ทองแถม นาถจำนง ปัจจุบันนี้ มีคนที่มีโอกาสเฝ้ารับเสด็จอยู่หน้าพระที่นั่งเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออก มีมากขึ้น ก็เลยมีผู้ที่ไม่รู้ขนบธรรมเนียมในราชพิธี ทำพลาดพลั้ง คือทำโดยขาดความรู้ ข้าพเจ้าสรุปจากข้อเขียนของ พลตรี ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช ชิ้นนี้ให้เข้าใจง่าย ๆ ว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกในราชพิธีแล้ว ผู้ที่เฝ้ารับเสด็จอยู่นั้นต้องไม่แสดงความเคารพต่อผู้ใดอื่นทั้งสิ้น ขนบไทยเรา ผู้เยาว์พบผู้ใหญ่ ก็ต้องแสดงความเคารพ แต่มีข้อยกเว้นนะครับ ระหว่างที่เฝ้ารับเสด็จ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกประทับแล้ว เราไม่ต้องแสดงความเคารพกับผู้อื่น พลตรี ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช เขียนบอกกล่าวประเด็นนี้ ไว้ในคอลัมน์ “ซอยสวนพลู” (ยังค้นวันที่ลงในสยามรัฐไม่ได้) “ใครที่ได้ดูการเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค เมื่อวันที่ 16 เดือนนี้แล้ว หากเป็นคนไทยจะต้องเกิดความรู้สึกซับซ้อนหลายอย่างยากที่จะเอามาพูดให้เป็นลำดับได้ แต่สำหรับคนไทยส่วนมากที่ได้เห็น ทั้งด้วยตาเปล่าและทางโทรทัศน์ เห็นจะต้องสรุปความว่า ความรู้สึกที่เกิดขึ้นนั้นได้รวบรวมความเป็นไทยในตัวเราให้หนักแน่นยิ่งขึ้น ทำให้พร้อมที่จะเป็นคนไทยต่อไปด้วยความภาคภูมิ ใครทำอะไรเชย ๆ หรือบ้า ๆ บ๊อง ๆ อะไรบ้างก็นึกเสียว่าช่างเถิด พอทนได้ ผมได้ดูกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคนี้ ทั้งอย่างน้อยและอย่างใหญ่มาหลายครั้งแล้ว เพราะแต่ก่อนผมอยู่ริมแม่น้ำ ตอนที่กระบวนผ่านพอดี และทุกครั้งที่ผมได้เห็น ความรู้สึกที่เกิดขึ้นในเบื้องต้นนั้นคือความกลัว หวาดหวั่น ภาพกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคนั้น เป็นภาพที่ก่อให้เกิดความเกรงขามขึ้นในใจแม้แต่ในสมัยนี้ เป็นการเกรงขามในพระบรมเดชานุภาพและพระบรมราชกฤษฎาภินิหารทั้งหลายทั้งปวงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของคนไทย ซึ่งได้สั่งสมต่อเนื่องกันลงมาไม่รู้กี่ศตวรรษไม่รู้ว่าใครจะเป็นอย่างผมบ้างหรือไม่ ทุกครั้งที่เรือพระที่นั่งมาลอยอยู่ตรงหน้า พอได้เห็นพระองค์แล้วขนลุก ลงกราบถวายบังคมเหมือนกับไม่รู้ตัว ความยิ่งใหญ่ของไทยยังมีอีกมาก และได้มีการศึกษารู้ ๆ กันอยู่ แต่ความรู้นั้นขาดความหนักแน่น ต้องได้เห็นอีกอย่างหนึ่ง จึงจะเกิดความมั่นคงแน่นอน ติดตามมาด้วยความเข้าใจ ความรักและความหวงแหน ขอชมเจ้าหน้าที่ราชการ ตั้งแต่รัฐบาลลงมาและโดยเฉพาะอย่างยิ่งกองทัพเรือที่ได้ทำหน้าที่สนองพระเดชพระคุณพระเจ้าอยู่หัวได้อย่างสมบูรณ์ ไม่มีบกพร่อง ใครไม่รู้ความหมายของคำว่า “เดชะพระบารมี” ก็ขอให้จำไว้ เมื่อคำนึงถึงเรื่องฟ้าฝน และความเรียบร้อยปราศจากอุปสรรค หรือเหตุที่ไม่น่าจะมี ในระหว่างเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหะยาตราทางชลมารคในวันนั้น งานทั้งหมดนี้ เกิดขึ้นได้ด้วยพระราชศรัทธาในการถวายผ้าพระกฐิน เกิดขึ้นได้จากขัตติยะราชประเพณีและวัฒนธรรมทั้งหลายทั้งปวงเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ รัฐบาลก็เป็นรัฐบาล มีหน้าที่อำนวยการให้เป็นไปโดยพร้อมมูล อย่าให้ขาดเหลือ แต่เหตุไฉนการโฆษณาของรัฐบาลเมื่อก่อนหน้า จึงได้โฆษณาแต่รัฐบาล ดูเหมือนกับว่ารัฐบาลเป็นผู้ทำงานนี้ด้วยตัวของตัวเอง เพื่อปีแห่งการท่องเที่ยวประเทศไทย ของอื่น ๆ อันเป็นของศักดิ์สิทธิ์ที่ผมได้กล่าวมาแล้ว ดูเหมือนจะไม่ได้เอ่ยถึงในคำโฆษณาเลย ได้ยินแต่ว่ารัฐบาลเก่ง รัฐบาลทำ งานนี้เป็นผลงานของรัฐบาลคนเดียว จนฟังดูเหมือนว่า รัฐบาลจัดงานจนเสร็จสรรพเรียบร้อยดีแล้ว จึงยกพระองค์พระเจ้าอยู่หัวไปใส่ตั้งไว้เท่านั้นเอง ใครที่มีใจเป็นธรรมเรื่องการพยุหะยาตราทางชลมารค เมื่อก่อนวันมีงานก็คงจะเข้าใจอย่างที่ผมว่ามานี้ และคงจะเห็นว่าผมมิได้เสกแสร้งว่าเอาเอง ผมมีอะไรจะทัก ก็อยู่ที่เรื่องโฆษณานี้เท่านั้น ซึ่งผมเห็นว่าไม่ถูกไม่บังควรเลยทีเดียว พูดตรง ๆ เลยว่าเท่าที่ฟังตลอกมา ก็เห็นได้ว่า รัฐบาลหรือคนและเครื่องมือของรัฐบาลได้นำเอาพระเจ้าอยู่หัวไปหาเสียง หาคะแนนนิยมให้รัฐบาล คนที่อ้างว่าจงรักภักดีในรัฐบาล ได้ยินผมพูดแล้วก็ขอให้คิดเอาเองเถิดเสร็จงานแล้ว ก็มีอะไรที่อยากจะบอกไว้ แต่ก่อนแต่ไรนั้น เมื่อพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกเป็นพระองค์ ไม่ว่าจะในงานหรือโอกาสใดก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นในงานหรือโอกาสใดก็ตามที บรรดาผู้ที่เข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออก บรรดาผู้ที่เฝ้ารับเสด็จอยู่อยู่หน้าพระที่นั่งนั้นนั้น จะไม่แสดงความเคารพแก่ผู้ใดหรือแก่กันเองเป็นอันขาด ไม่ว่าผู้รับความเคารพนั้นจะเป็นพระบรมวงศ์ผู้ใหญ่ หรือมีตำแหน่งราชการสูง มีอำนาจวาสนาสักเท่าไรก็ตามที จะทำความเคารพกันก็เมื่อพระเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นแล้ว หรือยังไม่เสด็จออกเท่านั้นประเพณีนี้ถือกันมานานนักหนา ถ้าไม่มีเหตุผลซึ่งมองไม่เห็นว่าจะมีได้อย่างไร ก็ไม่น่าจะปล่อยให้ล้มเลิกไปเพราะจะดูไม่งามเป็นอย่างยิ่ง ที่พูดมานี้ เพราะเคยถูกไหว้หน้าพระที่นั่งอยู่บ่อย ๆ ไม่รับไหว้ก็จะหาว่ายะโส จำต้องยอมรับไหว้ด้วยความคับแค้นใจเพราะต้องทำผิดประเพณีโดยไม่จำเป็นเลย”