ทวี สุรฤทธิกุล

การเมืองไทยไม่มีทางตัน เพียงแต่ทางรอดที่จะเป็นไปได้นั้น “ไม่โสภา” เอาเสียเลย

พอขึ้น EP.3 ก็จะเป็นฉากความวุ่นวายภายหลังจากที่มีการเสนอชื่อพลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยคะแนนเสียงข้างน้อยในสภาผู้แทนราษฎร จนต้องใช้เสียงของสมาชิกวุฒิสภามาร่วมช่วย การประท้วงต่าง ๆ ก็ประทุขึ้นทีละลูก ๆ ในสภาผู้แทนราษฎรมีการเรียกร้องความชอบธรรมของพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล สื่อกระแสหลักในส่วนที่ถูกบงการด้วยกลุ่มทุนสามานย์ระดมกำลังถล่มระบอบประยุทธ์

สื่อสังคมทุกแพลตฟอร์มในส่วนต่อต้านรัฐบาลดาหน้าเปิดตัวขยายวงกว้าง กลุ่มม็อบต่าง ๆ รวมตัวกันเป็นขบวนการ มีการปิดถนน การชัตดาวน์เมือง และการทำลายสถานที่เชิงสัญลักษณ์ต่าง ๆ รัฐบาลอาจจะต้องกลับมาใช้มาตรา 44 และพระราชกำหนดฉุกเฉิน ที่สุดก็มีการยึดอำนาจ และทหารครองเมืองต่อไป แต่ครั้งนี้นายกรัฐมนตรีไม่ได้ชื่อประยุทธ์ จันทร์โอชา และไม่ใช่ฝ่ายประชาธิปไตย

EP.4 เป็นภาพสถานการณ์ที่แตกต่างจาก EP.3 ไปอีกด้านหนึ่ง คือพลเอกประยุทธ์ที่ได้คะแนนจากทั้งสองสภามารวมกันตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ยอมแพ้ต่อกระแสต่อต้าน ประกาศสันติภาพขอลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรี ยอมให้ ส.ส.ในฝ่ายเสียงข้างมากจัดตั้งรัฐบาล แต่พวกลิ่วล้อของระบอบประยุทธ์นั้นไม่ยอม ผสมโรงด้วย “อำมาตย์” กลุ่มเดิมที่ยังหวงอำนาจ ระดมทุนและกำลังออกมาเสริม บ้านเมืองเข้าสู่วิกฤติเหมือน 2552 และ 2556 แล้วก็จบลงด้วยรัฐประหารดั้งเดิม

ภาพสถานการณ์ทั้ง 4 ตอนนี้ จบลงเพื่อให้แง่คิดว่าใน พ.ศ. 2566 รัฐประหารก็จะยังคง “ครองเมือง” โดยมีทหารเป็นพระเอก และนักเลือกตั้งเป็นผู้ร้าย

ดังนั้นถ้าจะให้มีทางเลือกอื่นสำหรับประเทศไทย และเป็น “ทางรอด” ไปสู่ประชาธิปไตยให้ได้ ก็จะต้องเปลี่ยนแปลงภาพสถานการณ์ให้เปลี่ยนใหม่เป็นดังนี้

EP.1 พลเอกประยุทธ์ถูลู่ถูกังลากรัฐบาลนี้อยู่ไปจนครบเทอม เมื่อถึงเดือนมีนาคม 2566 จึงค่อยยุบสภาและมีการเลือกตั้งในอีก 2 เดือนถัดไป แต่ปรากฏว่าระหว่างนั้นเกิดการรวมขั้วใหม่ของอดีตกลุ่มพรรคการเมืองที่เคยสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ รวมถึงพรรครวมไทยสร้างชาติที่ประสบภาวะท่าดีทีเหลว คนที่สมัครเข้ามาเป็นผู้รับเลือกตั้งในนามของพรรคนี้ขัดแย้งกันวุ่นวาย พลเอกประยุทธ์เกิดถอดใจไม่เล่นการเมืองอีกต่อไป พรรครวมไทยสร้างชาติเกิดอาการเคว้งคว้าง ผลการเลือกตั้งกลุ่มระบอบประยุทธ์ทั้งหมดพ่ายแพ้อย่างราบคาบ

EP.2 การตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งโดยพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำแม้จะไม่ราบรื่นเท่าใดนัก แต่ด้วยแรงถ่วงดุลจากพรรคก้าวไกลที่ได้ ส.ส.มาเป็นอันดับที่ 2 ทำให้เกิดภาวะประนีประนอมในรัฐสภา นโยบายประชานิยมแบบสุดขั้วของพรรคไทยรักไทยในอดีตถูกลดระดับลงมา ด้วยการชูนโยบายการฟื้นฟูประเทศและ “สร้างสมานฉันท์” โดยมีการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นที่เกี่ยวข้อง ที่สุดคือแผนการนิรโทษกรรมนักโทษทางการเมืองแบบ “ทางสายกลาง” ทั้งนี้เพื่อประคองรัฐบาลให้อยู่รอดและหลบหลีก “มรสุมอำมาตย์”

