ณรงค์ ใจหาญ
เป็นที่น่าคิดว่า หากประชาคมอาเซียนมีความสัมพันธ์กันมากขึ้นทั้งในด้านการร่วมกันพัฒนาเศรษฐกิจ ความมั่นคง และสังคม ประชากรชาวอาเซียนในจำนวนสิบประเทศ จะมีความใกล้ชิดติดต่อ มีความสัมพันธ์ในทางการค้า การลงทุนและแลกเปลี่ยนความรู้ รวมถึงเรียนรู้วัฒนธรรมซึ่งกันและกันเพื่อให้เป็นหนึ่งเดียว ประชาคมเดียวกัน มากขึ้น
สิ่งที่ตามมาอย่างหลากเลี่ยงไม่ได้คือ หากเกิดปัญหากฎหมายขึ้นไม่ว่าประชาชนในอาเซียนจะเป็นผู้กระทำความผิดในประเทศอาเซียนด้วยกันหรือเป็นผู้เสียหาย การช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนอาเซียนซึ่งจะต้องช่วยกันแก้ไขปัญหาและจัดหาทนายความให้แก่ผู้ต้องหา จำเลยรวมถึงล่ามด้วยเพราะประชาชนอาเซียนไม่ได้ใช้ภาษาเดียวกัน กฎหมายของแต่ละประเทศก็มีความแตกต่างกัน ด้วยเหตุนี้ จึงมีข้อเสนอว่าประชาคมอาเซียน ควรคำนึงถึงการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายประชาชนอาเซียน เพื่อเป็นหลักประกันว่า ประชาชนอาเซียนจะได้รับความเป็นธรรมแม้ว่าจะเกิดปัญหากฎหมายนอกประเทศของตน
ประเด็นที่น่าคิดต่อมาคือ ในแต่ละประเทศของอาเซียนมีกฎหมายที่ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายต่างกัน นอกจากนี้ประเทศส่วนใหญ่เน้นการให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนของตนเท่านั้น ส่วนคนต่างด้าว หรือประชาชนในอาเซียน จะเป็นบุคคลที่ไม่มีสิทธิที่จะได้รับการช่วยเหลือทางกฎหมายตามกฎหมายที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ทั้งนี้ เพราะการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายเป็นการใช้งบประมาณของรัฐ จึงเน้นการช่วยเหลือแก่ประชาชนที่ยากไร้และไม่ได้รับความเป็นธรรม อีกทั้ง ให้ความช่วยเหลือที่จำกัดเฉพาะคนสัญชาติของตนเท่านั้น เพราะงบประมาณจำกัด
ด้านขอบเขตการให้ความช่วยเหลือ พบว่าในคดีอาญา และเป็นคดีร้ายแรง เช่น คดีที่มีโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต เป็นคดีที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะได้รับการจัดหาทนายความให้ เป็นหลัก แต่หากเป็นคดีที่มีโทษน้อยกว่านั้น ในบางประเทศ เช่น ไทย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ มาเลเซียด้วยให้ความช่วยเหลือในการจัดหาทนายความให้ แต่บางประเทศ เช่น เมียนมาร์ ไม่จัดให้ เป็นต้น นอกจากนี้ ในบางประเทศก็จะจัดหาให้เฉพาะกรณีที่ยากไร้ คนชายขอบ หรือเป็นผู้ที่ด้อยโอกาสในการเข้าถึงความยุติธรรม
กฎหมายที่กำหนดเรื่องการช่วยเหลือทางกฎหมายส่วนใหญ่เป็นกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เช่นอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ที่กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการช่วยเหลือทางกฎหมายที่เป็นกฎหมายเฉพาะ และมีหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม หรืออาสาสมัครเข้ามาให้การช่วยเหลือ ควบคู่กับหน่วยงานของกระทรวงยุติธรรมที่สนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงาน
ในอีกด้านหนึ่งของความช่วยเหลือ คือ การให้การช่วยเหลือแก่ผู้เสียหายด้านคดีแพ่ง ซึ่งในด้านนี้มีกฎหมายและวิธีปฏิบัติที่ให้ความช่วยเหลือน้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นการให้ความช่วยเหลือในด้านการให้คำปรึกษาทางกฎหมาย ไม่ได้ให้ความช่วยเหลือด้านทนายความ เนื่องจากคดีแพ่งเป็นเรื่องที่ผู้เสียหายที่ถูกโต้แย้งสิทธิจะต้องไปเรียกร้องเอง อย่างไรก็ดี ประเทศในอาเซียนยังมีโครงการเผยแพร่ความรู้ทางกฎหมายให้แก่ประชาชนในประเทศของตน เพื่อให้มีความรู้กฎหมายเบื้องต้นโดยเฉพาะกฎหมายในชีวิตประจำวันอันจะทำให้ตนทราบสิทธิและหน้าที่เพื่อจะไม่ละเมิดกฎหมาย และจะนำมาซึ่งการปฏิบัติตามกฎหมาย และไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ ซึ่งในภารกิจหลังนี้ เรียกว่าการเผยแพร่กฎหมายประชาชน ซึ่งถือเป็นงานที่ทุกๆ ประเทศให้ความสำคัญและดำเนินการผ่านทั้งภาครัฐ องค์กรเอกชนที่ไม่แสวงหากำไร สถาบันทางการศึกษานิติศาสตร์ สภาทนายความ ซึ่งช่วยกันดำเนินการในเรื่องนี้เป็นอย่างดี
