ข้อมูลจากสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พบข้อมูลคนจนของประเทศไทย ตามตัวชี้วัดที่เรียกว่าดัชนีความยากจนหลายมิติ ผ่าน 4 มิติ คือ มิติด้านการศึกษา มิติการใช้ชีวิตในแบบที่ดีต่อสุขภาพ มิติความเป็นอยู่ และมิติด้านการเงิน ซึ่งผลจากการใช้ดัชนีดังกล่าวพบว่า หากวัดคนจนที่อยู่ต่ำเส้นความยากจนหรือในฝั่งรายได้จะมีคนจนเพียง 4.4 ล้านคน แต่ถ้าเอาดัชนีความยากจนหลายมิติมาวัด พบว่า มีคนจนสูงถึง 8.1 ล้านคน ซึ่งมิติสำคัญที่พบมากสุดคือ ด้านความเป็นอยู่ มีสูงถึง 35% รองลงมากคือความมั่นคงด้านการเงิน 29% เป็นสัดส่วนที่ทำให้คนมีความยากจนมากสุด
อย่างไรก็ตาม กระบวนการแก้ไขปัญหาความยากจนของรัฐบาล ได้มีจัดตั้งศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง หรือ ศจพ. เพื่อเป็นกลไกในการแก้ไขปัญหาความยากจน โดยใช้ข้อมูลคนจน5มิติจากระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนจนแบบชี้เป้า ได้แก่ มิติด้านสุขภาพ มิติด้านความเป็นอยู่ มิติด้านการศึกษา มิติด้านรายได้ และมิติด้านการเข้าถึงบริการภาครัฐ เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเบ็ดเสร็จและตรงกับกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งมีรายงานว่า ในปี 2565 ที่ผ่านมา ได้ดำเนินการกับกลุ่มเป้าหมายในระบบ TPMAP ไปแล้วกว่า 653,524 ครัวเรือน
กระนั้น จะพบว่าจากระบบดังกล่าว ทำให้การแก้ไขปัญหาความยากจน มีฐานข้อมูลที่เป็นระบบ และมีนวัตกรรมในการแก้ไขปัญหา ซึ่งต้องยอมรับว่าการแก้ไขปัญหาความยากจนไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แต่ถือเป็นความก้าวหน้าที่เต็มไปด้วยความหวัง หากมีการผลักดันขับเคลื่อนอย่างจริงจังต่อไป และมีการบูรณาการจากทุกหน่วยงาน ขยายขีดความสามารถของโครงการออกไป เพื่อผลักดันให้เกิดผลอย่างจริงจัง อีกทั้งควรมีระบบติดตามและประเมินผลกลุ่มที่ได้รับการแก้ไขปัญหาไปแล้ว ว่าพวกเขาเหล่านั้น พ้นจากภาวะความยากจนในเกณฑ์ 5 มิติแล้วอย่างถาวรหรือไม่ เพื่อไม่ให้การแก้ไขปัญหาเหมือนพายเรือในอ่าง