ทวี สุรฤทธิกุล

สิ่งที่นักการเมืองรุ่นใหม่กำลังคิดก็คือ “จะเอาชนะทหาร(และพวกอำมาตย์)ได้อย่างไร?”

บทความนี้ยังอยู่ในการนำเสนอเรื่อง “ข้อแนะนำ” ของท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ต่อคนรุ่นใหม่ที่อยากทำงานการเมือง ในฐานะที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ก็คือ “กูรู” การเมืองไทยคนสำคัญ ที่ถึงแม้ว่าท่านจะเสียชีวิตไปเกือบ 20 ปีแล้ว แต่ประสบการณ์และความรู้ที่ท่านถ่ายทอดไว้ ยังมีคุณค่าน่าสนใจยิ่งนัก

ท่านบอกว่า “หายนะ” ของนักการเมืองในรุ่นใหม่ ๆ นั้นก็คือ “การเอาหัวชนฝา” ต้องการจะเอาชนะเพียงอย่างเดียว รวมถึงความใจร้อน อยากให้ได้ผลเร็ว ๆ และทอดทิ้ง “สาระที่สำคัญของบ้านเมือง”

ท่านได้ยกตัวอย่างถึง “คณะราษฎร” ที่เป็นคนรุ่นใหม่เมื่อตอนที่เปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ 91 ปีที่ผ่านมา การเอาชนะพวกเจ้าได้ถือว่าเป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ แต่ก็ไม่เสร็จสมบูรณ์ แม้จะมีการประนีประนอมกับพวกที่นิยมเจ้าอยู่บางส่วน แต่ความพยายามของคณะราษฎรที่จะมีอำนาจโดดเด่นแต่เพียงฝ่ายเดียวก็ยิ่งทวีความพยายามมากขึ้น ที่สุดคณะราษฎรนั้นเองก็แตกกัน เพราะทหารกับพลเรือนแย่งชิงผลประโยชน์กัน สุดท้ายคณะราษฎรฝ่ายทหารก็ยึดอำนาจเอาไว้ทั้งหมด และกำจัดฝ่ายพลเรือนให้สิ้นซาก หลังการรัฐประหารในปี 2490 พร้อมกับดำเนินการแก้ไขในสิ่งที่คณะราษฎรได้ทำผิดพลาด

นั่นคือ “การลดทอนพระราชอำนาจ” เพื่อแยกพระมหากษัตริย์ออกจากการเมืองการปกครอง ที่สุดนั้นคณะราษฎรก็ไม่ต้องการที่จะให้มีสถาบันกษัตริย์ในประเทศไทยเสียอีกด้วย

ในหนังสือ “เอกกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ” เรียบเรียงโดย วิมลพรรณ ปิตธวัชชัย เมื่อ พ.ศ. 2554 เพื่อร่วมเฉลิมฉลองวาระ 100 ปีชาตกาลของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ ที่ได้รับการยกย่องจากยูเนสโกว่าเป็น “บุคคลสำคัญของโลก” ได้บรรยายถึง “ทุกขเวทนา” ของพระมหากษัตริย์ในยุคเปลี่ยนแปลงการปกครองไว้อย่างละเอียด ใครอ่านก็ต้องเศร้าใจ และไม่ให้อภัยกับ “ทุเรศกรรม” แบบนั้นของคณะราษฎรอย่างแน่นอน

แต่เมื่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม ขึ้นมามีอำนาจภายหลังรัฐประหาร 2490 ก็มีการปรับเปลี่ยน นั่นคือการเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2492 เป็นครั้งแรกว่า “ประเทศไทยมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” นั่นคือการยอมรับความสำคัญของสถาบันกษัตริย์ว่า จะตัดขาดออกไปเสียจากการเมืองการปกครองไทยไม่ได้

การเปลี่ยนแปลงวิสัยทัศน์ของผู้นำทหารในครั้งนั้นได้ส่งผลต่อ “ความยิ่งใหญ่” ของกองทัพอย่างไม่เคยมีมาก่อน นั่นคือความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นระหว่างกองทัพกับพระมหากษัตริย์ และทำให้ 2 สถาบันนี้กลายเป็น “แกนหลัก” ในทางการเมืองการปกครองมาจนถึงปัจจุบัน ที่ผู้เขียนขอเรียกว่า “สาระสำคัญของบ้านเมือง” ที่คนรุ่นใหม่ในทุกวันนี้กำลังมุ่งมั่นจะลดทอนอำนาจให้สิ้นไป

ย้อนกลับไปดูผลของการปรับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับพระมหากษัตริย์ในยุคจอมพล ป. ที่ทำให้กองทัพเพิ่มบทบาทสำคัญในทางการเมือง แต่ในขณะเดียวกันก็ส่งผลให้ผู้นำของกองทัพมีความสำคัญเหนือผู้นำรัฐบาลอย่างเห็นได้ชัดอีกด้วย เพราะจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็ได้ใช้ “พระราชอำนาจ” คุ้มครองการทำรัฐประหารใน พ.ศ. 2500 โดยมีเหตุผลข้อหนึ่งในการยึดอำนาจว่า “เพื่อปกป้องพระมหากษัตริย์” เพราะบ้านเมืองเกิดความวุ่นวายมีจลาจล ก็อาจจะนำมาซึ่งภัยต่อพระมหากษัตริย์นั้นด้วย

