ในลิ้นชักความทรงจำ / ยูร  กมลเสรีรัตน์           

สตรีสารอำลาจากวงการหนังสือกว่า 25 ปีมาแล้ว ฉบับสุดท้ายซึ่งเป็นฉบับอำลาคือ ฉบับที่ 52 ของเดือนมีนาคม 2539  หากไม่ได้ปิดตัวปุบปับเหมือนหนังสือบางฉบับ มีการบอกกล่าวผู้อ่านล่วงหน้าเดือนกว่า จะได้เตรียมตัวเตรียมใจ เพราะเข้าใจความรู้สึกของผู้อ่านที่เป็นแฟนสตรีสารอย่างเหนียวแน่นมาเป็นเวลายาวนานถึง 48  ปี ดังข้อความส่วนหนึ่งในถ้อยแถลงของ อาจารย์นิลวรรณ  ปิ่นทอง บรรณาธิการสตรีสาร ในสตรีสารฉบับที่ 47 ประจำวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2539

“มิตรที่ใกล้ชิดสนิทสนมดุจญาติ ถ้อยทีมีอัธยาศัยต่อกันมาเป็นเวลาช้านาน เมื่อถึงคราวต้องลาจากกันไป ย่อมมีความรู้สึกเช่นคำพูดของบทเพลงที่ขึ้นต้นว่า‘ออกปากจากลา.....’ สะเทือนใจอย่างลึกซึ้ง ยากจะกล่าวเป็นถ้อยคำ. ...การจากลาจะมีขึ้นแล้ว เมื่อสตรีสารมาพบกับท่านผู้อ่าน ณ ฉบับที่ 52 บรรจบรอบปีที่ 48 ของหนังสือ อันเป็นการดำรงอยู่มานานกว่าช่วงอายุบุคคล และเป็นเวลาที่ผู้ที่เป็นบรรณาธิการทำหน้าที่มาแต่อายุ 32 จนถึงวัยเกินเกษียณมา 20 ปีแล้ว...”   

กระนั้น เมื่อข่าวแพร่สะพัดออกไป  ผู้อ่านหลายวัยทั่วสารทิศ ทั้งเขียนจดหมาย ทั้งโทรศัพท์ไปถึงสำนักงานสตรี ซอยวัดตรีทศเทพมากมาย  แสดงให้เห็นถึงความรักความอาลัยและความผูกพันที่มีต่อนิตยสารสตรีสาร จึงขอนำข้อความของผู้อ่านมาลง เพื่อให้เห็นว่าผู้อ่านสตรีสารมีความรู้สึกต่อหนังสือที่ตนรักอย่างไร

“....มีเพียงฉบับเดียวเท่านั้นในประเทศไทย ดิฉันรับรองได้ เป็นหนังสือที่ไม่ล้าสมัย หยิบฉบับเก่าหลายปีแล้วขึ้นมาดู ก็ยังอ่านได้ดี....”(ม.  กุสุมภ์) “ช็อค  ไม่เชื่อว่าสตรีสารจะเลิก ไม่ทราบว่าจะอ่านอะไรแทน...”(‘อุบลรัตน์’ โทรศัพท์ทางไกลจากขอนแก่น”

“เสียดายจริง ๆ ที่สตรีสารจำต้องยุติไป เป็นเพราะอ่านมานานมากจนรู้สึกผูกพัน เพราะเป็นหนังสือที่ให้คุณค่าสารประโยชน์หลายหลาก ก็อดเสียใจไม่ได้ว่าไม่มีหนังสือดี ๆ อย่างนี้อ่านกันอีกแล้ว ไม่ทราบจะพูดอย่างไร นอกจากคำว่าเสียดายและก็เสียดาย....”(ว.  ยงวินิชจิต)

“เสียดายที่ยุติสตรีสาร ไม่อยากเชื่อว่าจะเป็นความจริง ทีนี้จะอ่านอะไร สตรีสารมีเนื้อหาสาระไม่หวือหวา อยากให้มีหนังสือแนวนี้เกิดขึ้นแทน”(‘ผู้อ่าน’โทรศัพท์มา) นี่คือข้อความส่วนหนึ่งในจดหมายและเสียงจากโทรศัพท์ของผู้อ่านที่ลงในสตรีสาร

