ในลิ้นชักความทรงจำ / ยูร  กมลเสรีรัตน์

คนรุ่นหลังจะไม่คุ้นหูกับนามปากกา “แข ณ วังน้อย”  ซึ่งเป็นนักเขียนรุ่นเก่าลายครามร่วมยุคกับอมราวดี,ร.   จันทพิมพะ,อ.  สนิทวงศ์  ถ้าเป็นนักอ่านที่มีอายุ  60 ปีขึ้นไปจึงจะรู้จัก  เมื่อกว่า 10 ปีก่อน ผมก็ไม่รู้จักนามปากกานี้  ผมรู้จักนามปากกา “แข ณ วังน้อย”ในงานชุมนุมช่างวรรณกรรมเมื่อปี   2547 ที่สุชาติ  สวัสดิ์ศรีหรือสิงห์สนามหลวง เจ้าสำนักช่างวรรณกรรม อดีตบรรณาธิการโลกหนังสือและช่อการะเกดจัดขึ้นที่สถาบันปรีดี  พนมยงค์ ซอยทองหล่อ

พิธีการที่สำคัญในวันนั้นซึ่งมีเป็นประจำทุกครั้งก็คือ การมอบรางวัลนักเขียนช่อการะเกดเกียรติยศ และในปีนั้นมอบรางวัลนักเขียนช่อการะเกดเกียรติยศให้กับแข  ณ วังน้อย ในเวลานั้นเธอมีอายุ 88  ปีแล้ว แต่ใบหน้ายังอิ่มเอิบ น้ำเสียงและสีหน้ายังแจ่มใส 

เหตุที่น้อยคนจะรู้จักแข  ณ วังน้อย  เนื่องจากเธอมีผลงานน้อย ส่วนใหญ่เป็นเรื่องสั้น  ที่สำคัญ เธอหยุดเขียนหนังสือเป็นเวลานานถึง 50  ปี ในขณะที่เริ่มมีชื่อเสียง ด้วยความจำเป็นในชีวิตบางอย่าง ซึ่งจะกล่าว  ถึงต่อไป เธอท้าวความสุชาติ  สวัสดิ์ศรีว่า

“มีคนเขียนไปถามคุณสุชาติถึงแข  ณ  วังน้อย  คุณสุชาติตอบว่าคงเสียชีวิตแล้ว ป้าอ่านเจอเลยเขียนจดหมายไปหาคุณสุชาติบอกว่า ป้ายังไม่ตาย ก็เลยนัดกินข้าวคุยกัน ติดต่อกันเรื่อยมา”

นั่นคือที่มาของการค้นพบแข  ณ วังน้อย  อย่าว่าแต่คนอ่านไม่รู้จักนามปากกา “แข  ณ  วังน้อย”เลย  แม้กระทั่งลูกของเธอเอง  ก็ไม่มีใครรู้มาก่อนว่าเธอเป็นนักเขียน เพราะเธอหยุดเขียนหนังสือตั้งแต่ลูกยังเล็ก ๆ  ตอนที่ผลงานของเธอได้รับการพิมพ์รวมเล่มใหม่อีกครั้ง  ลูก ๆ ที่รักการอ่านรู้เรื่อง ต่างก็ตื่นเต้นกันใหญ่  คนที่อยู่ไกลโทรศัพท์มาหาด้วยความตื่นเต้นแกมดีใจ

แข ณ วังน้อย มีชื่อจริงว่าสมพ้อง  ศิริวงศ์ นามสกุลเดิมคือ “จันทร์ปรุง” เกิดเมื่อวันที่  12  มีนาคม  2459 ที่ตำบลวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  เป็นบุตรของนายกวย  จันทร์ปรุงและนางเจริญ  (พนมยงค์)  จันทร์ปรุง  บิดาเป็นผู้มีอันจะกิน เพราะปู่มีที่นาหลายร้อยไหร่ บิดาเคยมีกิจการเรืองโดยสารระหว่างกรุงเทพฯ ลพบุรี สุพรรณบุรี อุทัยธานีและอ่างทอง  แต่กิจการนี้มีคู่แข่งสูงมาก ขาดทุน จึงต้องเลิกกิจการ

