำหนังสือ “นักประพันธ์”รายเดือน มีโก้หกรณ์นักเขียนอยู่บนมุมซ้ายของหนังสือ วรุณ ฉัตรกุล ณ อยุธยา (เกรียง  ไกรสร.ฝน  อยุธยา) ทำหน้าที่บรรณาธิการ เพื่อจะได้สื่อสารไปยังสมาชิกและแสดงให้เห็นศักยภาพของสหกรณ์นักเขียน นอกจากนี้ยังวางจำหน่ายตามท้องตลาดด้วย ใช้โรงพิมพ์ประชาช่างซึ่งเป็นผู้พิมพ์เป็นสำนักงาน

ภายหลังทำหนังสือพ็อกเก็ตบุ้คด้วย เพื่อจะได้มีรายได้เข้าสหกรณ์นักเขียน โดยมีราเชนทร์  อิศรานุราช เป็นบรรณาธิการ(ในภายหลังเป็นนายกสมาคมกล่องเสียงแห่งประเทศไทย มูลนิธิของประเทศญี่ปุ่นเป็นผู้ออกทุน) ใช้ห้องอาหารศกุนตลาเป็นสำนักงาน พ็อกเก็ตบุ้คที่จัดทำได้แก่ ท่องแดนมังกร ของศุภเกียรติ  ธารณกุล(นักข่าวหนังสือพิมพ์เดลิไทม์).กามเทพ 20(รวมเรื่องสั้นของหลายคนเช่น รพีพร อ.ไชย วรศิลป์ บุษยมาส สุเทพ วงศ์กำแหง ขรรค์ชัย บุนปานฯลฯ),บันทึกสาว 16 เป็นอาทิ มีโลโก้สหกรณ์นักเขียนของหนังสือเช่นเดียวกัน

งานนี้เป็นงานเสียสละเพื่อส่วนรวม ไม่ได้จ่ายค่าแรงให้ทั้งคนทำหนังสือและคนเขียน  ยกเว้น ราเชนทร์  อิศรานุราช ซึ่งเป็นบรรณาธิการพ็อกเก็ตบุ้ค  หนังสือวางจำหน่ายที่ร้านสหกรณ์นักเขียน ตั้งอยู่ในโรงหนังออสการ์ ช่วงแรกหนังสือ “นักประพันธ์”และพ็อกเก็ตบุ้คขายได้ เพราะคนที่รู้จักหรือเห็นความตั้งใจจริงต่างก็พากันอุดหนุน เหตุที่ขายได้อีกประการหนึ่งก็คือ สมัยนั้นนักอ่านจะนิยมชมชอบนักเขียนชนิดคลั่งไคล้หลงใหลเลยทีเดียว

สมัยก่อนสิ่งบันเทิงมีแต่วิทยุ โทรทัศน์และหนังสือที่จะช่วยให้ความรื่นรมย์กับชีวิต สำหรับหนังสือนัก “ประพันธ์”  ผลงานในเล่มล้วนเป็นนักเขียนที่เป็นแม่เหล็กดึงดูดคนอ่าน เรียกว่าชื่อขายได้ได้แก่’รงค์  วงษ์สวรรค์,รพีพร,สด  กูรมะโรหิต(นักเขียนนามอุโฆษในยุคนั้น ผู้เขียน ระย้า,เมื่อหิมะละลายฯลฯ เขียนเรื่องแนวตลาดคือเรื่อง “ธาตุติดดิน” เพื่อหนังสือจะได้ขายได้) อ.ไชยวรศิลป์,อุปถัมภ์ กองแก้ว,บุษยมาส,สาเรส ศิระมนัส,กรกฏ  อลงกรณ์ฯลฯ 

นอกจากร้านสหกรณ์นักเขียนจำหน่ายหนังสือที่ผลิตเองแล้ว ยังรับหนังสือของสำนักพิมพ์ต่าง ๆ มาจำหน่ายด้วย  ช่วงแรกก็ดำเนินไปด้วยดี ทุกอย่างราบรื่น หนังสือ “นักประพันธ์”วางตลาดหลายฉบับ รวมทั้งพ็อกเก็ตบุ้คพิมพ์พิมพ์ออกมาหลายเล่มด้วยกัน

