รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์

ที่ปรึกษาสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

“พื้นที่การเรียนรู้” (Learning Space) หรือ “สภาพแวดล้อมการเรียนรู้” (Learning Setting) หมายถึง สภาพแวดล้อมเชิงกายภาพที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้ และเป็นสถานที่ที่การเรียนรู้และการสอนเกิดขึ้น  คำว่า “พื้นที่การเรียนรู้” นี้มักใช้ในความหมายที่คลุมกว้างขวางกว่าคำว่า "ห้องเรียน"  โดยคลอบคลุมไปถึงสถานที่ในร่มหรือกลางแจ้งไม่ว่าจะเป็นของจริงหรือเสมือนจริง พื้นที่การเรียนรู้มีความหลากหลายทั้งในเชิงการใช้งาน (in use) การกําหนดค่า (configuration) สถานที่ (location) และสถาบันการศึกษา  (educational institution)

การออกแบบพื้นที่การเรียนรู้มีความเชื่อมโยงกับรูปแบบการเรียนการสอนที่แตกต่างกันไป เช่น การสอนที่ไม่ใช้เสียง (quiet study) การเรียนรู้แบบตั้งรับหรือการเรียนรู้ที่ผู้สอนบรรยายและผู้เรียนนั่งฟัง (passive learning) การเรียนรู้เชิงรุกหรือให้ผู้เรียนมีส่วนร่วม (active learning) การเรียนรู้ผ่านการเคลื่อนไหวของร่างกาย (kinesthetic หรือ physical learning) การเรียนรู้สายอาชีพ (vocational learning) การเรียนรู้จากประสบการณ์ (experiential learning) และอื่น ๆ เมื่อการออกแบบพื้นที่การเรียนรู้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อกระบวนการเรียนรู้ ดังนั้น ในการออกแบบพื้นที่การเรียนรู้จึงต้องคํานึงถึงกระบวนการเรียนรู้ร่วมด้วยเสมอ...

ในภาพกว้าง ๆ แล้วการจัดแบ่งพื้นที่การเรียนรู้สามารถมองได้หลายมิติ ได้แก่ มิติอายุของผู้เรียน (student age) เช่น อนุบาล ประถมศึกษา มัธยมศึกษา อุดมศึกษา มิติระดับการศึกษา (academic level) เช่น โรงเรียน วิทยาลัย มหาวิทยาลัย บัณฑิตศึกษา มิติศาสตร์การสอน (pedagogy) เช่น การศึกษาแบบดั้งเดิม การศึกษาแบบก้าวหน้า มอนเตสเซอรี่ เรจจิโอ เอมิเลีย วอลดอร์ฟ มิติสาขาวิชาหรือจุดเน้น (subject หรือ focus) เช่น สะเต็มศึกษา โรงเรียนอาชีวศึกษา โรงเรียนการบิน โรงเรียนแล่นเรือใบ มิติประเภทขององค์กร สถาบัน หรือปรัชญา (organizational, institutional, or philosophical) เช่น โรงเรียนรัฐ โรงเรียนเอกชน โรงเรียนชุมชน โรงเรียนทหาร และมิติที่ตั้งหรือระยะทาง (location) เช่น การเรียนทางไกล การเรียนออนไลน์ การเรียนเสมือนจริง การเรียนนอกห้องเรียน

สำหรับพื้นที่การเรียนรู้ภายในรอบรั้วมหาวิทยาลัยสามารถแบ่งแยกย่อยออกไปได้มากมายซึ่งขึ้นอยู่กับประเภทของมหาวิทยาลัย สาขาวิชาที่จัดการเรียนการสอน รูปแบบการสอนที่นำมาใช้ นักศึกษา คณาจารย์ และบุคลากร เป็นต้น  ตัวอย่างพื้นที่การเรียนรู้ของ เพนน์สเตต (Penn State) หรือมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียสเตต (The Pennsylvania State University) รัฐเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยรัฐแห่งหนึ่งที่เน้นการสร้างพื้นที่การเรียนรู้อันหลากหลายให้สอดคล้องกับความต้องการจำเป็นของนักศึกษา อาจารย์ และบุคลากรของมหาวิทยาลัย เนื่องจากมหาวิทยาลัยได้ท้าทายสมมติฐานเก่าด้วยการสร้างพื้นที่การเรียนรู้ใหม่ผ่านการตั้งคำถามใหม่ และมองว่านักศึกษามีตัวตนและประสบการณ์ที่ไม่เหมือนกันทำให้ความต้องการใช้พื้นที่การเรียนรู้แตกต่างกัน ตัวอย่างพื้นที่การเรียนรู้ใหม่ของเพนน์สเตต เช่น