การศึกษาในวัยเด็ก แข ณ วังน้อยเรียนหนังสือที่โรงเรียนอนุบาลใกล้บ้าน ในเวลาต่อมาเมื่อโตขึ้น  เข้าเรียนที่โรงเรียนจอมสุรางค์อุปถัมภ์ ซึ่งเป็นโรงเรียนสตรีประจำจังหวัด  เรียนถึงชั้นมัธยม 2 ก็ลาออก เดินทางเข้ากรุงเทพฯ และเข้าเรียนที่โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย  เป็นโรงเรียนที่มี ชื่อเสียงมากในยุคนั้น เป็นแหล่งบ่มเพาะนักเขียนสตรีที่โดดเด่น 4 คนคืออมราวดี,ร.   จันทพิมพะ,อ.  สนิทวงศ์และ แข ณ วังน้อย หลังจากสำเร็จการศึกษาที่โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย  แข ณ วังน้อย ได้เข้าเรียนต่อที่ศิริราช

พยาบาล เธอรับราชการเป็นพยาบาลครั้งแรกที่วชิระพยาบาล เขตสามเสน ทำงานได้ชั่วระยะเวลาหนึ่ง ก็มีเหตุให้ลาออก เพราะเป็นสตรีรูปงามอ่อนช้อย  ทำให้หนุ่มจังหวัดสงขลาต้องตาต้องใจ นั่นก็คือนายแพทย์บุญจอง  ศิริวงศ์  จึงได้ใช้ชีวิตคู่ร่วมกันมา จนกระทั่งมีทายาทถึง 7 คน  แต่สามีได้จากไปเมื่อปีพ.ศ. 2537

สิ่งที่ฟูมฟักให้แข  ณ วังน้อยมีความรักในการเขียนนั้น  เนื่องจากมารดาเป็นผู้ปลูกฝังในเรื่องการอ่านตั้งแต่วัยเยาว์ ดังที่เธอเล่าว่า...

“คุณแม่ชอบอ่านเรื่องจีน พอกลับมาจากโรงเรียน คุณแม่จะเรียกให้อ่านให้ฟัง เป็นปึก ๆ  มีพี่น้องแปดคน แต่ไม่เคยเรียกให้พี่น้องคนอื่นอ่าน เบื่อมาก บางทีอยากให้จบเร็ว ๆ”

 บางครั้งแข ณ วังน้อยก็อ่านตัดตอนบ้าง เพื่อให้จบเร็ว ๆ   จนบางทีมารดาจับได้ นี่คือเบ้าหลอมทำให้เธออยากเขียนหนังสือ ซึ่งชีวิตนักเรียนพยาบาล ทำให้เธอได้ประสบการณ์หลายอย่างจากผู้ป่วยที่มารักษา เล่าถึงความเจ็บป่วยและความท้อแท้สิ้นหวัง  บางคนเล่าถึงความทุกข์และความคับแค้นในชีวิต แข ณ วังน้อย

จนกระทั่งเกิดแรงขับ แข ณ วังน้อย จึงจับปากกาเขียนเรื่องสั้นเรื่องแรกชื่อ“คู่ทุกข์-คู่สุข” เมื่อปีพ.ศ. 2484 เขียนเสร็จแล้ว แก้ไขอยู่หลายเที่ยวจนพอใจ จึงส่งไปหนังสือพิมพ์ประชามิตร ปรากฏว่าบรรณาธิการลงให้ในเวลาอันรวดเร็ว ในเวลาต่อมา เรื่องสั้นเรื่องนี้ได้รับถ้วยรางวัลเกียรติยศจากท่านผู้หญิงละเอียด  พิบูลสงคราม ภรรยาของจอมพลป.  พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น

หลังจากนั้น แข ณ วังน้อย ก็เกิดกำลังใจ  จึงมุ่งมั่นเขียนเรื่องสั้นส่งไปยังหนังสือชั้นนำในยุคนั้นอีกหลายฉบับด้วยกันได้แก่ สยามสมัย,ศิลปิน,เอกชน,โบว์แดง ฯลฯ เรียกได้ว่าหนังสือแทบทุกฉบับจะมีเรื่องสั้นของแข ณ วังน้อย ตีพิมพ์ จนติดตาผู้อ่าน ซึ่งติดตามอ่านเป็นประจำ  ยุคนั้นความนิยมในการอ่านเรื่องสั้นสูงมาก รวมเรื่องสั้นที่พิมพ์ออกมาสามารถขายได้ บางเล่มถึงขั้นขายดี จนได้รับการพิมพ์ซ้ำ

