ในช่วงปลายรัฐบาล กระทรวงศึกษาธิการ โดยน.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ก็ได้ปลดล็อกเรื่อง “ทรงผมนักเรียน”ออกมา ถือเป็นการยืดหยุ่นให้สิทธิเสรีภาพแก่นักเรียน นักศึกษามากขึ้น
โดยได้ลงนามยกเลิกระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ. 2563 และเสนอสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา แล้วออกเป็นหนังสือสั่งการหรือหนังสือเวียน กำหนดแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการไว้ทรงผมไว้อย่างกว้าง ๆ เพื่อให้หน่วยงานในสังกัดที่เป็นผู้กำกับดูแลสถานศึกษา กำหนดให้สถานศึกษาแต่ละแห่ง นำหลักเกณฑ์ในเรื่องดังกล่าวไปกำหนดเป็นระเบียบ หรือข้อบังคับของสถานศึกษาแต่ละแห่งเอง
เนื้อหาสาระ สรุปได้ว่า การไว้ทรงผมของนักเรียนของสถานศึกษาในสังกัด กระทรวงศึกษาธิการ และสถานศึกษาในกำกับดูแลของ กระทรวงศึกษาธิการ จะไว้ผมสั้นหรือผมยาวก็ได้ โดยสถานศึกษาอาจกำหนดลักษณะทรงผมได้ตามพันธกิจ บริบท และความเหมาะสมของแต่ละสถานศึกษา
- สถานศึกษาในสังกัด กระทรวงศึกษาธิการ และสถานศึกษาในกำกับดูแลของ กระทรวงศึกษาธิการ อาจดำเนินการกำหนดแนวปฏิบัติเกี่ยวกับไว้ทรงผมของนักเรียนได้
โดยการวางระเบียบหรือข้อบังคับของสถานศึกษา และควรระบุบทอาศัยอำนาจของกฎหมายเฉพาะมาตรา 39 (1) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546 จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสีย หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตามหลักการมีส่วนร่วม เช่น นักเรียน คณะกรรมการสภานักเรียน คณะกรรมการเครือข่ายผู้ปกครอง หรือผู้แทนผู้ปกครอง ชุมชนท้องถิ่น บุคคล หรือกลุ่มบุคคลอื่นใดที่หัวหน้าสถานศึกษาเห็นสมควร เป็นต้น และเสนอขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการสถานศึกษา หรือคณะกรรมการบริหารโรงเรียนแล้วแต่กรณี ก่อนการประกาศใช้
นอกจากนี้ ควรเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ระเบียบหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการไว้ทรงผมของนักเรียนไว้ในระบบสารสนเทศ หรือบริเวณของสถานศึกษา และดำเนินการแจ้งให้นักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษาในสังกัดสถานศึกษาทราบเป็นการทั่วไป เพื่อให้การปฏิบัติตนของนักเรียนมีความถูกต้อง เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และเกิดความชัดเจนในการดำเนินการของสถานศึกษา
กระนั้น ก็ยังมีข้อกังวลว่า แนวปฏิบัติดังกล่าวยังเป็นเพียงแนวทางกว้างๆที่เปิดช่องให้โรงเรียน และผู้บริหารการศึกษาออกกฎเพื่อควบคุมอยู่
อย่างไรก็ตาม เมื่อนโยบายจากกระทรวงศึกษาธิการลงมาเช่นนี้ จึงอยู่ที่กระบวนการรับฟังความเห็นของ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ตามพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546 ว่าจะกำหนดเช่นไร เพื่อให้เป็นไปตามสิทธิและเสรีภาพของเด็ก ที่จะไม่ปิดกั้นจินตนาการและการเรียนรู้