เสียงวิพากษ์วิจารณ์ ดังอื้ออึง เมื่อปรากฏว่าการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉับแก้ไขเพิ่มเติมที่เสนอโดย พรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 8 ก.พ.2566 ที่ผ่านมา อยู่ในสภาพที่เรียกว่า ล่มไม่เป็นท่า !
เมื่อเกิดปัญหา องค์ประชุมไม่ครบ แต่งานนี้มีที่มาจาก การที่ส.ว.จงใจไม่เข้าร่วมการประชุม ตามที่มีกระแสข่าวมาก่อนหน้าแล้วว่า จะมีรายการ ดับฝัน ของ ฝ่ายค้าน ที่หวังตัดอำนาจส.ว.ไม่ให้โหวตเลือก นายกรัฐมนตรี
เนื่องจากในการประชุมร่วมรัฐสภา ครั้งนี้ พรรคเพื่อไทย ได้เสนอให้พิจารณาในมาตราที่ กระทบ ต่อวุฒิสมาชิก และยังอาจเชื่อมโยงไปถึง คำตอบ ที่ว่า ใครจะได้เป็น นายกฯคนที่ 30 นั่นคือการเสนอพิจารณา มาตรา 159 เป็นการเพิ่มที่มาของนายกรัฐมนตรี ว่าจะต้องเป็นส.ส. และยกเลิกมาตรา 272 ที่ให้อำนาจ ส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรี
พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ได้ตอบคำถามสื่อ ถึงเหตุการณ์สภาล่ม โดยมาจากส.ว.แจ้งลาการประชุม มากถึง 95 คน ว่า โดยปกติก็ไม่มีคนลาจำนวนมากขนาดนี้ แต่ในวันเดียวกันนี้อาจจะมีอะไรเป็นพิเศษ
แน่นอนว่าสิ่งที่เกิดขึ้น ทำให้พรรคฝ่ายค้านเปิดฉากแถลงข่าว โดย สุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ชี้ว่านี่คือความจงใจของส.ว.
กล่าวได้ว่า ล้มครั้งนี้ก็เพราะส.ว.เป็นฝ่ายทำให้ล้ม มองเจตนาอื่นไปไม่ได้ เนื่องจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้เป็นการแก้ไขกระทบโดยตรงกับส.ว. จึงคิดว่าส.ว.คงรับไม่ได้ จึงใช้วิธีนี้ ( 8 ก.พ.2566)
อย่างไรก็ดี เมื่อ ฝ่ายค้าน โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย ไม่สามารถ ปิดสวิตช์ ตัดอำนาจของส.ว. ในการโหวตเลือกนายกฯ ลงได้อย่างเบ็ดเสร็จ ย่อมหมายความว่าจากนี้ไป พรรคเพื่อไทยในฐานะ พรรคแกนนำฝ่ายค้านที่ต้องการ พลิกขั้ว ไปเป็นรัฐบาล และต้องการชู นายกฯคนใหม่ ต้องเจอกับ ก้างชิ้นใหญ่
เมื่อสภาสูง โดยเฉพาะ 250 ส.ว. ยังคงเป็น เงื่อนไข ที่ขัดขวางการเข้าสู่อำนาจ ของพรรคเพื่อไทยไม่เปลี่ยน ย่อมกระทบไปถึงการเดินสายประกาศชู แคนดิเดตนายกฯ ของพรรคไปโดยปริยาย เพราะไม่ว่าจะเสนอใครเข้ามา ก็ยากที่จะ ฝ่าด่านหิน จาก 250 ส.ว. อยู่ดี !