เรื่องสั้นของแข ณ วังน้อย ที่ตีพิมพ์ในหนังสือต่าง ๆ ช่วงเรียนที่ศิริราชพยาบาล ที่เด่น ๆ ได้แก่ ลาก่อนโอปอ ตีพิมพ์ในเอกชนพ.ศ. 2484 ใครแพ้ ตีพิมพ์ในศิลปินพ.ศ.2485 คนดีที่ตายแล้ว ตีพิมพ์ในเอกชนพ.ศ 2486 ยาพิษในถ้วยทอง,คนที่รักครั้งสุดท้ายและมรดกชิ้นสุดท้าย เรื่องสั้นดังกล่าวรวมอยู่ในเล่มเดียวกัน จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์อุดม เมื่อปีพ.ศ. 2489  ส่วนเรื่องสั้น “ฟ้าแลบ

บนสาปไตย” ตีพิมพ์ในสยามสมัยพ.ศ. 2492  

“เขียนเรื่องสั้นประมาณ 40 เรื่อง โชคดีที่เรื่องสั้นไม่เคยถูกทิ้งแม้แต่เรื่องเดียว เรื่องสุดท้ายที่เขียน เรื่อง “ภัยชีวิต” ก็สามสิบปีแล้วกระมัง  รู้สึกจะลงในกุลไทย ปี 2536”แข ณ วังน้อยกล่าวไว้เมื่อปี 25 47

เรื่องสั้น “ภัยชีวิต”รวมอยู่ในหนังสือรวมเรื่องสั้น “ช่วงสุดท้ายของชีวิต” จัดพิมพ์เมื่อปี 2546  โดยสำนักพิมพ์ดอกหญ้า พร้อมกับนวนิยายเรื่อง “พรานชีวิต”

เมื่อเรียนจบศิริราชพยาบาล  แข ณ วังน้อย ก็ยังคงเขียนเรื่องสั้นอย่างสม่ำเสมอ  แม้กระทั่งแต่งงานแล้ว  เรื่องสั้นที่เขียนมาประมาณ 40 เรื่องได้แก่ ลาก่อนโอปอ,แหวนวงสุดท้าย,ใครแพ้,ภายใต้พรหมลิขิต,สิ่งที่หนีไม่พ้น,คนดีที่ตายแล้ว,คนที่รักครั้งสุดท้าย,คุณหญิงดวงมาลย์,สุดหนทาง,สิ่งที่ผ่านมา,ทุเรียนในสวนเงาะ,รสวิสกี้กับกลิ่นกระดังงา,คนดีที่สวรรค์ไม่ต้องการ,เมื่อตราชูพระเจ้าเอียง,หงส์ทองบนไม้ผุ,สิ่งที่สวรรค์ไม่มี,ภัยชีวิต เป็นอาทิ

หลังจากแต่งงาน แข ณ วังน้อยได้ย้ายไปอยู่กับสามี ซึ่งเปิดโรงพยาบาลขนาดกลางที่จังหวัดสงขลา ขณะนั้นชื่อเสียงของเธอกำลังรุ่งโรจน์ จนกะทั่งวันหนึ่ง ก็มีอุปสรรคบางอย่างเกิดขึ้น ทำให้ให้เธอต้องคิดอย่างหนักว่าจะหยุดเขียนหนังสือหรือไม่ เธอเล่าว่า

“โรงพยาบาลมีเตียง 25 เตียง มีหมอคนเดียว มีพยาบาลคนเดียวคือป้า  หนักมาก  เขียนหนังสือตอนที่กำลังจะมีลูก มีปัญหามาก

โดยเฉพาะตอนลูก 7 คนโตแล้ว ยิ่งมีเรื่องให้คิดหลายอย่าง ไหนจะเรื่องเรียน  ไหนลูกบางคนจะมีคนรัก บางคนจะแต่งงาน ไหนจะช่วยงานสามี  ต้องแบกภาระหนักอึ้ง

 “สามีบอกว่า ขอร้องให้เลิกเขียน  มาช่วยกันทำมาหากินดีว่า ลูกก็เยอะ ต้องหาเงิน ตอนมีลูกคนแรก สามีเขาไม่อยากจะให้เขียนหนังสือ ก็ไปแอบเขียน”

ทว่า แข ณ วังน้อย ไม่ได้หยุดเขียนหนังสือในทันที สามีต้องขอร้องอีกหลายครั้ง  ในที่สุด เธอก็ตัดสินใจหยุดเขียนหนังสือที่เธอรักเต็มหัวใจ นักเขียนสูงวัยผู้นี้สารภาพความในใจว่า...

