ทวี สุรฤทธิกุล

น่าเสียดายที่การเมืองไทยเกือบจะ “ดีขึ้น” ด้วยนักการเมืองรุ่นใหม่มาหลายครั้ง แต่สุดท้ายก็ “ท่าดีทีเหลว” เพราะคนรุ่นใหม่เหล่านั้นกลับถูกกลืนเข้าไปในกระแส “น้ำเน่า” ของการเมืองไทยมาครั้งแล้วครั้งเล่า

ผู้เขียนเคยคิดจะเป็นนักการเมืองอยู่ครั้งหนึ่ง ตอนนั้นเป็นสมัยรัฐบาลที่มีพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี ผู้เขียนเพิ่งสอบโอนจากสำนักข่าวกรองแห่งชาติไปเป็นอาจารย์ที่สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ได้ปีเศษ

แต่เดิมก็ยังไม่อยากทำราชการ แต่พอท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ลาออกจากหัวหน้าพรรคกิจสังคมในเดือนธันวาคม 2528 ท่านก็บอกให้ผู้เขียนไปหางานใหม่เพราะท่านไม่จำเป็นต้องมีเลขานุการช่วยงานต่าง ๆ อีกแล้ว พอดีสำนักข่าวกรองแห่งชาติประกาศรับข้าราชการ ผู้เขียนก็เลยไปสอบเข้าเป็นนักการข่าว ที่สำนักข่าวกรองแห่งชาติ เริ่มชีวิตเป็นข้าราชการเมื่อเดือนมกราคม 2529 อายุ 27 ปี

ทำงานนักการข่าวได้ปีเศษ รู้สึกว่าเป็นงานที่ไม่ถูกกับนิสัย เพราะต้องเก็บเนื้อเก็บตัวและเข้างานสังคมต่าง ๆ ลำบาก พอดีกับที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชประกาศรับอาจารย์ใหม่ ก็เลยไปสมัครรับการคัดเลือก ที่สุดสอบได้ ก็โอนย้ายไปอยู่ในเดือนสิงหาคม 2530

พอต้นปี 2531 ก็เกิดขบวนการ “เบื่อป๋า” นักวิชาการ 99 คนยื่นฎีกาขอให้พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี ลาออกจากตำแหน่ง แต่ป๋าเปรมกลับยุบสภาในเดือนเมษายน แล้วให้มีการเลือกตั้งในเดือนกรกฎาคมปีนั้น แล้วป๋าเปรมก็ประกาศไม่รับเป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยวาทะแห่งทศวรรษ “ผมพอแล้ว” ทำให้พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ หัวหน้าพรรคชาติไทยได้เป็นนายกรัฐมนตรีสืบแทน โดยพรรคกิจสังคมที่เปลี่ยนหัวหน้าพรรคเป็นพลอากาศสิทธิ เศวตศิลา ได้ร่วมรัฐบาลเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และได้โควตารัฐมนตรีอีกหลายกระทรวง เช่น นายมนตรี พงษ์พานิช เลขาธิการพรรค เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และ ดร.สุบิน ปิ่นขยัน นายทะเบียนพรรค ได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นต้น

ดร.สุบิน ท่านเป็น ส.ส.เชียงใหม่ มีความสนิทสนมกับท่านอาจารย์คึกฤทธิ์มานาน ท่านเป็นแขกประจำของบ้านสวนพลู วันหนึ่งท่านมาทานข้าวกับท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ตามปกติ ซึ่งวันนั้นผู้เขียนก็ไปทานข้าวอยู่ด้วยคนหนึ่ง อยู่ ๆ ดร.สุบินก็บอกท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ว่า “ผมขอก๊วยเจ๋งไปช่วยงานที่กระทรวงนะครับ” ชื่อ “ก๊วยเจ๋ง” ก็คือชื่อเล่นของผมที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ตั้งให้ และเป็นที่รู้จักกันทั่วไปในหมู่ผู้คนที่ติดต่อและไปมาหาสู่กับท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ รวมถึงพี่ ๆ สื่อมวลชนจำนวนหนึ่งด้วย

ที่อารัมภบทเรื่องส่วนตัวมาอย่างยืดยาวนี้ ก็เพื่อนำประเด็นเข้าสู่ชื่อของบทความที่เกี่ยวกับ “นักการเมืองรุ่นใหม่” ที่อยากจะเอาตัวเอง ผู้เกือบจะตกหล่มลงไปเป็นนักการเมืองรุ่นใหม่คนหนึ่งเมื่อ 35 ปีก่อน เอามาให้เป็น “อุทาหรณ์” หรือบทเรียนของคนที่อยากเป็นนักการเมืองในยุคสมัยนี้ แต่สุดท้ายผู้เขียนเองก็ได้รับการ “ปกป้อง” จากท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ จนไม่ต้องไปเป็น “นักการเมืองน้ำเน่า” อย่างที่จะได้เล่าต่อไป

