ภายหลังนโยบายเปิดประเทศของรัฐบาล ส่งผลให้มีการขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ที่เกิดการขยายตัวของการลงทุนจากต่างประเทศ และการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว แม้จะยังมีความกังวลเรื่องของศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัว ค่าเงินบาทแข็งตัว สถานการณ์ส่งออกที่ลดลง ปัญหาสงครามในยุโรปที่ยืดเยื้อ และปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคท่องเที่ยว
กระนั้น พบว่า5 ปัจจัยบวกที่ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประจำเดือนธันวาคม 2565 เพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 45.5 จากระดับ 43.9 ในเดือนพฤศจิกายน 2565ได้แก่
1. เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวจากภาคการท่องเที่ยวอย่างชัดเจน ตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้การจ้างงานและรายได้แรงงานสูงขึ้น กระจายทั่วถึงมากขึ้น
2. SET Index เดือน ธันวาคม 2565 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 33.3 จุด จาก 1,635.36 ณ สิ้นเดือน พฤศจิกายน 25 65 เป็น 1,668.66 ณ สิ้นเดือน ธันวาคม 2565
3. การผ่อนคลายมาตรการคุมเข้มโควิด-19 ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติให้ความสนใจเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะในช่วง High season
4. ราคาน้ำมันขายปลีกแก๊สโซฮอล ออกเทน 91 (E10) และแก๊สโซฮอล ออกเทน 95 (E10) ในประเทศยังคงทรงตัวจากเดือนที่ผ่านมาอยู่ที่ระดับ 34.48 และ 34.75 บาทต่อลิตร ตามลำดับ และราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกในประเทศ ยังคงทรงตัวจากเดือนที่ผ่านมา โดยอยู่ที่ระดับ 34.94 บาทต่อลิตร
และ5. ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น หรือทรงตัวในระดับที่ดี โดยเฉพาะข้าว มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ส่งผลให้เกษตรกรเริ่มมีรายได้สูงขึ้น
ขณะที่นายธนวรรน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ และอธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า จากผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย เดือนธ.ค.65 ซึ่งภาคธุรกิจ และหอการค้าจังหวัดส่วนใหญ่ของทุกภาค ต่างมีความเห็นว่า เศรษฐกิจไทยเริ่มดีขึ้น หลังจากภาคท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัว ซึ่งเป็นผลมาจากที่มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติทยอยเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้นตามแหล่งท่องเที่ยวในภูมิภาคต่างๆ ส่งผลให้ผู้ประกอบธุรกิจในท้องถิ่นเพิ่มการลงทุนมากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจบริการที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว มีการจ้างงานมากขึ้น เพื่อรองรับกับการท่องเที่ยวที่เริ่มกลับมา
กระนั้น นโยบายเปิดประเทศของจีน ที่ทำให้นักท่องเที่ยวจีนหลั่งไหลไปยังประเทศต่างๆรวมทั้งไทย จะทำให้เกิดจุดเปลี่ยนของสถานการณ์ที่ไทยจะต้องรับมืออย่างชาญฉลาด และให้ได้ผลประโยชน์กลับมาให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพื่อบรรเทาแรงกระแทกจากผลกระทบเศรษฐกิจโลก