ทวี สุรฤทธิกุล

ถ้าคนรุ่นใหม่ครองเสียงข้างมากในการเลือกตั้งครั้งที่จะมาถึง เขาต้องประคองอำนาจนั้นอย่างไร?

ผู้เขียนขอไม่เล่าถึงว่าคนรุ่นใหม่ใน พ.ศ. 2516 เอาชนะทหารมาได้อย่างไร เพราะคงมีประวัติศาสตร์เขียนไว้อย่างละเอียดแล้ว แต่อยากบอกถึง “ความกังวล” ของท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่มีต่อชัยชนะของคนรุ่นใหม่เหล่านั้น ว่าจะพบกับหายนะอย่างไร เพราะอะไร

รัฐบาลใน พ.ศ. 2518 ที่มีท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรี ประสบปัญหาวุ่นวายยุ่งเหยิงมาก นอกจากจะเป็นรัฐบาลที่เกิดจากการรวมตัวของพรรคต่าง ๆ หลายพรรค จนได้ชื่อว่า “รัฐบาลร้อยพ่อพันแม่” แล้ว คนรุ่นใหม่ในยุคนั้นนั่นเองก็เป็นส่วนหนึ่งในการก่อความวุ่นวายให้มากขึ้นอีกด้วย

การประท้วง การก่อม็อบ มีนิสิตนักศึกษาเข้าร่วมด้วยตลอด รวมถึงที่พรรคการเมืองของคนรุ่นใหม่ที่เป็นแนวสังคมนิยมทั้งหลาย ก็ร่วมเป็นแกนนำในการก่อการชุมต่าง ๆ นั้นด้วย

ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เตือนว่า การใช้เสรีภาพจนฟุ้งเฟ้อและเกินขอบเขต จะนำมาซึ่งความอ่อนแอในพลังของคนรุ่นใหม่เหล่านั้นในที่สุด

ทหารได้ใช้ช่วงจังหวะที่มีความวุ่นวายในบ้านเมือง โยนให้เป็นความผิดของคนรุ่นใหม่เหล่านั้น แล้วก็เน้นย้ำฝ่านสื่อต่าง ๆ รวมถึงกระบวนการลูกเสือชาวบ้าน ให้เกลียดชังนิสิตนักศึกษา

จนถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ก็คือวันหมดสิ้นอำนาจของคนรุ่นใหม่ เมื่อทหารมายึดอำนาจคืนได้ ทั้งยังฆ่านักศึกษา และตามไล่ล่าจนหลาย ๆ คนต้องระหกระเหินหลีกลี้หนีไปอยู่ในป่าในเขา

คนเดือนตุลาเหล่านั้นบางคนต่อมาก็ได้หวนกลับมาในทางการเมือง โดยตอนแรกได้เข้าไปอยู่เป็น “เบื้องหลัง” ของนักการเมืองดาวรุ่งที่ชื่อ “พันตำรวจโท ดร.ทักษิณ ชินวัตร” ในตอนที่กำลังตั้งพรรคไทยรักไทย ว่ากันว่าคนพวกนี้ได้ให้ไอเดีย “ชนบทล้อมเมือง” แก่ตำรวจหนุ่มที่กระหายอำนาจ และด้วนโยบายประชานิยมแบบสุดขั้วทุกรูปแบบ พรรคไทยรักไทยก็ได้คะแนนนิยมมาเป็นเสียงข้างมากในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2544  จากนั้นก็ได้เป็นรัฐบาล แล้วระดมประชานิยมทั้งหลายอย่างหนักหน่วง พร้อมกับรวบรวมเอาพรรคโน้นพรรคนี้ให้สลายมารวมเข้ากับพรรคเพื่อไทยจนแทบจะหมดสภา จนถึงการเลือกตั้งปี 2548 ก็ “แลนด์สไลด์” ได้เสียงกว่า 3 ใน 4 ของสภา ทำให้คนเดือนตุลาคิดเหิมเกริมมากขึ้นไปอีก

นั่นคือการอุบัติของแนวคิด “ปฏิญญาฟินแลนด์” ที่คนเดือนตุลาในพรรคไทยรักไทยไปสมคบคิดกัน ณ ต่างแดนในประเทศฟินแลนด์ โดยมีแนวคิดที่จะ “โค่นล้ม” สถาบันกษัตริย์และทหาร เปลี่ยนราชอาณาจักรเป็นสาธารณรัฐ แล้วสถาปนาคนบางคนขึ้นเป็นประธานาธิบดี

