ณรงค์ ใจหาญ
โดยปกติแล้ว เมื่อเกิดคดีอาญาขึ้นเช่น ลักทรัพย์ ทำร้ายร่างกาย ข่มขืนกระทำชำเรา เป็นต้น เจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาจะรวบรวมพยานหลักฐานและหาตัวผู้กระทำความผิดมาฟ้องลงโทษให้ได้ และเป้าหมายของการดำเนินคดีอาญาต่อผู้ต้องหาหรือต่อจำเลย คือ การพิสูจน์ว่าเป็นผู้กระทำความผิดหรือไม่ และหาผิดจริงก็จะลงโทษตามที่กฎหมายบัญญัติเพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่บุคคลอื่น และเป็นการฟื้นฟูแก้ไขผู้กระทำผิดมิให้ต้องกระทำผิดซ้ำอีก ดังนั้น เมื่อมีการกระทำความผิดเกิดขึ้นแล้ว การดำเนินคดีแก่ผู้นั้นเป็นสิ่งที่รัฐต้องทำและดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อคุ้มครองความปลอดภัยให้แก่สังคมต่อไป
ในบางคดีเช่น คดีออกเช็คไม่มีเงิน ฉ้อโกง ยักยอก ทำให้เสียทรัพย์ หรือหมิ่นประมาท ซึ่งในกฎหมายถือว่าเป็นความผิดอันยอมความได้ กระบวนการดำเนินคดีอาญากำหนดไว้เป็นพิเศษว่า ต้องมีคำร้องทุกข์จากผู้เสียหายจึงจะสอบสวนได้ และหากผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์หรือถอนฟ้องหรือยอมความกับผู้ต้องหาหรือจำเลยแล้ว คดีอาญานั้นก็เป็นอันระงับไป เจ้าพนักงานของรัฐหรือศาลไม่อาจดำเนินคดีต่อไปได้ ซึ่งต่างจากคดีอาญาที่ยอมความไม่ได้ เช่น ฆ่าคน ทำร้ายร่างกาย วางเพลิงเผาทรัพย์ เป็นต้น แม้จะยอมความกัน หรือผู้เสียหายไม่ติดใจดำเนินคดีก็ตาม ก็สามารถดำเนินการต่อไปได้
อย่างไรก็ดี ในคดีที่ยอมความไม่ได้นี้ หากพิจารณาจากลักษณะของการกระทำความผิด ตัวผู้กระทำความผิด และเจตนาของผู้เสียหายที่ประสงค์จะดำเนินคดีแก่ผู้กระทำผิดแล้ว ในบางความผิดที่ยอมความไม่ได้นั้นการกระทำความผิดไม่มีลักษณะร้ายแรง และผู้กระทำความผิดได้สำนึกผิดแล้ว แต่ตามกฎหมายพนักงานอัยการต้องฟ้องคดี เนื่องจากไม่มีกฎหมายให้อำนาจยุติคดีได้ มิฉะนั้น จะเป็นการละเว้นไม่ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด เช่น พนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาที่ทำร้ายผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บ ทั้งๆที่ มีหลักฐานชัดเจนว่ากระทำความผิด แต่ทั้งผู้เสียหายและผู้ต้องหาก็เป็นเพื่อนกัน และที่ทำร้ายกันก็เป็นอารมณ์ชั่ววูบ หลังจากที่ปรับความเข้าใจกันก็ยังต้องถูกดำเนินคดีเพราะเป็นความผิดที่ยอมความไม่ได้ทั้งนี้เพราะความผิดที่ยอมความไม่ได้ คู่กรณีแม้ตกลงกันแล้ว รัฐก็มีดุลพินิจที่จะดำเนินคดีต่อไปได้
ในด้านการบริหารจัดการคดีอาญาซึ่งต้องมีหลักประกันของความรวดเร็ว ต่อเนื่อง ถูกต้องและเป็นธรรมนั้น หากกลไกทางการที่จะยุติคดีก่อนฟ้องนั้นมีช่องทางอยู่น้อย ได้แก่ การยอมความหรือถอนคำร้องทุกข์หรือถอนฟ้องในคดีอาญาความผิดต่อส่วนตัว หรือในการเปรียบเทียบคดีของพนักงานสอบสวน เป็นต้น คดีทั้งหมดที่เหลือ หากมีพยานหลักฐานต้องถูกฟ้องต่อศาลเพื่อให้ศาลได้พิจารณา พิพากษาคดีว่าผิดหรือไม่ก่อน แล้วจึงพิจารณาเหตุบรรเทาโทษ หรือลดโทษ ด้วยเหตุนี้ จึงมีแนวคิดที่ว่า