ฉบับที่ 52 โปรยตัวหนังสือบนหน้าปกว่า “ฉบับอำลา” เห็นแล้วชวนให้ใจหาย ฉบับสุดท้ายนี้ อภินันทนาการผู้อ่านด้วย “สมุดบันทึก 50 ปี ทรงครองราชย์ กาญจนาภิเษก”

สตรีถือกำเนิดในโลกหนังสือ ปีที่  1 ฉบับที่ 1 เมื่อต้นเดือนมีนาคม 2491  ราคา 2 บาท  ในเวลานั้นยังเป็นหนังสือรายปักษ์  อาจารย์นิลวรรณ  ปิ่นทองป็นผู้ร่วมก่อตั้งนิตยสารสตรีสาร ยังไม่ได้ทำหน้าที่บรรณาธิการ  เพราะท่านยังรับราชการอยู่กองการต่างประเทศ  บรรณาธิการคนแรกคือจรวยพร  พัฒนางกูร เมื่อสตรีสารขึ้นปีที่ 2  คือปี 2492  อาจารย์นิลวรรณ  ปิ่นทองจึงลาออกจากราชการ รับหน้าที่บรรณาธิการสตรีสาร

 เจ้าของและผู้อำนวยการบริษัทการพิมพ์สตรีสารคนแรกคือ เรวดี เทียนประพาส  มารดาของสุรางค์  เปรมปรีดิ์ ผู้กุมบังเหียนสถานีโทรทัศน์ช่องเจ็ด 7  สี  ผู้ร่วมทุนคือนวรัตน์  กฤษณะ  แรกเริ่มก่อตั้งสตรีสาร  สำนักงานแห่งแรกอยู่ที่ร้านพวงร้อย  อาคารถนนราชดำเนิน
ต่อมา ย้ายไปอยู่ที่ห้องเช่าสองคูหา ถนนเฟื่องนคร ในปีแรกนั้นจ้างพิมพ์  ยังไม่มีโรงพิมพ์เป็นของตัวเอง ในปีที่ 2 นี้มีโรงพิมพ์เป็นของตัวเองแล้ว ต่อมา ย้ายไปอยู่ที่ถนนบำรุงเมือง  แต่สำนักงานยังอยู่ที่ถนนเฟื่องนครเหมือนเดิม  จากนั้นย้ายไปอยู่รวมกันที่อาคารเลขที่ 64  ถนนอุณากรรณ 

 จนกระทั่งปี 2510  จึงย้ายไปเช่าอยู่ที่อาคารตรีทศเทพ  ข้างวัดตรีทศเทพ ถนนประชาธิปไตย  ย่านเทเวศร์ เมื่อยี่สิบกว่าปีก่อนที่ผมยังทำงานอยู่กรมสามัญศึกษา(สพฐ.ในปัจจุบัน) กระทรวงศึกษาฯ  ตอนพักเที่ยงจะนั่งรถเมล์สาย 56 หน้าคุรุสภา ไปส่งต้นฉบับบ่อยครั้ง แค่ 5 นาทีก็ถึงวัดตรีทศเทพที่อยู่ฝั่งตรงกันข้าม  เดินเข้าไปเกือบสุดซอย  ก็ถึงสำนักงานสตรีสาร เป็นอาคารเก่า ๆ อยู่ขวามือ

สตรีสารเป็นหนังสือสำหรับนักอ่านโดยแท้จริง  ไม่มีเรื่องแฟชั่นและดารา นอกจากเรื่องในเล่มจะมีหลากหลายแล้ว ยังเป็นหนังสือที่มีความร่วมสมัย จึงสามารถยืนหยัดมาได้ถึง 48 ปี แต่ละเรื่องในหนังสือเลือกสรรมาเป็นอย่างดี มีความถูกต้องทั้งในด้านภาษาและข้อมูล เพราะบรรณาธิการรุ่นครูที่ชื่ออาจารย์นิลวรรณ ปิ่นทองมีความเข้มงวดมาก ทั้งในการพิจารณาเรื่อง โดยเฉพาะในเรื่องภาษา เพราะท่านเป็นนักอักษรศาสตร์