โชคดีของประเทศไทย ที่คนชั่วที่คิดเหิมเกริมเหล่านี้เกิดเหิมเกริมถึงขนาดกล้าปล่อยข่าวถึงขั้นตอนและวิธีการต่าง ๆ ที่จะไปสู่ระบอบสาธารณรัฐแบบนั้น ทำให้ฝ่ายความมั่นคงได้ผนึกกำลังกับกลุ่มอำนาจเดิม ที่พวกคนชั่ว ๆ พวกนั้นเรียกว่า “อำมาตย์” แล้วนำมาซึ่งการเกิดขึ้นของ “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย - เสื้อเหลือง” และการรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน 2549

ผู้เขียนได้เข้าไปทำงาน “การเมืองเชิงลึก” อยู่ในช่วงนี้ โดยได้เป็นตัวแทนของกลุ่มนักวิชาการที่ต่อต้านระบอบทักษิณ เข้าไปเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กับอีกส่วนหนึ่งที่ได้ไปประสานกับรัฐบาลอยู่ในคณะกรรมการต่าง ๆ หลายคณะ รวมถึงคณะกรรมการติดตามการเลือกตั้งใน พ.ศ. 2550 ที่ทหารคิดจะกำจัดระบอบทักษิณให้สิ้นซากนั้นด้วย

อย่างที่ทราบกันแล้วว่า ทหารคณะนั้น “ปัสสาวะไม่สุด” คือไม่ประสบความสำเร็จในการกำจัดระบอบทักษิณ เหตุผลที่สำคัญก็คือการประนีประนอมของทหารบางกลุ่มกับระบอบทักษิณ ที่เรียกว่า “กรณีถั่งเช่า” ซึ่งนายทหารที่เกี่ยวข้องก็ยังมีอำนาจอยู่ในแวดวงการเมืองไทยมาจนถึงทุกวันนี้

ว่ากันว่าในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2566 ที่กำลังจะมาถึง “ดีลลับ” กับคนแดนไกลและนายทหารถั่งเช่าน่าจะถูกรื้อฟื้นคืนมาได้อีก ซึ่งเรื่องนี้นี่เองที่อาจจะเป็น “ปัญหาใหม่” ของคนรุ่นใหม่ที่ต้องเผชิญ

แต่เดิมในการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 เชื่อว่ามีการเกื้อหนุนกันระหว่างกลุ่มพรรคเพื่อไทยกับพรรคของคนรุ่นใหม่ ซึ่งก็คือพรรคอนาคตใหม่ ที่ปัจจุบันเปลี่ยนมาเป็นพรรคก้าวไกล แต่เมื่อพรรคก้าวไกลได้ทำงานมาจนจะครบอายุสภานี้แล้ว ก็คงจะพบความจริงบางอย่างว่า พรรคเพื่อไทยนั้นไม่ใช่พรรค “แนวประชาธิปไตย” อย่างที่เคยเชื่อมาแต่ก่อนนั้นไม่ แต่เป็นแค่พรรค “เพื่อทักษิณ” ที่มีแนวคิดแคบมาก ๆ

ตอนนี้พรรคเพื่อไทยไม่ได้คิดไกลถึงการเปลี่ยนแปลงระบอบใด ๆ อีกแล้ว เอาแค่ “ช่วยทักษิณกลับบ้าน” ก็เป็นชัยชนะขั้นสูงสุดแล้ว ซึ่งต่างกับพรรคก้าวไกลที่ยังคงมุ่งมั่นในการ “ปฏิรูปสถาบัน” โดยมุ่งแก้รัฐธรรมนูญ และเร้าระดมคนรุ่นใหม่ให้เข้าร่วมขบวนการ

คนรุ่นใหม่ในยุคนี้อาจจะเกิดไม่ทันท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ หรือไม่ได้ให้ความสำคัญกับแนวคิดของท่าน โดยอาจจะคิดว่าท่านเป็นพวก “กษัตริย์นิยม” แต่เหนืออื่นใดท่านอาจารย์คึกฤทธิ์นั้นเป็น “ไทยนิยม” หรือรักในความเป็นไทย และเป็นห่วงสังคมไทยมากที่สุด

ถ้าท่านยังมีชีวิตอยู่ ท่านอาจจะแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อต่าง ๆ ของท่าน เพื่อให้ข้อคิดต่อคนรุ่นใหม่ หรือบางทีอาจจะเอาใจช่วยคนรุ่นใหม่ เพื่อจะได้สร้างสังคม “ไทยใหม่” ให้เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง

“ไทยใหม่” ของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์นั้น ไม่ใช่ทุบของเก่าทิ้งและสร้างใหม่ขึ้นทั้งหมด แต่ต้องผสมผสานจุดเด่นจุดด้อยระหว่างของเก่ากับของใหม่นั้นให้พอดี ในช่วงเวลาที่พอเหมาะพอควร

อย่าหัวร้อนด่วนได้ ใจร่ม ๆ และค่อยพูดค่อยจากัน

แล้ว “ไทยใหม่” ก็จะเป็น “ไทยสุข” สมปรารถนาของทุก ๆ คน