รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์

ประธานที่ปรึกษาสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

ข้อมูลจากกองบรรณาธิการ The 101.World  กล่าวถึงสาเหตุและความท้าทายที่ส่งผลกระทบต่อการเติบโตและ การเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนไทยอย่างน่าสนใจช่วงปี 2564 ถึง ปี 2565  ไว้ว่า เด็ก เยาวชน และครอบครัวไทยต้องเผชิญกับวิกฤต 3 ด้านในเวลาเดียวกันคือ วิกฤตโรคระบาดโควิด-19 วิกฤตความเหลื่อมล้ำและการพัฒนา และวิกฤตสังคมและการเมือง และผลกระทบที่เกิดขึ้นตามมาจะส่งผลอย่างต่อเนื่องและยาวนาน

ด้านการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้เด็กและเยาวชนได้รับผลกระทบจากการสั่งปิดศูนย์เด็กเล็กและสถานศึกษา ด้านความเหลื่อมล้ำและการพัฒนาพบว่าจากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนในปี 2564 มีเด็กและเยาวชนอายุไม่เกิน 21 ปี จำนวน 2.9 ล้านคน อาศัยอยู่ในครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำสุด 10% โดยมีรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อเดือน 2,577 บาท และจำนวน 4.4 แสนคน อาศัยอยู่ในครัวเรือนที่รายได้สูงสุด 10% โดยมีรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อเดือน 38,699 บาท และด้านสังคมและการพัฒนาพบว่าเด็กและเยาวชนมีความตื่นตัวทางการเมืองสูงและต้องการเรียกร้องถึงผู้กำหนดนโยบายโดยใน ปี 2563 เด็กและเยาวชนมีการจัดชุมนุม 193 ครั้ง และช่วงปี 2564 - เดือนพฤษภาคม 2565 มีเด็กและเยาวชนถูกดำเนินคดี 279 คน นอกจากวิกฤตทั้ง 3 ด้านที่เด็กและเยาวชนไทยต้องเผชิญแล้วยังมีความท้าทายอื่น ๆ เช่น ความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หนี้ครัวเรือนและหนี้สาธารณะ การเข้ามาแทนที่การทำงานของหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ ฯลฯ

จากสภาพการณ์ต่าง ๆ เกี่ยวกับเด็กและเยาวชนไทยข้างต้น นักวิจัยจากศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว (คิด for คิดส์) ได้สรุปแนวโน้มสถานการณ์ของเด็กและเยาวชนไทยที่สำคัญ ๆ ไว้ 7 ข้อ คือ 1) เด็กและเยาวชนเผชิญกับภาวะการเรียนรู้ถดถอย พัฒนาการหยุดชะงัก 2) เด็กและครอบครัวเข้าถึงบริการของรัฐได้ยากขึ้น 3) เด็กและเยาวชนถูกผลักเข้าสู่โลกออนไลน์โดยขาดฐานที่จำเป็น 4) เด็กและเยาวชนเครียดและมีปัญหาสุขภาพจิตมากขึ้น 5) เด็กและเยาวชนมีส่วนร่วมทางการเมือง แต่ภาครัฐสกัดกั้นด้วยความรุนแรงมากขึ้น 6) โครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมสูงวัยสมบูรณ์ ครอบครัวมีขนาดเล็กและเปราะบางยิ่งขึ้น และ 7) ความไม่ลงรอยระหว่างรุ่นรุนแรงขึ้น บั่นทอนความสัมพันธ์ภายในครอบครัว

ด้านสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ร่วมกับโรงเรียนสาธิตละอออุทิศ ศูนย์การศึกษาลำปาง ได้ทำการศึกษาในหัวข้อ “เยาวชนไทยกับอนาคตการพัฒนาประเทศ” เก็บรวบรวมข้อมูลด้วยวิธีการแบบผสมผสานระหว่างการสำรวจข้อมูลทางออนไลน์และการเสวนากลุ่ม โดยผลการสำรวจทางออนไลน์ ได้สำรวจความคิดเห็นในกลุ่มผู้ใหญ่และกลุ่มเยาวชน จำนวนทั้งสิ้น 1,014 คน ระหว่างวันที่ 22-26 มกราคม 2566 ผลการสำรวจ พบว่า