เสน่ห์ของสตรีสารเป็นอย่างไร จึงทำให้ผู้อ่านบ่นเสียดายด้วยความรำลึกถึง จึงขอจาระให้รู้จักรูปร่างหน้าตาของสตรีสาร โดยเริ่มจากคอลัมน์ “วัยสาว-หนุ่ม” ที่เปิดโอกาสให้ผู้อ่านอายุ 15-25 ปี เขียนส่งไป โดยต้องระบุอายุด้วย ทั้งเรื่องแต่งคือเรื่องสั้น เรื่องจากประสบการณ์และลำนำคือบทกวี คอลัมน์นี้มีบทสัมภาษณ์คนในวัยสาวหนุ่มด้วย ซึ่งเป็นคนหนุ่มสาวที่มีความสามารถหรือเป็นตัวอย่างในด้านใดด้านหนี่ง แล้วยังเปิดโอกาสให้ผู้อ่านเขียนส่งไปให้พิจารณาได้ 

 นอกจากนี้ยังเปิดกว้างสำหรับคนทั่วไปที่รักการเขียน โดยแต่งนิทานหรือเรื่องจากประสบการณ์ส่งไปในคอลัมน์ “นิทาน-เรื่องสั้น-ประสบการณ์” โดยไม่จำกัดอายุ สำหรับเรื่องสั้นในคอลัมน์นี้เปิดกว้างให้คนทุกวัย ดังนั้น จึงเข้มกว่าคอลัมน์ “วัยสาวหนุ่ม”  นวนิยายในสตรีสารจะ

มีน้อย บางช่วงมี  2-3 เรื่อง แต่ไม่เกิน 4-5 เรื่อง  เพราะสตรีสารไม่ได้มุ่งขายนวนิยายเหมือน

หนังสือฉบับอื่น แต่จะเน้นสารประโยชน์ให้กับผู้อ่าน นักเขียนประจำสตรีสารที่เขียนนวนิยายติดต่อมาเป็นเวลายาวนานก็คือ สีฟ้า กับโบตั๋น

นักเขียนอีกคนคือ วาณิช จรุงกิจอนันต์ คอลัมน์ “สนทนาพาที”ได้รับความนิยมมาก เพราะมีชั้นเชิงและลูกเล่นในการเขียนที่แพรวพราว ที่สตรีสารพร้อมส่งเสริมนักเขียนหน้าใหม่ ไม่ปิดกั้นเหมือนหนังสือบางฉบับที่ลงเฉพาะนักเขียนประจำ พูดง่าย ๆ คือ “ไม่มีเส้น ไม่เล่นพวก” พิจารณาที่เนื้องานล้วน ๆ นักเขียนชื่อดังยังเคยถูกปฏิเสธมาแล้ว

 คนที่ชอบเขียนสารคดี มีคอลัมน์ที่เปิดกว้างสำหรับผู้อ่านให้เขียนส่งไปให้พิจารณาเหมือนคอลัมน์อื่น สำหรับคอลัมน์ประจำที่อยู่คู่กับสตรีสารมานาน ใคร ๆ ก็ส่งไปได้คือ ทรรศนะชายและทรรศนะหญิง จะจัดหน้าคู่กัน คอลัมน์นี้ได้รับความนิยมมาก เพราะเป็นการแสดงความเห็นในแง่มุมที่หลากหลาย  ส่วนผู้ที่รักคำประพันธ์ประเภทร้อยกรอง มีคอลัมน์ประจำให้ประลองฝีมือคือ คอลัมน์ “กลอนหก” จะตั้งกระทู้ให้แต่ง ผลัดเปลี่ยนกระทู้ไปเรื่อย ความยาว 2 บท โดยส่งภายในเวลาที่กำหนด  

