เสือตัวที่ 6

ห้วงเวลานี้การขับเคลื่อนการต่อสู้ของขบวนการแบ่งแยกดินแดนจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย มีการเดินเกมใหม่ที่มุ่งเอาชนะในสงครามช่วงชิงความเชื่อของกลุ่มคนในพื้นที่แห่งนี้อย่างเป็นระบบและเข้มข้นยิ่งจนหน่วยงานด้านความมั่นคงของรัฐแทบจะปรับตัวต่อสู้ในสงครามรูปแบบนี้ไม่ค่อยจะเท่าทัน ด้วยขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่ทำงานอย่างสอดประสานอย่างกลมกลืนระหว่างแกนนำในพื้นที่ท้องถิ่น กับกลุ่มคนที่เดินเกมในส่วนกลางในนโยบายระดับชาติ ร่วมกับกลุ่มคนที่เดินเกมในสงครามช่วงชิงความเชื่อในองค์กรระหว่างประเทศ โดยที่กลุ่มคนในขบวนการแบ่งแยกดินแดนปลายด้ามขวานในพื้นที่ต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น ได้เปิดเกมในการต่อสู้กับรัฐในรูปแบบใหม่ที่มุ่งช่วงชิงความเชื่อให้เกิดการเคืองแค้นอย่างสุดโต่งให้เกิดกับคนในพื้นที่แห่งนี้มีต่อคนส่วนอื่นของประเทศ โดยเกมใหม่ที่เรียกกันว่า การ์ดเกมที่มีชื่อว่า Patani Colonial Territory ซึ่งเป็นเกมรูปแบบไพ่การ์ดที่เรียงลำดับเหตุการณ์ที่มุ่งสร้างความแค้นใน​ช่วงระหว่าง​การผนวก​รวมปัตตานี หรือ ปตานี เข้ากับสยาม โดยเกมไพ่การ์ดชุดนี้จัดทำออกมา 52 แผ่น แต่ละแผ่นเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับ สยาม-ปัตตานี ในแต่ละช่วงเวลา โดยจงใจมุ่งบิดเบือนเหตุการณ์ในอดีต ให้เกิดความเชื่อผิดๆ อาทิ 1840 (ปี ค.ศ.) เชลยศึกปัตตานีซึ่งถูกเจาะเอ็นร้อยหวายเพื่อไม่ให้หนีไปจากการบังคับให้ขุดคลองแสนแสบที่บางกอก เป็นต้น

เกมไพ่การ์ดชุดนี้ได้ถูกสร้างขึ้นมาเป็นกลยุทธ์ในการต่อสู้กับรัฐในรูปแบบใหม่ที่หวังจะช่วงชิงความเชื่อให้กับคนในพื้นที่มีความรู้สึกโกรธแค้นคนนอกพื้นที่ที่ใช้การทารุณกับบรรพชนของพวกเขาให้ทุกข์ทรมานจากความโหดเหี้ยมของคนนอกพื้นที่และความเชื่อเหล่านั้นก็จะส่งผลให้คนที่หลงเชื่อด้วยการหล่อหลอมความคิดความเชื่อเหล่านั้นที่กระทำซ้ำแล้วซ้ำอีกจนเป็นความเชื่อในมโนจิตที่ยากจะเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นได้ ซึ่งคนเหล่านั้นก็จะเป็นแนวร่วมมวลชนของขบวนการร้ายแห่งนี้และพร้อมที่จะเป็นพลังร่วมกันต่อสู้กับรัฐ ทวงคืนความเป็นธรรมให้กลับมาสู่คนรุ่นปัจจุบันอย่างทรงพลังยิ่ง หากแต่แท้ที่จริงแล้ว ข้อมูลทางประวัติศาสตร์เพื่อนำมาสนับสนุนความเชื่อที่แปลกแยกชิงชังสุดโต่งดังกล่าว เหล่านั้น กลับพบว่าไม่เป็นความจริงเลยแม้แต่น้อย ข้อมูลเหล่านั้นกลับเป็นข้อมูลเท็จที่มุ่งใส่ร้าย สร้างความบาดหมางให้กับคนรุ่นปัจจุบันกับคนของรัฐในพื้นที่อื่นอย่างไม่มีเหตุผล ด้วยข้อมูลทางประวัติศาสตร์หลายแหล่งต่างชี้ชัดสอดคล้องกันว่าคลองแสนแสบเป็นคลองที่ถูกขุดโดยแรงงานชาวจีนโพ้นทะเล จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่เชลยปัตตานีจะเป็นผู้ขุดคลองดังกล่าว ดังนั้น วาทกรรมขุดคลองแสนแสบโดยเชลยศึกปัตตานีจึงเป็นเท็จอย่างสิ้นเชิง นอกจากนั้น อ.สุเนตร ชุตินธรานนท์ แห่งสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับนายแพทย์จิรันดร์ อภินันท์ ได้ทำการศึกษาและจัดทำวิจัย เรื่อง ข้อเท็จจริงเอ็นร้อยหวาย : ประวัติศาสตร์บาดแผลสยาม-ปตานี (พ.ศ. 2561) ซึ่งเป็นงานวิจัยที่รวบรวมเอาข้อมูลทางประวัติศาสตร์ทั้งจากฝั่งไทย และมลายู และข้อมูลทางการแพทย์มาคลี่คลายให้เห็นความจริงที่ประจักษ์ชัด โดยการวิจัยพบว่า ไม่มีหลักฐานร่วมสมัยที่เป็นลายลักษณ์อักษรยืนยันว่ากองทัพสยามได้เจาะเอ็นร้อยหวายกับเชลยปัตตานี ไม่ว่าจะเป็นครั้งที่ปัตตานีถูกตีแตกในสมัยรัชกาลที่ 1   (พ.ศ. 2329) หรือสมัยกบฏไทรบุรีในสมัยรัชกาลที่ 3 มีความเลื่อนลอยอย่างเห็นได้ชัด สรุปว่าการเจาะเอ็นร้อยหวายเชลยศึกปัตตานี เป็นเพียงเรื่องเล่าอ้างสืบต่อกันมา และไม่มีหลักฐานที่น่าเชื่อถือ

