รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์
ที่ปรึกษาสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
เนื่องในโอกาสวันครูซึ่งปีนี้ตรงกับวันจันทร์ที่ 16 มกราคม และเป็นครั้งที่ 67 ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติเหมือนเช่นที่ ผ่านมาทุก ๆ ปีว่านายกรัฐมนตรีจะมอบ “คำขวัญวันครู” เพื่อเป็นสิริมงคล เป็นเครื่องเตือนใจ แสดงถึงอุดมคติ และปลุกใจให้ทั้งครูและศิษย์ทุกคนเชื่อมั่นในคุณค่าและความสำคัญของคนที่เป็นครู
คำขวัญวันครู 2566 “ครูดี ศิษย์ดี มีอนาคต” จากนายกฯประยุทธ์ จันทร์โอชา
เมื่อโลกก้าวหน้า ใคร ๆ หลาย ๆ คน ก็ชอบพูดว่า ‘ให้ทุกคนเรียนรู้ด้วยตนเอง และเรียนรู้ตลอดชีวิต’ แต่ในความเป็นจริงแล้วนั้น เด็ก ๆ ที่อยู่ในวัยเรียนทุกคนล้วนต้องการผู้สั่งสอนให้ตนเป็นคนที่มีความรู้ มีวัตรปฏิบัติที่ดีงาม เพื่อเจริญเติบโตเป็นคนคุณภาพของสังคม ประเทศ และโลก ดังนั้น ไม่ว่าโลกจะเจริญก้าวไกลไปมากมายเพียงใดก็ตาม ครูก็ไม่อาจขาดหายหรือ ลดความสำคัญออกไปจากสังคมหรือบ้านเมือง
ไม่ว่าจะวันนี้ วันหน้า วันที่ล่วงมาแล้ว หรือวันไหน ๆ ครูก็คือผู้สั่งสอน ผู้ถ่ายทอดความรู้ให้แก่ลูกศิษย์ เป็นภาระ ความรับผิดชอบที่หนักยิ่งสำหรับครูทุกคนที่จะต้องปั้น สร้าง จัดวาง และขัดเกลาคนหนึ่ง ๆ ให้กลายเป็นคนเก่งและคนดี เมื่อครูดี ครูเก่ง ก็จะได้ผลผลิตที่ดี ๆ ตามมาคือ เด็กดี เด็กเก่ง คุณภาพครูจึงเป็นองค์ประกอบหลักอย่างหนึ่งที่สะท้อนถึงคุณภาพการจัดการศึกษาของแต่ละประเทศที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมที่สุด ดังเช่นธีมงานวันครู 2566 ที่ว่า “พลังครู คือ หัวใจของการพลิกโฉมคุณภาพการศึกษา”
ด้านสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ซึ่งเป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญอย่างหนึ่งในการสนับสนุนภาคสังคมผ่าน การสำรวจความคิดเห็นประชาชนในหลากหลายประเด็นก็ได้จัดทำ “ดัชนีความเชื่อมั่นครูไทย” มาอย่างต่อเนื่อง โดยปีนี้นับเป็นปีที่ 18 และจากการสำรวจความคิดเห็นจากประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวน 3,897 คน (สำรวจทางออนไลน์และภาคสนาม) ระหว่างวันที่ 16-26 ธันวาคม 2565 จากตัวชี้วัดสำคัญ 20 ประเด็นที่สะท้อนถึงความเชื่อมั่นต่อครูไทยทั้ง ด้านส่วนตัว การพัฒนาตนเอง และการพัฒนาวิชาชีพในรอบปี 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งแต่ละตัวชี้วัดจะมีคะแนนเต็ม 10 ผลสำรวจพบว่า
1. ประชาชนให้คะแนนความเชื่อมั่น “ดัชนีครูไทย” ปี 2565 เท่ากับ 7.52 คะแนน