นอกจากคอลัมน์ “กลอนหก” แล้ว  ยังเปิดรับพิจารณางานร้อยกรองทุกประเภท ถ้าผ่านการพิจารณา จะล้อมกรอบแทรกลงในหนังสือ เท่าที่เห็น ถ้าลง จะลงฉบับละ 1-2 ชิ้น  นอกจากงานเขียนประเภทต่าง ๆ ดังที่กล่าวมาข้างต้น สตรีสารก็รับงานเขียนประเภทอื่นด้วย ไม่ว่าจะเป็นบทสัมภาษณ์  บทความ แม้กระทั่งปกิณกะและข้อเขียนต่าง ๆ เรียกว่าเปิดกว้างสำหรับทุกคน ไม่มีหนังสือฉบับไหนเปิดกว้างแบบนี้

เซกชั่นที่เปรียบเสมืองของแถมพิเศษที่แทรกอยู่กลางเล่มคือ สตรีสาร ภาคพิเศษ ถ้าซื้อเฉพาะสตรีสาร ภาคพิเศษ ซึ่งขายแยกจากเล่มใหญ่ เล่มละ 5 บาท กระดาษปอนด์ มีหน้าสีด้วย ในราคาแสนถูก เด็ก ๆ ชอบกันมาก เพราะมีเรื่องหลากหลาย เหมาะกับวัย แล้วยังเปิดโอกาสให้เด็ก ๆ มีส่วนร่วมมากมาย ทั้งแต่งเรื่องจากภาพ แต่งกลอน วาดภาพฯลฯ นวนิยายก็มีนะ ที่เรียกว่าวรรณกรรมเยาวชน

คอลัมน์ที่ฮิตมากก็คือ คอลัมน์การ์ตูนของ “ปีนัง” เรื่อง “บ้านชายทุ่ง” ลงเพียงหน้าเดียว เป็นหน้าสีรูปใหญ่ ๆ มีตัวหนังสือแต่น้อย อีกคอลัมน์ชื่อ “เพื่อนรัก” เป็นคอลัมน์ตอบจดหมายของ‘ปรียา’ เด็ก ๆ ชอบสำนวนการตอบจดหมายของ‘พี่ปรียา’ มาก เพราะเป็นสำนวนวัยรุ่นเป๊ะ ไม่มีใครรู้เลยว่าเป็นนามปากกาของใคร แม้กระทั่งคนในกองบ.ก. มาเปิดเผยตอนสตรีสารจะปิดตัวนี่แหละ จึงรู้ว่าเป็น...อาจารย์นิลวรรณ  ปิ่นทอง หลายคนร้อง “ว้าว!” แทบไม่อยากเชื่อ

สตรีสารเป็นหนังสือที่เจียระไนนักเขียนมานับไม่ถ้วน จนมีชื่อเสียงรุ่งโรจน์มากมายหลายคน ไม่ว่าจะเป็น สุวรรณี สุคนธาโบตั๋น โสภาค สุวรรณ วาณิช  จรุงกิจอนันต์ ประภัสสร เสวิกุล

มนันยา ฯลฯ โดยช่างเจียระไนรุ่นครูคืออาจารย์นิลวรรณ  ปิ่นทอง สตรีสารจึงเปรียบได้กับสำเภาทองที่พานักเขียนท่องไปในทะเลน้ำหมึกอันกว้างใหญ่ไพศาล

ทุกวันนี้ผมยังเก็บสตรีสารไว้ในตู้หนังสืออย่างดี  ส่วนของที่ระลึกที่ได้รับอภินันทนาการจากสตรีสารในโอกาสพิเศษที่เก็บไว้คือแก้วน้ำ มีโลโก้สตรีสารด้วย  ตอนหลังผมไม่ใช้ เพราะกลัวตกแตก ผมเก็บความทรงจำอันงดงามประทับไว้ในใจอย่างไม่มีวันลืมเลือนว่า ครั้งหนึ่งมีหนังสือคลาสสิคที่ชื่อสตรีสารยืนหยัดอยู่ในบรรณพิภพอย่างสง่างามเป็นเวลายาวนานถึง 48 ปี 

 

 

“หนังสือคือเพื่อนที่เงียบที่สุด และซื่อสัตย์ที่สุด พวกเขาเป็นที่ปรึกษาที่เข้าพบได้ง่ายที่สุด และฉลาดที่สุด และเป็นครูที่อดทนมากที่สุด”(ชาร์ลส์  ดับบลิว.  อีเลียต)