ช่วงหลังเริ่มมีปัญหาติดขัด เพราะคนเป็นนักเขียนไม่มีความชำนาญเรื่องธุรกิจ ประกอบกับการจัดการไม่ดีพอ หนังสือ “นักประพันธ์”วางขายไม่ตรงตามกำหนดเวลาและพ็อกเก็ตบุ้คออกช้า ในที่สุดสิ่งที่ไม่คาดฝันว่าจะเกิดขึ้น ก็เกิดขึ้น ความฝันและความตั้งใจในการตั้งสหกรณ์นักเขียนพังครืน เพราะดำเนินงานต่อไปไม่ได้ เป็นสหกรณ์แห่งแรกในโลกที่เจ๊ง

“ใครจะนึกว่าจะเจ๊ง”คนวงในที่เคยคลุกคลีบอกเล่าให้ฟัง“การดำเนินงานไม่เป็นระบบ ราเชนทร์ บ.ก.พ็อกเก็ตบุ้ค  ตอนหลังก็ไม่ได้เงินเดือน” ความจริงแล้วในยุคต่อ ๆ มา เรื่องนักเขียนไปทำสำนักพิมพ์ แล้วประสบความล้มเหลว เกิดขึ้นไม่รู้เท่าไหร่แล้ว เพราะนักเขียนจัดการในเรื่องธุรกิจไม่เป็น ถึงเป็นก็ไม่ชำนาญ ไม่เก่ง เก่งแต่เรื่องเขียนหนังสือ

“มีคนข้างในที่เป็นกรรมการเอาแต่ประโยชน์ส่วนตัว”คนวงในอีกคนหนึ่งเล่าเบื้องหลังเรื่องนี้ให้ฟัง“แม้กระทั่งค่าพิมพ์หนังสือ “นักประพันธ์”ก็ไม่ได้จ่ายให้โรงพิมพ์ประชาช่าง ทั้งที่หนังสือขายได้ รายจ่ายก็น้อย เพราะไม่ได้จ่ายค่าเรื่อง  ค่าจัดทำพ็อกเก็ตบุ้ค ก็ไม่ได้จ่ายให้คณะดำเนินงานแม้แต่สตางค์แดงเดียว”

ตอนที่ตั้งสหกรณ์นักเขียน เจ้าของหนังสือพิมพ์เอกราชที่จังหวัดลำปาง-เล็ก  กลิ่นทอง ได้บริจาคที่ดินที่เมืองโยนก อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงรายไว้ให้เป็นทุน เผื่อจะทำอะไรต่อไปในอนาคต ที่ดินผืนนี้มีเนื้อที่กว้างขวางมาก อยู่ใกล้สนามกอล์ฟสันติบุรี เรื่องที่ดินนี้มีเรื่องปูดออกมาจากคนวงในว่า...

“ที่ดินที่บริจาคให้สหกรณ์นักเขียน มีคนข้างในพยายามจะฮุบเอามาเป็นส่วนตัว แต่คุณสุรพล  มนต์กันภัย เป็นกรรมการคนหนึ่ง ไม่ยอมเซ็นให้ เขาเป็นคนตรง  ส่วนตอนหลังจะเป็นยังไง ไม่รู้ ไม่ได้ติดตามข่าว ไม่อยากยุ่ง มันเหนื่อย ทุกคนเสียสละกันทั้งนั้น ทำงานก็ไม่เอาค่าแรง เขียนก็ไม่เอาค่าเรื่อง แต่ผลออกมากลับล้มเหลว มันเสียกำลังใจ คนที่เสียกำลังใจมากที่สุดคือ คุณสด  (สด กูรมะโรหิต) ที่เป็นคนผลักดันให้มีสหกรณ์นักเขียนเกิดขึ้นโดยไม่รับตำแหน่งใด ๆ”

สหกรณ์นักเขียนที่เกิดขึ้นในตอนนั้น เป็นภาพที่สวยงามมาก ใคร ๆ ต่างก็ชื่นชมกับสหกรณ์นักเขียนที่มีขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย แต่เมื่อผลปรากฏออกอย่างไม่คาดฝันเช่นนี้ ทำให้หลายคนหมดกำลังใจที่จะทำต่อไป

ความฝันอันสวยงามที่จะเห็นสหกรณ์นักเขียนเป็นปึกแผ่น พังทลายลง เหลือเพียงซากของความฝันและได้กลายเป็นตำนานที่เป็นดั่งความฝันอีกตำนานหนึ่งของวงการนักเขียน

 

“เวลาที่คนเราน่าเกลียดที่สุด คือ เวลาที่คิดถึงประโยชน์ของตัวเองมากที่สุด” (ศรีบูรพา)