คดีอาญาที่ไม่ร้ายแรงมากควรได้รับการเบี่ยงเบนคดีไปก่อนที่จะถึงศาล เพื่อลดปริมาณคดีที่ต้องขึ้นสู่ศาล เพื่อให้ศาลได้พิจารณาคดีที่สำคัญและมีเวลาที่จะทำคดีที่ซับซ้อนได้มากขึ้นจึงเกิดขึ้นมาประมาณเกือบยี่สิบปี โดยมีแนวคิดว่า ควรมีการไกล่เกลี่ยคดีในชั้นสอบสวน เพื่อจะยุติคดีได้ และควรมีการสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่มีมูลหรือที่มีพยานหลักฐานว่าผู้ต้องหาเป็นผู้กระทำความผิดแต่มีลักษณะที่ไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน และควรได้รับการคุมประพฤติแทนการลงโทษจำคุก พนักงานอัยการควรมีอำนาจสั่งไม่ฟ้องคดีโดยมีเงื่อนไขให้คุมประพฤติแทนการสั่งฟ้องคดีอาญาได้
แนวคิดในเรื่องการไกล่เกลี่ยคดีอาญา และการชะลอฟ้อง ได้พัฒนาในระบบกฎหมายของต่างประเทศเช่นเดียวกัน เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น อังกฤษ เป็นต้น โดยในประเทศเหล่านี้ มีหลักการดำเนินคดีตามดุลพินิจ ซึ่งหมายความว่า พนักงานอัยการ สามารถให้ดุลพินิจไม่ฟ้องคดีได้แม้มีพยานหลักฐานหากเห็นว่า การฟ้องคดีจะไม่เป็นประโยชน์ หรือเพื่อให้โอกาสผู้กระทำความผิดที่จะกลับตัวเป็นคนดีและยอมถูกคุมพฤติแทนการสั่งฟ้องคดี ซึ่งทำให้คดีกว่าร้อยละห้าสิบของคดีอาญาที่เกิดขึ้นถูกเบี่ยงเบนออกไปจากการฟ้องคดีอาญา และศาลมีเวลาที่จะพิจารณาคดีที่ยุ่งยากซับซ้อน
ในทำนองเดียวกัน การระงับข้อพิพาทในชุมชนชนบท ไม่ว่าจะเป็นของไทยหรือต่างประเทศเช่น อินเดีย ศรีลังกา เป็นต้น การยุติข้อพิพาทแม้เป็นทั้งคดีแพ่งหรือคดีอาญา ก็ใช้การตกลงกันโดยมีผู้ใหญ่บ้านหรืออาวุโสประจำหมู่บ้านหรือคณะกรรมการหมู่บ้านเป็นผู้ประสานงานเพื่อไกล่เกลี่ยและกำหนดการชดใช้ค่าเสียหายจากการที่ลักทรัพย์ ทำร้ายร่างกาย ให้แก่ผู้เสียหาย รวมถึงการขอโทษแก่ผู้เสียหาย เนื่องจากสำนึกผิดไปแล้ว ซึ่งถือเป็นการระงับข้อพิพาทอย่างไม่เป็นทางการ ไม่ต้องขึ้นศาล ไม่ต้องเสียเวลา และไม่ต้องจ้างทนายความ แต่ยังคงความยุติธรรม คนในชนบทมีแนวโน้มใช้มาตรการระงับข้อพิพาทเหล่านี้แทนการนำคดีไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนหรือนำคดีไปฟ้องศาลซึ่งต้องใช้เวลานาน เสียค่าเดินทาง และอาจไม่ได้รับความเป็นธรรมเพราะคดีดังกล่าวขาดพยานที่มาเบิกความให้ ข้อดีและข้อจำกัดนี้เอง จึงทำให้ในแต่ละชุมชนหรืออำเภอได้มีกลไกการระงับข้อพิพาททางแพ่งและทางอาญาขึ้นอย่างไม่เป็นทางการ เช่นในคณะกรรมการหมู่บ้านซึ่งเริ่มจากบางจังหวัดแล้วขยายมาถึงการมีกฎหมายรองรับให้มีการไกล่เกลี่ยคดีอาญาและคดีแพ่งได้ในอำเภอหรือหมู่บ้านภายใต้การดูแลของนายอำเภอ ที่รู้จักกันในนามของ ศูนย์ดำรงธรรม ของกระทรวงมหาดไทย แต่จำกัดว่าต้องเป็นคดีอาญาที่ยอมความได้ เพราะก่อนหน้าที่ใช้กับคดีที่ยอมความไม่ได้ด้วย ซึ่งจะขัดต้องหลักการในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