คำสั่งสอนของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์มีคุณค่ามหาศาล เพราะท่านได้ยกตัวอย่างของท่านในครั้งที่ได้เข้ามาเป็นนักการเมืองสมัยแรก ๆ นั้นมาเป็นอุทาหรณ์ร่วมด้วย ที่ในสมัยนั้นก็ถือได้ว่าท่านก็เป็นนักการเมืองรุ่นใหม่อีกคนหนึ่งเหมือนกัน อีกทั้งท่านยังได้ให้ข้อคิดกับนักการเมืองรุ่นหลัง ๆ ที่เข้ามาทำงานการเมืองร่วมสมัยกันกับท่าน ซึ่งก็คือ “นักการเมืองรุ่นใหม่” ในแต่ละช่วงเวลานั้นเช่นกัน

คือท่านได้พูดถึง “จุดดับ” หรือหายนะของนักการเมืองในแต่ละยุคสมัยนั้นด้วย

ผู้เขียนถูกยืมตัวจากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มาปฏิบัติงานที่สำนักเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ในเดือนสิงหาคม 2531 โดยมีคำสั่งของกระทรวงแต่งตั้งให้เป็น “ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์” แต่เป็นตำแหน่งที่ไม่มีเงินเดือนประจำ คือเป็นตำแหน่งกิตติมศักดิ์เพียงเพื่อให้มีหน้าที่ “กว้างขวาง” ขึ้นในการทำงานให้รัฐมนตรี มากกว่าหน้าห้องหรือฝ่ายเลขานุการทั่ว ๆ ไป

มีคนมาแสดงความยินดีกับผู้เขียนด้วยจำนวนมาก โดยเฉพาะข้าราชการผู้ใหญ่ ๆ หลาย ๆ คน ทำเอาผู้เขียนขัด ๆ เขิน ๆ อยู่หลายวัน โดยเฉพาะกับคำเรียกว่า “ท่าน” สำหรับเด็กหนุ่มอายุ 29 ปี และเป็นข้าราชการแค่ระดับซี 5

ผู้เขียนค่อย ๆ เรียนรู้จากงานที่รัฐมนตรีมอบหมายให้ทำ หนึ่งคือ ให้สนิทสนมกับผู้บริหารในทุกกรมกอง เพื่อคอยประสานงานระหว่างคนเหล่านั้น เนื่องจากกระทรวงพาณิชย์มีเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการคอร์รัปชั่นอยู่มาก สองคือ ให้คอยต้อนรับ ส.ส.กับชาวบ้านที่จะมาเยี่ยมเยียนที่กระทรวง เพื่อมาขอความช่วยเหลือต่าง ๆ จากรัฐมนตรี และสามคือ ให้ช่วยประชาสัมพันธ์ผลงานของรัฐมนตรี ประสานงานกับสื่อมวลชน และส่งข่าวลงในพื้นที่เลือกตั้งให้ชาวบ้านได้รู้ได้เห็นผลงาน

นั่นคือ “งานการเมือง” ทั้งหมด และผู้เขียนกำลังทำงานของ “นักการเมือง”

เวลาล่วงเลยไป 2 ปี ในเดือนสิงหาคม 2533 ก็มีการปรับคณะรัฐมนตรี พลอากาศสิทธิ เศวตศิลา ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคกิจสังคม ดร.สุบิน ปิ่นขยัน ถูกปรับไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแทน ผู้เขียนก็ตามไปงานในหน้าที่เดิมที่กระทรวงใหม่ และพอเดือนธันวาคมปีนั้นก็มีการปรับคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง ดร.สุบินไม่ได้เป็นรัฐมนตรี เพราะต้องหมุนเวียนให้ ส.ส.คนอื่นในพรรคกิจสังคมเข้ามาแทน ผู้เขียนจึงถูกส่งตัวกลับมาทำงานที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช พอข้ามปีใหม่ไปได้ไม่นาน ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 ทหารในชื่อ “คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ” (รสช.) ก็ยึดอำนาจ

ชะตากรรมของ รสช.สิ้นสุดลงในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พ.ศ. 2535 มีรัฐบาลรักษาการโดยนายอานันท์ ปันยารชุน ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี จนถึงเดือนกันยายนปีนั้นก็ประกาศให้มีเลือกตั้งใหม่ ผู้เขียนไปขอท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เพื่อสมัครลงรับเลือกตั้ง

“อย่างเอ็งนะรับราชการต่อไปเถอะ เป็นนักการเมืองเอ็งไปไม่รอดหรอก”

เหตุผลที่ท่านพูดอย่างนั้นเกี่ยวข้องกับความจริงทางการเมืองการปกครองไทย ซึ่งต้องขอนำไปอธิบายในสัปดาห์หน้า เพื่อให้เป็นอุทาหรณ์กับนักการเมืองรุ่นใหม่ต่อไป