“เยาวชนไทยคนรุ่นใหม่” ณ วันนี้ มีความเป็นตัวเองสูง มั่นใจ กล้าคิด กล้าทำ กล้าแสดงออก ร้อยละ 70.86 จุดเด่นของเยาวชนไทย คือ เก่งเทคโนโลยี การใช้สื่อโซเชียลต่าง ๆ ร้อยละ 74.31 สิ่งที่เป็นห่วง/กังวลเกี่ยวกับเยาวชนไทย คือ การใช้สื่อในทางที่ไม่เหมาะสม ใช้ในทางที่ผิด ร้อยละ 71.70 ปัจจัยที่ส่งผลต่อการพัฒนาเยาวชนไทย คือ การเลี้ยงดูของพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครอบครัว ร้อยละ 76.16 สิ่งที่อยากบอกกับเยาวชนไทย คือ เป็นคนดี ทำในสิ่งที่รักและเป็นสิ่งที่ดี ร้อยละ 47.97 สุดท้ายประชาชนเชื่อมั่นว่าเยาวชนไทย ณ วันนี้จะเป็นอนาคตของชาติในการพัฒนาประเทศ ร้อยละ 84.22

แนวโน้มสถานการณ์ของเด็กและเยาวชนไทย 7 ข้อ และผลการสำรวจของสวนดุสิตโพลที่กล่าวแล้ว สะท้อนให้เห็นว่าข้อมูลทั้งสองแหล่งมีความสัมพันธ์กันอย่างยิ่ง อาทิ สถานการณ์ที่เด็กและเยาวชนมีส่วนร่วมทางการเมือง แต่ภาครัฐสกัดกั้นด้วยความรุนแรงมากขึ้น สอดคล้องกับผลสำรวจที่ว่าเด็กและเยาวชนไทยมีความเป็นตัวเองสูง มั่นใจ กล้าคิด กล้าทำ กล้าแสดงออก หรือสถานการณ์ที่เด็กและเยาวชนถูกผลักเข้าสู่โลกออนไลน์โดยขาดฐานที่จำเป็น สอดคล้องกับผลสำรวจที่ว่าเด็กและเยาวชนไทยมีการใช้สื่อในทางที่ไม่เหมาะสม และใช้ในทางที่ผิด สถานการณ์ที่เด็กและเยาวชนเครียดและมีปัญหาสุขภาพจิตมากขึ้น สอดคล้องกับผลสำรวจที่ว่าการเลี้ยงดูของพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครอบครัวมีผลต่อการพัฒนาเยาวชนไทย เป็นต้น           

หากรัฐบาลและผู้ใหญ่ในวันนี้ต้องการให้เด็กและเยาวชนไทยในวันนี้ เป็นกำลังหลักของการพัฒนาประเทศ เป็นคนเก่ง คนดี และพลเมืองคุณภาพที่สามารถรับมือกับโลกอนาคตที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว คลุมเครือ ซับซ้อน ผันผวน และคาดการณ์ยากแล้ว รัฐบาลและผู้ใหญ่ก็จำเป็นต้องตระหนัก เข้าใจ ใส่ใจถึงสิ่งที่เด็กและเยาวชนไทยต้องเผชิญ และช่วยกันพัฒนาและสร้างเด็กและเยาวชนไทยให้มีคุณลักษณะที่พร้อมสำหรับการบุกเบิก สร้างอนาคต และพัฒนาประเทศไทยไปในทิศทางที่ต้องการอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกันให้มากที่สุดจากจำนวนเด็กและเยาวชนไทยที่มีอายุ 0-25 ปี ไม่ต่ำกว่า 19 ล้านคน ครับ...

ลองทายดูซิครับว่า เยาวชนไทย ณ วันนี้ จะเติบใหญ่ เพื่อกำหนดอนาคตของประเทศไทยไปในรูปแบบใด และทิศทางของประเทศจะเดินหน้าไปอย่างไร?...ผมจะรอคำตอบครับ !