จากนั้นทหารก็ครองอำนาจเรื่อยมา ทั้งยังมีการสร้างอาณาจักรเป็น “ตระกูล” “ซอย” และ “สาย” ต่างๆ อีกด้วย เช่น ตระกูลกิตติขจรและจารุเสถียร ที่สืบต่อมาจากจอมพลสฤษดิ์  ซอยระนอง 2 ซอยราชครู ก็หมายถึงกลุ่มผู้นำทหารที่อาศัยอยู่ในซอยเหล่านั้น หรือในยุคนี้ก็มีสายบูรพาพยัคฆ์ กับสายวงศ์เทวัญ เป็นต้น ซึ่งนักรัฐศาสตร์บางกลุ่มเชื่อมโยงว่า การที่ทหารพยายามสืบทอดอำนาจเป็นกลุ่มเป็นก้อนแบบนั้น ก็ไม่ต่างกันกับการสืบทอดอำนาจของกษัตริย์ในสมัยโบราณ ที่มีราชวงศ์ต่าง ๆ นั่นเอง

มองเห็นภาพไหมครับว่า ทำไมจึงมีการเมืองแบบ “ทหารพี่น้อง 3 ป.” และวุฒิสภาที่มีทหารหรือพวกที่เชลียร์ทหารอยู่เต็มสภา !

ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์พูดถึงหายนะของคนรุ่นใหม่ที่มาเล่นการเมืองอีกว่า ความเข้าใจผิดอันสำคัญและส่งบาดแผลต่อคนรุ่นใหม่อย่างร้ายแรงนั้นก็คือ ชัยชนะของคนรุ่นใหม่ที่มีต่อทหารในเหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม 2516 ที่ท่านได้แต่มองตาปริบ ๆ ทั้งที่ได้เตือนนักศึกษาและปัญญาชนทั้งหลายนั้นแล้ว แต่ท้ายที่สุดก็พังกันทั้งประเทศ แม้แต่ตัวท่านเองที่เป็นรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีก็พังไปด้วย

ก็ด้วย “ฤทธิ์เดช” ของทหาร ที่ใคร ๆ คิดว่า “ย่อยยับราบคาบ” ไปแล้วนั่นเอง

การเอาชนะทหารในเหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม 2516 ไม่ได้สำเร็จเพราะการชุมนุมเพียงไม่กี่วันที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ได้มีการบ่มเพาะมานานเกือบสิบปี

นี่คืออีกทฤษฎีของการเมืองไทย “การเปลี่ยนแปลงใด ๆ ต้องใช้เวลา และอดทนรอคอย”

ที่จริงทหารในยุคจอมพลสฤษดิ์มีภาพลักษณ์ดีมาก ๆ เนื่องจากสามารถโค่นล้มจอมพล ป.ที่มีส่วนสนับสนุนให้เกิดมีการโกงเลือกตั้งในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2500 แต่เมื่อจอมพลผ้าขาวม้าแดงขึ้นปกครองและมีเรื่องฉาวโฉ่มากมาย รวมถึงการปกครองโดยใช้ “อำนาจมืด” ก็ทำให้เกิดความเสื่อม รวมถึงการทุตริตโดยใช้อำนาจรัฐมากมาย เพราะเมื่อท่านถึงแก่กรรมใน พ.ศ. 2506 ก็มีการเรียกร้องให้ตรวจสอบทรัพย์สิน ซึ่งก็พบว่ามีทรัพย์สินที่ได้มาจากการทุจริตเท่าที่ตรวจพบถึง 2,800 ล้านบาท

แล้วจอมพลถนอม กิตติขจร ก็ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีสืบแทน แต่ด้วยลีลาที่ดูทำเหมือนว่าเป็น “นายทหารผู้ซื่อสัตย์” ก็ทำให้สาธารณชนไม่สนใจจะเอาผิดอะไร จนเมื่อร่างรัฐธรรมนูญ  พ.ศ. 2511 เสร็จสิ้น ทหารก็เกิดอาการ “หางงอก” นำมาซึ่งจุดเริ่มต้นของกระแส “ไม่เอาประยุทธ์” เอ๊ย “ไม่เอาถนอม”

การเมืองช่วงนี้สำคัญมาก เป็นบทเรียนที่สำคัญของของคนรุ่นใหม่ในวันนี้ยังเกิดไม่ทันในเหตุการณ์ดังกล่าว หรือถ้าเกิดทันก็จะกลายเป็นคนรุ่นเก่าไปแล้วอย่างผู้เขียนนี้ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยผิดพลาดไปแล้ว

จึงไม่อยากจะให้เกิดความผิดพลาดอีก โปรดติดตามแล้วมาขบคิดไปด้วยกัน