“ยอมรับว่าใจหาย เหมือนขาดอะไรบางอย่างในชีวิตไป”

นี่คือสาเหตุของการหยุดเขียนหนังสือของแข ณ วังน้อย เป็นเวลายาวนาน  แข ณ วังน้อยเขียนนวนิยายน้อยมาก มีเพียงไม่กี่เรื่อง นวนิยายเรื่องแรกคือเรื่อง “ตะรางดวงใจ” เป็นนวนิยายขนาดสั้น  เขียนควบคู่ไปกับเรื่องสั้นในช่วงปีแรก

นวนิยายเรื่องที่ 2 คือเ “พรานชีวิต”แข ณ วังน้อย  เอาสมุดที่บันทึกเป็นหลักฐานที่เขียนไว้ให้ดูว่า นวนิยายเรื่อง “พรานชีวิต”ลงในนิตยสารกุลสตรี(คนละฉบับกับนิตยสารกุลสตรีในปัจจุบัน) ฉบับที่ 33 วันที่ 31  มีนาคม 2497  ครั้งไปเยี่ยมที่บ้านในซอยพหลโยธิน 32  นวนิยายเรื่องที่ 3 ตีพิมพ์ในนิตยสารกุลสตรีคือเรื่อง “กำไลเหล็ก” พิมพ์รวมเล่มเมื่อปี 2547 ส่วนนวนิยายเรื่องสุดท้ายคือเรื่อง “ฝันสลาย” เป็นนวนิยายที่มีความยาวที่สุด ประมาณ 100 ตอน

บั้นปลายชีวิตของแข  ณ  วังน้อย จะขะมักเขม้นกับต้นฉบับทั้งเรื่องสั้นและนวนิยายเก่า ๆ ที่นำมาตรวจทานและแก้ไขใหม่ เพื่อนำไปพิมพ์รวมเล่มใหม่อีกครั้ง...

“มีงานทำอย่างนี้ มันก็สนุกดี  มันมีชีวิตชีวา สำหรับการได้รับรางวัลทั้งสองคือรางวัลนราธิปของสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยเมื่อ

ปี 2545 และช่อการะเกดเกียรติยศเมื่อปี 2547  แข ณ วังน้อยปลาบปลื้มมาก  เธอบอกเล่าความรู้สึกเพียงสั้น ๆ ว่า “รู้สึกดีใจที่ยังมีคนนึกถึง เพราะทิ้งการเขียนไปนานถึงห้าสิบปี  แก่ขนาดนี้แล้ว ใครจะคิดว่าจะมีคนมาให้รางวัล”

แม้ว่าณ วันนี้นักเขียนสตรีสูงวัยชาวกรุงเก่าจะจากไปแล้วด้วยวัย 98 ปี เมื่อปี 2558  หากเป็นการจากไปที่เต็มไปความสุขในบั้นปลายชีวิต และได้ฝากคำพูดอันคมคายประโยคหนึ่งไว้เป็นข้อคิดที่ผมยังจำได้ดี...

“คนเราต้องใช้ชีวิตอย่างว่าว  ตึงไปบ้าง  เราก็ดึงไว้หน่อย  บางทีก็ปล่อยให้มันลอยไปตามเรื่องตามราวบ้าง  พอมันตกดิน มันก็กระตุก ๆ  แล้วก็หยุด  ชีวิตคนเรามันก็เป็นเหมือนว่าวนั่นแหละ อย่าไปเคร่งครัดกับมันมาก”

 

“การศึกษานั้นสร้างสุภาพบุรุษ แต่การอ่าน การมีเพื่อนที่ดี และการไตร่ตรอง จะทำให้เขาสมบูรณ์แบบ”(จอห์น  ล็อค)