รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์
ประธานที่ปรึกษาสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
โดยทั่วไปแล้ว เจ้าหน้าที่ประจำชั้น หรือ “Floor Supervisor” จะทำงานให้บริการลูกค้าและการต้อนรับตามร้านค้าปลีก ร้านอาหาร/ภัตตาคาร และโรงแรม มีหน้าที่คอยรายงานความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ต่อผู้บริหาร เช่น หัวหน้าแผนกแม่บ้านหรือผู้จัดการร้าน นอกจากนี้ยังมีหน้าที่ดูแลและฝึกอบรมพนักงานใหม่และพนักงานเก่า รวมถึงคอยกำกับดูแลให้พนักงานใหม่ปฏิบัติงานเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดโดยฝ่ายบริหารขององค์กร
2 บทบาทของ Floor Supervisor คือ Customer Service & Supervising Employees
บทบาทเป็น Customer Service -- “Floor Supervisor” ในฐานะผู้ให้บริการลูกค้าและต้อนรับลูกค้า หากลูกค้ามีข้อร้องเรียนหรือข้อกังวล “Floor Supervisor” จะเข้าไปแทรกแซงและคอยแก้ไขปัญหา ตัวอย่างเช่น “Floor Supervisor” ที่โรงแรม อาจเช็คอินแขกที่มาเข้าพักและตอบสนองความต้องการต่าง ๆ ตามที่ลูกค้าต้องการแล้ว “Floor Supervisor” ยังจัดการคำขอพิเศษและสิทธิพิเศษที่มอบให้กับแขกวีไอพีอีกด้วย
บทบาทเป็น Supervising Employees -- “Floor Supervisor” ในฐานะผู้กำกับดูแลพนักงาน จะมีบทบาทจัดการดูแลพนักงานอื่น ๆ และทำให้มั่นใจว่าพนักงานทุกคนทำงานร่วมกันเพื่อให้แผนกหรือองค์กรดำเนินไปอย่างราบรื่น ตัวอย่างเช่น “Floor Supervisor” ที่โรงแรม จะดูแลผู้ดูแลห้องพัก (Room Attendants) ในขณะที่ “Floor Supervisor” ในร้านค้าปลีก จะดูแลพนักงานขาย (Sales Associates) นอกจากนี้ “Floor Supervisor” ยังมีส่วนร่วมในการตัดสินใจว่าจ้าง กำหนดตารางเวลางาน ฝึกอบรมพนักงานใหม่และพนักงานเก่า และระบุว่าพนักงานคนใดควรได้รับการเลื่อนตำแหน่ง ตำหนิ หรือไล่ออก
บทบาทอื่น ๆ ของ “Floor Supervisor” -- จะทำหน้าที่เก็บรวบรวมบันทึกสถิติ/ข้อมูล/เอกสาร ตัวอย่างเช่น ที่เมโทรโพลิแทน ฮอสพิทาลิตี้ กรุ๊ป (Metropolitan Hospitality Group) “Floor Supervisor” จะเก็บบันทึกใบแจ้งหนี้ทั้งหมด ขณะเดียวกันก็ดูแลวัสดุสิ้นเปลืองและการจัดส่ง และการติดตามสินค้าคงคลัง ส่วนที่ห้องสมุดมหาวิทยาลัยฟลอริดา George A. Smathers “Floor Supervisor” ต้องจัดทำรายงานประจำสัปดาห์และรวบรวมสถิติเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ภายในห้องสมุด (อ่านเพิ่มเติมที่ https://careertrend.com/facts-5920682-duties-floor-supervisor-.html)
หน้าที่และคุณสมบัติของ Floor Supervisor เพื่อตอบโจทย์การเรียนรู้ยุคใหม่นอกกำแพงห้องเรียน
เจ้าหน้าที่นำชมพิพิธภัณฑ์ ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย – มีหน้าที่นำชมนิทรรศการในพิพิธภัณฑ์ อำนวยความสะดวกและความปลอดภัยแก่ผู้มาเยี่ยมชมและใช้พิพิธภัณฑ์ ดูแลความเรียบร้อย เตรียมความพร้อมอุปกรณ์และระบบมัลติมีเดีย จัดทำรายงานสถิติที่เกี่ยวข้อง คุณสมบัติเจ้าหน้าที่นำชมฯ เช่น มีความสามารถด้านคอมพิวเตอร์พื้นฐานดี Word/Excel โปรแกรมสำเร็จรูป สื่อสารภาษาอังกฤษได้ (TOEIC ไม่ต่ำกว่า 450 คะแนน)