2. จากตัวชี้วัด 20 ประเด็น ประชาชนให้คะแนนความเชื่อมั่น “ดัชนีครูไทย” ใน 5 อันดับแรก (จากคะแนนมากที่สุด) คือ บุคลิกภาพดี แต่งกายเหมาะสมกับอาชีพ 7.82 คะแนน มนุษยสัมพันธ์ดี เข้ากับผู้อื่นได้ 7.73 คะแนน มีเป้าหมายประเมินและปรับปรุงพัฒนางานอย่างต่อเนื่อง 7.68 คะแนน ทันสมัย ทันเหตุการณ์ รู้ข้อมูลใหม่ ๆ 7.66 คะแนน และใช้เทคโนโลยีได้เหมาะสม 7.65 คะแนน
3. จากตัวชี้วัด 20 ประเด็น ประชาชนให้คะแนนความเชื่อมั่น “ดัชนีครูไทย” ใน 5 อันดับท้าย (จากคะแนนน้อยที่สุด) คือ ประหยัด ไม่ฟุ้งเฟ้อ ไม่เป็นหนี้เป็นสิน 6.50 คะแนน ควบคุมอารมณ์ได้ดี แสดงออกอย่างเหมาะสม 7.33 คะแนน การประพฤติปฏิบัติตนถูกต้องตามหลักคุณธรรม จริยธรรม จรรยาบรรณวิชาชีพครู และมีทัศนคติที่ดี เข้าใจและคำนึงถึงความแตกต่างของผู้เรียน 7.45 คะแนน เท่ากัน มีความเป็นผู้นำ กล้าคิด กล้าตัดสินใจ กล้าเปลี่ยนแปลง 7.48 คะแนน และมีความน่าเชื่อถือ เป็นแบบอย่างที่ดี 7.50 คะแนน
4. 3 อันดับแรก ของ “จุดเด่น” ครูไทย วันนี้ คือใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ มีทักษะใหม่ ๆ 51.89% ขยัน อดทน ทุ่มเท เสียสละ 48.11% และเข้าใจเด็ก เข้าใจยุคสมัยที่เปลี่ยนไป 44.63%
5. 3 อันดับแรก ของ “จุดด้อย” ครูไทย วันนี้ คือภาระงานมาก 56.26% ขาดงบประมาณในการพัฒนาตนเอง 46.36% และสวัสดิการ ค่าตอบแทนไม่เหมาะสม 45.08%
6. 3 สิ่งแรกที่ "ครูไทย" ควรทำเพื่อช่วยพลิกโฉมคุณภาพการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม คือทำตัวให้ทันสมัย ทันโลก ทันเหตุการณ์ ปรับตัวเร็ว แก้ปัญหาไว 65.74% ปรับรูปแบบการสอน ใช้เทคนิคใหม่ ๆ ผสมผสาน 62.23% และจัดกิจกรรม การเรียนรู้ให้เด็กมีส่วนร่วม ได้ทำจริง 59.28%
ภาพรวมดัชนีครูไทยในปี 2565 นี้ มีทิศทางที่แย่ลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา (ปี 2564 ได้ 7.75 คะแนน) อย่างไรก็ตามประชาชนคิดว่าครูสามารถใช้เทคโนโลยีได้เหมาะสม มีความทันสมัย ทันเหตุการณ์ และรู้ข้อมูล ใหม่ ๆ ในอันดับที่ดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา ส่วนประเด็นปัญหาเรื้อรังของครูทั้งในปีที่ผ่าน ๆ มาและปีนี้ คือ “ภาระหนี้สิน” และ “ภาระงาน”
ดังนั้น ถ้าอยากให้ ‘ครู’ มีพลังเป็นฟันเฟืองสำคัญของการพัฒนาเด็กให้มีคุณภาพเพื่อเป็นกำลังการพัฒนาประเทศชาติ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ไม่ควรเพิกเฉยกับปัญหาดังกล่าวของครู ทั้งนี้เพื่อให้ “พลังครู คือ หัวใจของการพลิกโฉมคุณภาพการศึกษา” อย่างแท้จริงและยั่งยืน