EP.3 น่าจะมีการยุบสภาเพื่อ “กระชับอำนาจ” ของฝ่ายประชาธิปไตย ทันทีที่มีการแก้ไขประเด็นต่าง ๆ ในรัฐธรรมนูญได้เรียบร้อย โดยพรรคที่เป็นแกนนำร่วมรัฐบาลกันนั้นจะใช้กระบวนการในระหว่างที่แก้ไขรัฐธรรมนูญนั่นเอง “เร้าระดมทางสังคม” ให้เกิดกระแสต่อต้านรัฐประหาร และสถาปนา “มวลชนาธิปไตย” หรือประชาธิปไตยรูปแบบใหม่ ที่ได้ทำลายความเข้มแข็งของสายสัมพันธ์ระหว่าง “ 3 ศักดินาความมั่นคง” ให้อ่อนตัวลงไปแล้ว โดยเฉพาะทหารที่จะถูกลดบทบาทต่าง ๆ ลงไปเป็นอย่างมาก โดยกลุ่มประชาธิปไตยจะอาศัยบทเรียนในครั้งที่เอาชนะทหารเมื่อ 14 ตุลาคม 2516 กลับมาใช้ โดยไม่ให้เกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอย ที่ทหารสามารถคืนอำนาจกลับมาได้เหมือนเช่นในเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม 2519

EP.4 คือ “ภาพซ้อนภาพ” ของ EP.3 ที่แบ่งออกเป็น 2 ช่อง ทางด้านซ้ายเป็นภาพในความสำเร็จภายหลังการเลือกตั้งเพื่อกระชับอำนาจ เมื่อแก้รัฐธรรมนูญและวางโครงสร้างใหม่ทางการเมืองต่าง ๆ ได้เรียบร้อยแล้ว โดยฝ่ายประชาธิปไตยสามารถครองเสียงข้างมากได้เบ็ดเสร็จ ทั้งยังมีรัฐบาลที่เข้มแข็งมากขึ้น ด้วยการสนับสนุนของประชาชนที่เริ่มมีความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตย “ใหม่” ในขณะที่ฝ่ายเผด็จการก็หมดกำลังอ่อนแรงลง ด้วยขาดแกนนำในกองทัพและระบบราชการที่ถูกตัดแขนขาไปก่อนหน้านั้น รวมถึงอำมาตย์ที่เปลี่ยนใจมาสนับสนุนฝ่ายประชาธิปไตยมากขึ้น เพื่อความอยู่รอดของอำมาตย์นั้นเอง

อีกภาพหนึ่งทางด้านขวา เป็นภาพที่พรรคร่วมรัฐบาลในฝ่ายประชาธิปไตยเกิด “เหลิงอำนาจ” เหมือนเมื่อครั้งที่นิสิตนักศึกษาเอาชนะทหารได้ใน พ.ศ. 2516 ก็เลยใช้อำนาจกันจนเลยเถิด ในขณะที่ทหารและกลุ่มอำมาตย์ยังคงรวมขั้วกันได้อย่างแน่นหนา ใช้กลยุทธ์เหมือนเมื่อครั้งที่เข้าไปบ่อยทำลายระบบรัฐสภาในช่วง พ.ศ. 2518 - 2519 ให้เกิดความไม่ไว้วางใจในหมู่พรรคการเมืองต่าง ๆ จนกระทั่งประชาชนเกิดความเอือมระอาพวกนักเลือกตั้งเหล่านั้น แล้วการเมืองก็กลับเข้าสู่วงจรเดิมที่ทหารได้ยึดอำนาจคืนสู่บัลลังก์อีกครั้ง ที่น่าจะเป็นไปโดยราบรื่นไม่มีการเสียเลือดเนื้อเช่นเคย

ผู้ชม เอ๊ย ท่านผู้อ่านคงจะพอสังเกตได้นะครับว่า ปัญหาการเมืองไทยนั้นเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นด้วย “คนไทย” ทั้งสิ้น เพราะการที่ทหารหรือนักการเมืองจะมีอำนาจขึ้นหรือลง ล้วนเป็นไปด้วย “จิตใจ” ของประชาชนที่โย้มเอียงไปให้การสนับสนุนหรือส่งเสริมทั้งสิ้น

ในเวลาที่นักการเมืองเสื่อม คนไทยก็หันไปหนุนทหารให้มายึดอำนาจ และในเวลาที่ทหารเสื่อม คนไทยก็หันไปเรียกร้องประชาธิปไตยขอให้มีการเลือกตั้ง

“ทางเลือก - ทางรอด” การเมืองไทยก็จะยังวนเวียนอยู่ในความ “อุบาทว์” ดังนี้แล ตราบเท่าที่คนไทยยังเลือกที่จะรักทั้ง “เผด็จการ” และ “ประชาธิปไตย” ไปแบบนี้

หรือนี่คือ “สัจธรรม” ของการเมืองไทย ในแนวทางที่น่าจะเรียกได้ว่า “การปกครองแบบสองใจ”