เดือนแรกของปี 2566 ผ่านไปไว อีกวันเดียวก็จะก้าวเข้าสู่เดือนกุมภาพันธ์ เดือนแห่งความรักกันแล้ว แต่สถานการณ์การเมืองดูเหมือนจะย้อนแย้งและตรงกันข้ามกับบรรยากาศวันวาเลนไทน์ อย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะการกำหนดปฏิทันการเมืองเอาไว้ว่า จะมีการอภิปรายทั่วไป ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152

ด้วยนับถอยหลังไปก็จะเหลือเวลาอีกเพียง 3 เดือนเศษๆ ก็จะมีการเลือกตั้ง หากดูตามไทม์ไลน์ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือกกต.วางเอาไว้ กรณีที่รัฐบาลอยู่จนครบวาระ ก็จะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในวันที่ 7 พฤษภาคม โดยสภาผู้แทนราษฎรจะมีอายุถึงวันที่ 23 มีนาคม 2566

ทว่า หลายฝ่ายคาดการณ์ตรงกันว่า สภาฯอาจจะอยู่ไม่ครบวาระ โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อาจตัดสินใจยุบสภาฯก่อน เพื่อเปิดช่องให้ส.ส.ย้ายพรรค โดยหากมีการยุบสภาฯ ตามกฎหมายจะให้กกต.กำหนดวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 45 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน

ขณะที่รัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 97 กำหนดว่า ผู้สมัครส.ส.จะต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งแต่เพียงพรรคการเมืองเดียวเป็นระยะเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 90 วันนับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในกรณีที่มีการเลือกตั้งทั่วไปเพราะเหตุยุบสภาระยะเวลา 90 วันดังกล่าวให้ลดลงเหลือ 30 วัน

กระนั้น ท่ามกลางบรรยากาศที่เกิดปัญหาสภาฯล่ม ในการพิจารณากฎหมายหลายครั้งต่อเนื่องกัน ทำให้มีการเรียกร้องให้มีการยุบสภาฯ

อีกทั้งยังมีสร้างกระแสว่า พล.อ.ประยุทธ์ อาจตัดสินใจยุบสภาฯเพื่อหนีการอภิปรายดังกล่าว

กระนั้น นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กว่า “ มีผู้แนะนำให้รัฐบาลยุบสภา ก่อนการอภิปรายตามรัฐธรรมนูญ ม.152 เพราะกลัวว่ารัฐบาลจะถูกฝ่ายค้านขึงพืดกลางสภา เรื่องนี้ มี 2 ความเห็น

1.ถ้ารัฐบาลมีความผิดร้ายแรงจริง ก็เป็นการขึงพืดรัฐบาลก่อนการเลือกตั้ง

2.ถ้าไม่มีอะไรร้ายแรง ก็จะกลายเป็นการขึงพืดฝ่ายค้านแทน

ว่าตามความจริง รัฐบาลก็มีข้อผิดพลาดควรถูกอภิปรายเยอะ แต่ผมเห็นฝ่ายค้านทำให้เสียของมาแล้วหลายครั้ง ในครั้งนี้ ผมจึงมีความเห็นว่าน่าจะเป็นไปตาม ข้อ 2 มากกว่า”

ทั้งนี หากดูเหตุปัจจัยเรื่องการตัดสินใจยุบสภาฯเพื่อเปิดโอกาสให้ส.ส.ย้ายพรรค การยุบสภาฯจึงไม่น่าจะเกิดก่อนอภิปรายทั่วไป แต่จะเกิดขึ้นเมื่อใด คำตอบอยู่ที่พล.อ.ประยุทธ์เพียงคนเดียว ที่จะต้องเป็นช่วงเวลาที่จะใช้การยุบสภาฯให้ไม่เสียของ