อย่างไรก็ดี มาตรการไกล่เกลี่ยคดีอาญานั้น รัฐบาลมีแนวคิดที่จะให้นำมาใช้ในระบบการดำเนินคดีอาญาโดยทั่วไปด้วย และให้เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่จะเป็นผู้ประสานงานการไกล่เกลี่ยระหว่างคู่กรณีหากตกลงกันได้ ก็จะทำบันทึกให้พนักงานอัยการตรวจสอบว่าเป็นข้อตกลงที่ชอบด้วยกฎหมาย หากพนักงานอัยการเห็นชอบด้วยก็จะยุติคดี สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับ ด้วยการไกล่เกลี่ย ซึ่งร่างกฎหมายมาตรการแทนการฟ้องคดีอาญา พ.ศ... ได้กำหนดไว้ว่า ให้คดีที่เป็นความผิดอันยอมความได้ คดีลหุโทษ หรือคดีทีมีโทษไม่เกินห้าปี ท้ายพระราชบัญญัติฯ นำมาไกล่เกลี่ยได้ และผู้กระทำความผิดมีลักษณะกระทำความผิดไม่ร้ายแรง
ส่วนกรณีที่ พนักงานอัยการจะมีคำสั่งชะลอการฟ้องนั้น ต้องเป็นความผิดที่มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือความผิดฐานกระทำโดยประมาท หากได้ความว่าไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน ไม่เคยได้รับการรอการกำหนดโทษหรือลงโทษ และพนักงานอัยการเห็นว่าไม่ควรฟ้อง และคู่กรณียินยอม ก็จะสั่งให้คุมประพฤติแทนการฟ้องได้ ทั้งในกรณีการชะลอฟ้องนี้ ในกฎหมายไทย เคยมีการสั่งในกรณีนี้กับการกระทำความผิดของเด็กและเยาวชน และในกรณีของการบำบัดฟื้นฟูผู้ติดตามเสพติดแทนการฟ้องคดี
ประเด็นการชะลอฟ้อง มีข้อพิจารณาว่า คำสั่งของพนักงานอัยการ จะได้รับการตรวจสอบโดยอัยการสูงสุด แต่ไม่ได้ส่งไปที่ศาล จึงเป็นประเด็นว่า มีกระบวนการตรวจสอบการใช้ดุลพินิจโดยองค์กรเดียวกัน จึงเป็นช่องทางที่อาจถูกวิจารณ์ได้ว่า ขาดระบบการตรวจสอบโดยองค์กรภายนอกเพื่อก่อให้เกิดความเป็นธรรมและป้องกันการใช้ดุลพินิจที่ผิดไปจากที่กฎหมายกำหนดได้ อย่างไรก็ดี หากมีการใช้ดุลพินิจในการชะลอฟ้องนี้ก็จะทำให้คดีที่ไม่ร้ายแรงมาก และผู้กระทำความผิดก็ไม่ได้เป็นอันตรายต่อสังคมได้รับความรวดเร็วในการดำเนินคดีแทนที่จะต้องไปถูกฟ้องต่อศาล และในชั้นศาลก็รับสารภาพ รวมถึงได้รับเงื่อนไขคุมประพฤติเช่นเดียวกัน
ความชอบธรรมในการยุติคดีด้วยการไกล่เกลี่ย หรือการคุมประพฤติก่อนฟ้องนั้น หากทำในคดีที่ไม่ร้ายแรง หรือคดีที่ยอมความได้ หรือคดีที่เปรียบเทียบปรับได้ เป็นสิ่งที่ยอมรับได้ในการดำเนินคดีอาญา แต่ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความยินยอมของคู่กรณีเป็นสำคัญด้วย อย่างไรก็ดี การไกล่เกลี่ยกับการชะลอฟ้องในคดีที่มีโทษจำคุกไม่เกินห้าปี ต้องพิจารณาถึงความร้ายแรงของความผิด ตลอดจนผลกระทบต่อสังคมซึ่งอาจเป็นอันตรายจากการที่ผู้นั้นไม่ได้รับการลงโทษแต่มาใช้เงื่อนไขคุมประพฤติด้วย และที่สำคัญอย่างยิ่ง หากเป็นคดีที่ผู้กระทำความผิดเป็นผู้มีอิทธิพลหรือมีฐานะทางเศรษฐกิจดี กลไกในการไกล่เกลี่ยหรือชะลอฟ้อง ควรได้รับการตรวจสอบที่เข้มงวดจากองค์กรภายในและองค์กรภายนอกไม่ให้เกิดการใช้อำนาจโดยมิชอบหรือบิดเบือนได้ มิฉะนั้นแล้วก็จะเป็นทางที่ทำให้คนยากไร้ และไม่มีเครือข่ายรู้จักกับเจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรม ต้องถูกทำร้ายซ้ำสองจากกระบวนการยุติธรรมที่เอื้อประโยชน์ให้กับผู้มีอิทธิพลที่ตกเป็นจำเลย โดยใช้มาตรการทั้งสองประการนี้