เจ้าหน้าที่นำชม ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. (สำนักงานกลาง บางกรวย นนทบุรี) – ทำหน้าที่ต้อนรับ ลงทะเบียนผู้มาติดต่อเข้าชมศูนย์การเรียนรู้ ให้คำปรึกษา แนะนำผู้เข้าชม ให้บริการด้านข้อมูล อำนวยความสะดวกแก่ผู้เข้าชม นำชมนิทรรศการและจัดกิจกรรมส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้นักเรียน นักศึกษา เยาวชน ตลอดจนประชาชนทั่วไป สื่อสารหรือถ่ายทอดเรื่องราวให้ผู้เข้าชมหรือผู้เข้าร่วมกิจกรรมเกิดแรงบันดาลใจ ได้รับความรู้ เกิดความเข้าใจในสิ่งที่ศูนย์การเรียนรู้ต้องการสื่อสาร คุณสมบัติเจ้าหน้าที่นำชมฯ เช่น บุคลิกภาพดีและมีทักษะในการสื่อสาร รักในงานบริการ สื่อสารข้อมูลได้ดีและน่าสนใจ สื่อสารภาษาอังกฤษได้ดี ไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์ เป็นต้น
Operations and Public Spaces Supervisor มหาวิทยาลัยโอคลาโฮมา วิทยาเขตนอร์มัน (พื้นที่ห้องสมุด Bizzell Memorial เฉพาะชั้น 5) – ดูแลงานคอลเลกชั่นพิเศษและบริเวณพื้นที่ให้บริการสาธารณะ ทำงานหลังบ้านเกี่ยวกับการประสานงานกับบุคลากร การจ่ายเงินเดือน การจัดหา การเก็บข้อมูลสถิติ การจัดทำรายงานประจำปี ช่วยนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาทำวิจัยเป็นจุดติดต่อ (Contact Point) เพื่อให้บริการเทคโนโลยีห้องสมุด บริการยืมคืนระหว่างห้องสมุด และดูแลกิจกรรมต่าง ๆ ที่จัดบนพื้นที่สาธารณะของห้องสมุดชั้น 5 เช่น นิทรรศการ กิจกรรมเผยแพร่ และหอจดหมายเหตุ คุณสมบัติที่ต้องการ เช่น ทักษะการสื่อสาร การทำงานกับกลุ่มคนที่หลากหลาย การทำงานคนเดียวหรือทำงานเป็นทีม การบริหารเวลา การใช้โปรแกรมสำเร็จรูป ไมโครซอฟต์ออฟฟิศ การคิดเชิงวิพากษ์ การคิดเชิงวิเคราะห์ เป็นต้น
ทุกวันนี้โลกเปลี่ยนไปทุกมิติ ไม่เว้นแม้แต่ “มิติแห่งการเรียนรู้” ทุกคนต้องหันมาเรียนรู้ตลอดชีวิต องค์กรหลายแห่งมุ่งพัฒนาหรือสร้างศูนย์การเรียนรู้เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ที่เปิดโอกาสการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์จากชุมชน ที่ทำงาน และ พื้นที่สาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัย โรงเรียน ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ อุทยาน โฮมสเตย์ ฯลฯ เฉพาะกรุงเทพมหานครพื้นที่เดียวก็พบว่ามีแหล่งเรียนรู้หลากหลายที่ซ่อนตัวและเปิดตัวอยู่ในมุมต่าง ๆ จำนวนรวมไม่ต่ำกว่า 3,300 แห่ง ถ้าประเมินเป็นตัวเลขคร่าว ๆ ว่าทุกที่ต้องการบุคลากรนำชมและอำนวยความสะดวกแห่งละ 5 คนโดยเฉลี่ย คิดไม่ยากก็จะมีคนที่เข้าสู่อาชีพนี้ไม่ต่ำกว่าหมื่นคน !!!
งานบริการ “Floor Supervisor” ก็คงเป็นกระแสฮิตติดเทรนด์มาแรง และไม่แผ่วง่าย ๆ ลงในเร็ว ๆ วันนี้ ครับ...