ญหาที่ประเทศในอาเซียนส่วนใหญ่ประสบนอกจากข้อจำกัดในเรื่องคนสัญชาติของตนเท่านั้นที่จะได้รับความช่วยเหลือทางกฎหมาย ยกเว้นกรณีที่เป็นความผิดร้ายแรง ถึงประหารชีวิต คือ งบประมาณในการช่วยเหลือมีจำกัด รวมถึง ค่าตอบแทนทนายความ หรือเจ้าหน้าที่อื่นที่ร่วมให้ความช่วยเหลือได้รับค่าตอบแทนน้อยกว่าที่ได้ทำงานจริง อีกทั้งการเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐไม่เพียงพอล่าช้า เช่นในอินโดนีเซีย ส่วนของไทยมีปัญหาเรื่องงบประมาณจำกัด อัตราการจ่ายไม่เหมาะสม บางรายการไม่อาจเรียกร้องได้เช่น ค่าใช้จ่ายในการรวบรวมพยากหลักฐาน ซึ่งปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาที่ต้องการการบริหารจัดการและการมีงบประมาณที่เพียงพอ รวมถึงการประสานงานในระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย
จากการศึกษาข้อมูลข้างต้นในเรื่องการให้ความช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายของแต่ละประเทศในประชาคมอาเซียน ทำให้เกิดข้อพิจารณาต่อไปว่า หากประชาชนของประเทศอาเซียนหนึ่งได้ไปกระทำความผิดหรือตกเป็นผู้เสียหายในประเทศอาเซียนอีกประเทศหนึ่ง ซึ่งหลักการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน คงจะต้องให้ความช่วยเหลือประดุจเดียวกับประชากรของประเทศอาเซียนนั้น ข้อกำจัดในด้านกฎหมายที่เปิดโอกาสให้ช่วยเหลือ ตลอดจนงบประมาณที่จะนำมาใช้เพื่อให้ความช่วยเหลือ หน่วยงานที่รับผิดชอบ จะมีเป็นอย่างไร ทั้งนี้เพราะหากปล่อยให้แต่ละประเทศดำเนินการตามหลักกฎหมายของตนแล้ว การปฏิบัติต่อผู้กระทำความผิดหรือผู้เสียหายย่อมจะมีมาตรฐานที่แตกต่างกัน
ด้วยเหตุนี้ การจัดระบบของการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนอาเซียนจึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลของทั้งสิบประเทศ จะนำมาเป็นประเด็นในการเจรจา และหาทางที่จะดำเนินการที่เป็นรูปธรรมต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แหล่งเงินทุนที่จะนำมาเป็นงบประมาณในการดำเนินงาน จะอยู่ในรูปของกองทุนช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนอาเซียนรูปแบบใด และการระดมทุนที่แต่ละประเทศจะต้องมีส่วนในการนำส่ง ประการต่อไป การบริหารจัดการ จะดำเนินการอย่างไร หน่วยงานที่รับผิดชอบควรให้ประเทศที่ช่วยเหลือรับผิดชอบอย่างไร ประสานความร่วมมือกับประเทศที่ผู้กระทำผิดหรือผู้เสียหายมีภูมิลำเนาอยู่อย่างไร มีล่ามหรือนักกฎหมายของประเทศทั้งสองร่วมมือกันอย่างไร และที่สำคัญที่สุดคือ มาตรฐานในการให้ความช่วยเหลือตลอดจนขอบเขตของการให้ความช่วยเหลือควรมีข้อกำหนดไว้อย่างไร
ในท้ายที่สุด พื้นฐานของการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายซึ่งเป็นหลักประกันความเป็นธรรมในการดำเนินคดี หากเป็นคดีอาญา คดีที่มีโทษร้ายแรง ควรมีการจัดทนายความให้ความช่วยเหลือทุกกรณี แต่ถ้าเป็นคดีที่โทษจำคุกอาจมีความหลากหลายได้ เช่น ช่วยเฉพาะกรณียากไร้ หรือด้อยโอกาสไม่มีเงินจ้างทนายความ เป็นต้น แต่ควรมีเกณฑ์มาตรฐานการให้ความช่วยเหลือเพื่อจะเป็นหลักประกันว่ามีการช่วยเหลือที่ได้มาตรฐานเท่าเทียมกัน ส่วนในการช่วยเหลือแก่ผู้เสียหายเป็นเรื่องใหม่ที่จะต้องเจรจากันว่าควรครอบคลุมถึงหรือไม่ อย่างไรก็ดี การเผยแพร่กฎหมายหรือการให้คำปรึกษาแก่ประชาชนอาเซียนเมื่อเป็นผู้กระทำความผิดหรือตกเป็นผู้เสียหาย ควรมีการดำเนินการในทุกกรณีเพื่อจะทำให้ผู้นั้นทราบถึงสิทธิและหน้าที่ของตนได้ และสามารถใช้สิทธิของตนได้อย่างแท้จริง