ข้อสรุปของคณะผู้วิจัยชุดนี้ ถือเป็นการสั่นคลอนความเชื่อและวาทกรรมของนักปลุกระดมชาตินิยมปัตตานี รวมถึงขบวนการแบ่งแยกดินแดน ที่มักใช้เรื่องเล่าทำนองนี้เพื่อการปลุกปั่นสร้างความเกลียดชังระหว่างคนไทย-มลายูอย่างเรื่อยมา และแม้ว่าข้อค้นพบจากการวิจัยฉบับนี้เป็นข้อมูลที่น่าเชื่อถือยิ่ง ในฐานะหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สืบค้นได้โดยสามารถอ้างอิงได้จากหลายแหล่ง รวมถึงหลักฐานด้านวิทยาศาสตร์ จึงเป็นการทำลายความพยายามในการสร้างวาทกรรมที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ ที่รัฐพยายามสรรค์สร้างสังคมพหุวัฒนธรรมอันสวยงามในพื้นที่แห่งนี้ หากแต่คนกลุ่มนี้ก็ยังไม่ลดละความพยายามในการต่อสู้เพื่อช่วงชิงความเชื่อผ่านการเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ที่บิดเบือน ใส่ร้าย ป้ายสีให้เกิดความเกลียดชังคนที่มีความแตกต่างในวิถีชีวิตในรูปแบบการ์ดเกมที่มีชื่อว่า Patani Colonial Territory ต่อไปอย่างไม่ลดละ

ในขณะที่มีนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์หลายกลุ่มพยายามค้นหาความเป็นจริงทางประวัติศาสตร์เพื่อนำเสนอเรื่องราวที่แท้จริงสู่สาธารณะโดยเฉพาะคนในพื้นที่ครั้งแล้วครั้งเล่า หากแต่เรื่องราวประวัติศาสตร์ในลักษณะเดิมๆ ที่กลุ่มคนในขบวนการแห่งนี้พยายามสานต่อความเกลียดชังให้ดำรงคงอยู่ก็ยังคงเดินหน้าอยู่ต่อไป สงครามของการแย่งชิงความเชื่อสุดโต่งในสมรภูมิแห่งนี้จึงคงความเข้มข้นยิ่งขึ้นท่ามกลางการต่อสู้ด้วยอาวุธอาจบรรเทาเบาบางลง ปรากฏการณ์ความเห็นของภาคประชาสังคม และนักสิทธิมนุษยชน ที่พยายามเดินหน้าแย่งชิงความเชื่อจึงมีอย่างไม่ลดละ โดยกล่าวอ้างว่า ที่ผ่านมารัฐจะเป็นผู้เขียนประวัติศาสตร์ ซึ่งประวัติศาสตร์ของรัฐจะแตกต่างจากเรื่องเล่า (Narratives) ของประชาชนในท้องถิ่นที่เป็นประวัติศาสตร์เชิงบอกเล่ากันปากต่อปาก หรืออาจเป็นการเล่าผ่านเพลงกล่อมเด็ก หรือบทกวีท้องถิ่น เป็นต้น เหล่านี้จึงชี้ให้เห็นว่า แกนนำขบวนการแบ่งแยกดินแดนแห่งนี้ กำลังปรับยุทธศาสตร์ในการต่อสู้กับรัฐอย่างขนานใหญ่ พวกเขาใช้การต่อสู้ด้วยอาวุธเป็นเครื่องมือสื่อสารไปยังประชาคมโลกและสร้างความหวังและกำลังใจในการต่อสู้ รวมทั้งหล่อเลี้ยงหัวใจของมวลชนในพื้นที่ให้มุ่งมั่นเดินหน้าสู่เป้าหมายของขบวนการนั่นคืออิสระในการปกครองกันเองของคนในพื้นที่อยู่ต่อไป หากแต่พลังส่วนใหญ่ไปเบนเข็มมาให้น้ำหนักกับการต่อสู้ทางความคิดกับรัฐ มุ่งบิดเบือน บ่อมเพาะหล่อหลอมกล่อมเกลาความคิดให้เกิดกับคนในพื้นที่มีความเชื่อว่าบรรพชนของพวกเขาถูกทารุณ และนั่นคือสงครามแย่งชิงความเชื่อที่รัฐจะมองข้ามไม่ได้เป็นอันขาด