The Dreamery (เดอะ ดรีมเมอรี่) เป็นห้องปฏิบัติการการเรียนรู้ร่วมที่นักศึกษาสามารถสํารวจศักยภาพของเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษา

ASI 110 Experimental Classroom (ห้องเรียนทดลอง ASI 110) เป็นห้องเรียนทดลองสำหรับการตรวจสอบว่าพื้นผิวการเขียนที่ยืดหยุ่น (flexible writing surfaces) และเทคโนโลยีดิจิทัลส่งผลต่อการเรียนการสอนอย่างไร

Blue Box (บลูบ็อกซ์) เป็นห้องเรียนทดลองใน ‘101 Althouse Laboratory’ ที่นวัตกรรมและความเป็นเลิศโคจรมาบรรจบกัน ภายในห้องเรียนทดลองจะมีจอแสดงผลดิจิทัลที่ทันสมัย เทคโนโลยีแบบโต้ตอบ และเฟอร์นิเจอร์ที่เคลื่อนย้ายได้

C-PAD Teaching Lab (ซี-แพด) เป็นห้องปฏิบัติการสอนที่ตั้งอยู่ใน Borland 113 เป็นพื้นที่ที่ยืดหยุ่นและเต็มไปด้วยเทคโนโลยี ซึ่งการเรียนรู้แบบไดนามิกด้านศิลปะและการออกแบบเกิดขึ้นและได้รับการวิจัย

Immersive Experiences "IMEX" Lab (ไอม็กซ์) เป็นห้องปฏิบัติการที่ให้ประสบการณ์ที่สมจริง ออกแบบมาโดยเฉพาะสําหรับการสร้างและรับชมวิดีโอ 360° และความเป็นจริงเสมือน

Maker Commons (เมกเกอร์คอมมอนส์) เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ ริเริ่ม เสริมสร้างประสบการณ์การสอนและการเรียนรู้ผ่านการพิมพ์ 3 มิติ
การสร้างต้นแบบอย่างรวดเร็ว และการคิดเชิงออกแบบสําหรับนักศึกษา คณาจารย์ และเจ้าหน้าที่

Media Commons (มีเดียคอมมอนส์) เป็นพื้นที่ช่วยเสริมสร้างประสบการณ์การสอนและการเรียนรู้ผ่านเทคโนโลยีมัลติมีเดีย และการฝึกอบรมในห้องเรียนสําหรับนักศึกษา คณาจารย์ และเจ้าหน้าที่

Shared Experiences Lab เป็นห้องปฏิบัติการที่มีเฟอร์นิเจอร์และเทคโนโลยีที่สนับสนุนการเรียนรู้แบบผสมผสาน การประชุมทางวิดีโอ
การเรียนรู้เชิงรุก และการทํางานร่วมกัน

ณ วันนี้ พื้นที่การเรียนรู้มิได้ขีดเส้นจบลงตรงคำว่า “ห้องเรียน” เท่านั้น !!! พื้นที่เชิงกายภาพทุกแห่งหนก็คือ ห้องเรียนหรือพื้นที่การเรียนรู้จริง ๆ ที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้ในหลากหลายมิติ การเรียนรู้ทั้งแบบที่จับต้องได้ (ออนไซต์) และแบบที่จับต้องไม่ได้ (ดิจิทัล/ออนไลน์) ไร้ทั้งขอบเขตและกาลเวลา (SPACE & TIME) อย่างสิ้นเชิง จึงอยู่ที่คนนั้น ๆ เองว่ามุ่งมั่นอยากเรียนรู้และใฝ่เรียนรู้มากน้อยเพียงใด ...