ดำเนินมาถึงช่วงท้ายของการตอบข้อสงสัยเรื่องโรคภัยไข้เจ็บ ที่ว่าเป็นโรคกรรม

วิสัชนา (ต่อ)

สอง ในเชิงปฏิบัติผิดอีก เพราะว่าไปปล่อยให้เป็นเรื่องกรรมเก่าเสียก็เลยตกอยู่ในความประมาท สิ่งที่ควรจะแก้ไขปรับปรุงก็ไม่แก้ไขปรับปรุง สิ่งที่ควรทำในปัจจุบัน คือกรรมใหม่ก็ไม่ทำ

พระพุทธศาสนายังมีหลักการสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ ถือว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ เป็นสัตว์ที่มีการฝึกฝนพัฒนาต้องปรับปรุงให้ดีขึ้นตลอดเวลา ด้วยสิกขาคือการศึกษา ซึ่งแปลว่าเรียนรู้และฝึกฝน ฉะนั้นการเรียนรู้เรื่องกรรมก็คือการที่จะได้บเรียนว่าอะไรบกพร่อง เราจะได้แก้ไขปรับปรุง เพราะฉะนั้นคนที่ว่ามันแล้วแต่กรรมเลยปล่อยตัวไม่แก้ไขไม่ปรับปรุงก็ผิดหลักเรื่องการพัฒนาฝึกฝนตนเอง และผิดหลักกรรม คือตกอยู่ในความประมาท ความประมาทก็เป็นกรรมชั่วอีก เป็นอกุศลอีก กลายเป็นว่าตัวก็รับผลกรรมเก่าที่ไม่ดีแล้วยังมาทำ

กรรมชั่วใหม่คือความประมาทเข้าไปอีก ก็เป็นอกุศลซ้ำเข้าไปอีก

อย่างที่บอกว่าต่อไปจะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่กรรมเก่าแล้วต่อไปอีกวันหนึ่ง อีกเดือนหนึ่ง อีกปีหนึ่งการกระทำขณะนี้ก็กลายเป็นกรรมเก่าไปแล้วใช่ไหม เช่น กว่าจะถึงเดือนหน้าสิ่งที่ทำในเดือนนี้ก็คือกรรมเก่าแล้ว แต่ตอนนี้เรากลับปล่อยตัวไม่ทำอะไร ก็คือเราตกอยู่ในความประมาท เพราะฉะนั้นต่อไปเดือนหน้าเราจะได้รับผลกรรมเก่าเพิ่มเข้าไป คือผลจากความประมาทที่เราทำในเดือนนี้

ฉะนั้นความประมาทประกอบด้วย หนึ่ง ไม่มีปัญญาไม่ใช้ปัญญาพิจารณา เป็นโมหะ สอง ความประมาทคือการไม่มีสติ เพราะฉะนั้นก็เป็นอกุศล ก็คือกรรมชั่วนั่นเองพระพุทธศาสนาเน้นมากเรื่องความประมาท ถือว่าเป็นทางแห่งความเสื่อมความพินาศ เพราะฉะนั้นคนที่ประสบสถานะอะไรในปัจจุบันก็ต้องพิจารณาว่าอันนี้เป็นผลรวมของกรรมเก่า เราอยู่ในภาวะอย่างนี้เราจะต้องเรียนรู้ว่าอะไรบกพร่อง อะไรจะต้องแก้ไข แล้วรีบทำกรรมใหม่ แก้ไขปรับปรุงตัวเองพัฒนาให้ดีขึ้น อันนี้จึงจะกลายเป็นว่าเราได้ทำกรรมดีใหม่ เราไม่ยอมทำตามกรรมเก่าที่มันไม่ดีแล้ว นอกจากนั้นเรายังใช้กรรมเก่าให้เป็นประโยชน์ด้วย คือเป็นบทเรียนด้วย จะอ่อนข้อบกพร่อง เอามาแก้ไขปรับปรุง ซึ่งก็ถือว่าสำคัญเพราะเป็นการปฏิบัติตามหลักสิกขา คือการฝึกฝนพัฒนา ซึ่งเป็นสาระสำคัญของชีวิตชาวพุทธ คนไทยเราบางทีก็ถือลัทธิกรรมเก่าผิด หนึ่ง ในแง่ความคิดเห็นผิด สอง ในเชิงปฏิบัติผิด ที่อยู่ในความประมาท (จบ)

ท้ายนี้ ขอกราบอนุโมทนา แด่ ธรรมทานที่สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต) ได้อธิบายอย่างละเอียดลึกซึ้ง ถึงแก่นแท้นี้