น่าสนใจ ในการประชุมวุฒิสภาที่ มี นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณารายงานการศึกษาแนวทางการส่งเสริมและการพัฒนาการเลือกตั้งให้สุจริตและเที่ยงธรรม ตามที่คณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ที่มี นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว.เป็นประธาน กมธ.พิจารณาเสร็จแล้ว มีข้อเสนอหนึ่ง เพื่อแก้ไขปัญหาการทุจริตซื้อเสียงเลือกตั้ง โดยเสนอให้ กกต.หรือภาครัฐ จ่ายค่าเดินทางผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง คนละ 500 บาท ใช้เงิน 2 หมื่นล้านบาท จากจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 40 ล้านคน

“การให้ค่าเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้ง 4 ปีมีครั้ง ทำให้ประชาชนตอบแทนคุณแผ่นดิน เลือกคนดี ไม่ซื้อสิทธิขายเสียง ต่างจังหวัดต้องเดินทางไกล มีค่าใช้จ่าย 80 - 100 บาท ให้ประชาชนรู้สึกประชาธิปไตยกินได้ ตั้งแต่วันออกมาใช้สิทธิ” นายวงศ์สยาม เพ็งพานิชภักดี ส.ว.ในฐานะเลขานุการ กมธ.ระบุ

ขณะที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย มองว่า เป็นข้อเสนอทางวิชาการ หากจะทำจะต้องแก้ไขกฎหมายครั้งใหญ่ และไม่เห็นที่ไหนเขาทำกัน

อย่างไรก็ตาม เราเห็นว่า ไม่ว่าข้อเสนอดังกล่าว ปลายทางจะเป็นอย่างไร หากแต่ตรรกะในการเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งนั้น จะต้องเกิดจากจิตสำนึกของประชาชนด้วย และที่น่าเป็นห่วงก็คือ แม้ประชาชนจะมีจิตสำนึกในการทำหน้าที่ แต่หลังจากเกิดปัญหาสภาฯล่มซ้ำซาก กระทบต่อความศรัทธาของพี่น้องประชาชนหรือไม่

สะท้อนจากผลสำรวจความคิดเห็นของสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลสำรวจ เรื่อง ผู้แทนราษฎร กับ ความหวังใหม่ เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2566  ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 94.8 ระบุ ความเสื่อมของ ส.ส. หรือ ผู้แทนราษฎร คือ สภาล่ม ซ้ำซาก แจกกล้วย พฤติกรรมไม่เหมาะสม เป็นต้น

ขณะที่ก่อนหน้านี้ ศูนย์สำรวจความคิดเห็น นิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง ‘ผลงานสภาผู้แทนราษฎร’ เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2565 พบว่าร้อยละ 31.98 ระบุว่า ไม่ค่อยพอใจ เพราะการประชุมส่วนใหญ่ใช้เวลาไปกับการทะเลาะกัน และ ส.ส. ที่เข้าร่วมประชุมมีจำนวนน้อย ร้อยละ 30.46 ระบุว่า ค่อนข้างพอใจ เพราะมีความมุ่งมั่นตั้งใจทำงาน นำเสนอปัญหาและความต้องการของประชาชนในแต่ละพื้นที่เพื่อให้รัฐบาลช่วยเหลือ  ขณะที่ร้อยละ 25.96 ระบุว่า ไม่พอใจเลย เพราะสภาล่มบ่อยครั้ง และการทำงานยังไม่มีประสิทธิภาพ ร้อยละ 9.77 ระบุว่า พอใจมาก เพราะตั้งใจทำงานเพื่อประชาชน และการพิจารณากฎหมายสำคัญๆ สำเร็จลุล่วง และร้อยละ 1.83 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

จากผลกระทบของสภาฯล่ม ไม่ว่าจะด้วยปัจจัยที่เป็นเกมทางการเมือง หรือส.ส.ต่างพากันโดดประชุมเพื่อลงไปรักษาพื้นที่เพราะใกล้ช่วงเลือกตั้งก็ตาม ทำให้มีความเป็นห่วงว่า บรรยากาศเช่นนี้ ประชาชนจะเบื่อที่จะไปเลือกตั้งหรือไม่

เนื่องจากปัจจุบันความยึดโยงระหว่างส.ส.กับประชาชนน้อยลงทุกที ในแง่ของงบประมาณต่างๆ ที่เคยแปรญัตติลงพื้นที่ได้ หรือที่เรียกว่า งบฯส.ส.ถูกยกเลิก ทำให้ไม่มีงบประมาณในมือนั่นก็ส่วนหนึ่ง

หน้าที่ในการพิจารณากฎหมายต่างๆ และการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ที่ส.ส.จะเป็นที่พึ่งได้  เมื่อสภาฯล่มก็กระทบกับการพิจารณากฎหมาย จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจและติดตามการเลือกตั้งที่จะมาถึงนี้ จะเป็นบทพิสูจน์ว่า ประชาชนเบื่อเลือกตั้ง เพราะส.ส.หรือไม่