ปี 2566 เป็นปีแห่งการเลือกตั้ง ที่นับถอยหลังไปหากรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่จนครบวาระในเดือนมีนาคม ก็จะเหลือเวลาอีกเพียง 2 เดือนหรือ 60 วัน ที่โฟกัสการเมืองจับจ้องมาที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือกกต. ในฐานะกรรมการผู้ตัดสินในการเลือกตั้ง ตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้ง ระหว่างการเลือกตั้ง และหลังการเลือกตั้ง

การทำหน้าที่ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งเขตเลือกตั้ง และบริหารจัดการการเลือกตั้ง การนับคะแนนไปจนการประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง การตรวจสอบ และดำเนินการกับผู้กระทำผิดทุจริตการเลือกตั้ง ที่ต้องดำเนินการให้เกิดความเรียบร้อยและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เรียกได้ว่าเป็นงานหนัก ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองที่มีการแข่งขันกันอย่างดุเดือด

อีกทั้งการต่อสู้ที่มีความรุนแรง ทำให้มีการจับตาการทำหน้าที่ของกกต.อย่างเข้มข้นเป็นพิเศษ โยเฉพาะในประเด็นที่รัฐมนตรีลงพื้นที่หาเสียง นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวยอมรับว่า ได้สั่งการให้ผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำจังหวัดเก็บเป็นข้อมูลการลงพื้นที่ของนักการเมือง เนื่องจากยังไม่ทราบว่ามีใครเป็นผู้สมัครบ้าง ซึ่งเป็นหน้าที่ทีต้องเก็บรวบรวมข้อมูล เพื่อทำให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และการเลือกตั้งที่เป็นธรรมจากการแข่งขันของทุกพรรคการเมือง โดยหากเป็นข้อมูลที่สุ่มเสี่ยงก็ให้รายงานตรงยัง กกต. หากสถานการณ์ที่เป็นปกติทั่วไป ให้ทำเป็นบันทึกไว้เป็นข้อมูล

“ช่วงนี้นักการเมืองลงพื้นที่หาเสียงที่ไม่ต้องการให้เกิดข้อครหาว่า กกต. ไม่ดูแลกติกาในการแข่งขันให้เกิดความเป็นธรรม หากมีรัฐมนตรีไปทำหน้าที่ปกติก็ไม่เป็นไร การลงพื้นที่ไม่เพียงแค่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการในพื้นที่ก็ต้องระมัดระวัง ถ้าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐอย่าใช้ตำแหน่งหน้าที่ให้คุณหรือให้โทษกับผู้สมัคร”

อย่างไรก็ตาม นายธนกร วังบุญคงชนะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวแสดงความคิดเห็นว่าความเห็นส่วนตัวการยุบสภาฯน่าจะเกิดหลังจากที่มีการปิดสมัยประชุมสภาไปแล้ว ซึ่งสภาฯจะปิดสมัยในวันที่ 28 ก.พ. จึงเชื่อว่า กลไกการยุบสภาน่าจะเกิดหลังจากนั้น แต่จะมีการยุบสภาอย่างแน่นอน เพราะต้องเปิดโอกาสให้ ส.ส.ได้ย้ายพรรค

ทั้งนี้ เราเห็นว่า ปัจจัยเรื่องยุบสภาฯ อาจเป็นอีกเงื่อนไขสำคัญ ที่อาจจะกระทบต่อเงือนไขต่างๆในการบริหารจัดการการเลือกตั้ง