รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์

ประธานที่ปรึกษาสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

ครู เป็นหนึ่งในวิชาชีพที่ต้องอาศัยจิตวิญญาณ วิชาความรู้ ความชำนาญ และการฝึกฝนอบรมเป็นการเฉพาะเพื่อให้บริการสังคม และครูได้รับการยกย่องและยอมรับจากสังคม ผู้ที่จะก้าวเข้าสู่อาชีพครูต้องผ่านการศึกษาเล่าเรียนมาเป็นระยะเวลา 16 ปีเป็นอย่างน้อย เป็นผู้ที่มีหลักการและทฤษฎีอันน่าเชื่อถือ เป็นบุคคลที่มีหลักคุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณวิชาชีพ อาชีพครูนั้นจึงนับว่ามีฐานะและบทบาททางสังคมในระดับสูง ต้องผ่านการสอบเพื่อมีใบประกอบวิชาชีพ และครูยังมีสถาบันหลักเป็นของตนเองอีกต่างหาก

บุคคลที่ประกอบอาชีพครูถือว่าเป็นคนที่เสียสละ มุ่งมั่นอุทิศตนในการสั่งสอน บ่มเพาะ และปลูกฝังเยาวชนรุ่นใหม่ให้เป็นคนดีและมีความรู้เพื่อสร้างประโยชน์กับสังคม บ้านเมือง และประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้าก้าวทันประเทศอื่น ๆ ในหลาย ๆ ประเทศจึงกำหนด “วันครู” เพื่อมอบเกียรติ ยกย่อง และเชิดชูคนเป็นครู อาทิ มาเลเซีย วันครูตรงกับวันที่ 16 พ.ค. เวียดนาม ตรงกับวันที่ 20 พ.ย. สิงคโปร์ ตรงกับวันที่ 1 ก.ย. อินเดีย ตรงกับวันที่ 5 ก.ย. จีน ตรงกับวันที่ 10 ก.ย. เกาหลีใต้ ตรงกับวันที่ 15 พ.ค. เป็นต้น

แนวความคิดการเฉลิมฉลองวันครูเกิดขึ้นช่วงศตวรรษที่ 20 ในหลายประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเฉลิมฉลองแด่ผู้ให้การศึกษา หรือเป็นการจัดงานวันครูในวันที่มีเหตุการณ์สำคัญทางการศึกษา เช่น ประเทศอาร์เจนตินาเป็นการไว้อาลัยถึง การจากไปของโดมิงโก เฟาส์ติโน ซาร์มิเอนโต (Domingo Faustino Sarmiento) ผู้เป็นปัญญาชน นักเขียน รัฐบุรุษ และประธานาธิบดีคนที่เจ็ด ในวันที่ 11 ก.ย ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1915 เป็นต้นมา หรือประเทศอินเดียเป็นการฉลองวันเกิดให้กับ ดร. สรวปัลลี ราธากฤษณัน ประธานาธิบดีอินเดียคนที่สอง ในวันที่ 5 ก.ย. ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1962 เป็นต้นมา

เหตุผลสำคัญที่ประเทศต่าง ๆ จัดงานเฉลิมฉลองวันครูจะไม่เหมือนกัน และแตกต่างจากวันครูโลกซึ่งตรงกับวันที่ 5 ต.ค. ของทุกปี ซึ่งการเฉลิมฉลองวันครูโลกเริ่มมีครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1994 เป็นต้นมา โดยหน่วยงานหลักที่ร่วมกันจัดงานวันครูโลก ได้แก่ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization - ILO), ยูนิเซฟ (UNICEF) และ Education International (EI) หรือสหพันธ์สหภาพสากลที่เป็นตัวแทนขององค์กรของครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ใหญ่ที่สุดของโลก

“หมุดหมายสำคัญของการเฉลิมฉลองวันครูโลก คือการเฉลิมฉลองบทบาทที่สำคัญของครูในการเปลี่ยนแปลงศักยภาพของผู้เรียน โดยการทำให้แน่ใจว่าผู้เรียนมีเครื่องมือที่จำเป็นสำหรับความรับผิดชอบต่อตนเอง ต่อผู้อื่น และต่อโลกใบนี้ ประเทศต่าง ๆ ต้องให้การรับรองว่าครูจะได้รับความไว้วางใจและได้รับการยอมรับในฐานะผู้ผลิตความรู้ (Knowledge Producers) ผู้ปฏิบัติงานเชิงไตร่ตรอง (Reflective Practitioners) และพันธมิตรด้านนโยบาย (Policy Partners) "

ในประเทศไทยนั้น คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2499 กำหนดให้วันที่ 16 มกราคม ของทุกปีเป็น “วันครูแห่งชาติ” ซึ่งเป็นวันที่ตรงกับการประกาศพระราชบัญญัติครูในราชกิจจานุเบกษา พ.ศ. 2488  วันครูแห่งชาติเป็นวันที่สำคัญของเหล่าบรรดาคุณครูทุก ๆ โรงเรียนที่จะได้มารวมตัวกัน เป็นวันที่ส่งเสริมความรัก ความสามัคคี และความเข้าใจที่ดีระหว่างครูกับประชาชน เป็นวันที่เพื่อนร่วมวิชาชีพครูจะได้มีโอกาสมาพบปะกัน พูดคุยกัน และเล่าเรื่องราวต่าง ๆ เกี่ยวกับชีวิตการสอนและ การเรียนของเด็กนักเรียน ตลอดจนเรื่องสวัสดิภาพครูตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน และต่อไปในอนาคต

การจัดงานวันครูของประเทศไทยเริ่มมีการจัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2500 และหากนับรวมถึงวันครูที่ใกล้จะมาถึงในอีกไม่กี่วันข้างหน้า พบว่ามีการจัดงานวันครูรวมกันแล้วถึง 67 ครั้ง โดยหน่วยงานหลักที่เป็นแม่งานสำคัญของการจัดงานวันครูคือ “คุรุสภา” แม้ว่าการจัดงานวันครูจะมีการจัดมาอย่างยาวนานต่อเนื่องทุกปี แต่รูปแบบหลัก ๆ ของการจัดงานยังคงไว้เช่นเดิมในทุกปี แต่จะมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้างตามกาลเวลา  

การจัดงานวันครูกำหนดเป็นหลักการมาแต่แรกเริ่มของการจัดครั้งแรกว่าให้มีอนุสรณ์งานวันครูไว้แก่อนุชนรุ่นหลังทุกปี อนุสรณ์ที่สำคัญคือ หนังสือประวัติครู หนังสือที่ระลึกวันครู และสิ่งก่อสร้างเป็นถาวรวัตถุ กิจกรรมการจัดงานวันครูประกอบด้วยกิจกรรมหลัก 3 ประเภท ได้แก่ กิจกรรมทางศาสนา พิธีรำลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์ และกิจกรรมเพื่อความสามัคคีระหว่างผู้ประกอบอาชีพครู เช่น การแข่งขันกีฬา การจัดงานรื่นเริงตอนเย็น

เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการน้อมรำลึกถึงพระคุณของคุณครูผู้ซึ่งเปรียบเป็นปูชนียบุคคลที่ควรแก่การเคารพบูชายิ่งนอกเหนือไปจากพ่อแม่ และเป็นการโหมโรงวันครู 2566 สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต จึงได้จัดทำดัชนี “ความเชื่อมั่นครูไทย” ซึ่งล่าสุดในปี 2565 นี้ตรงกับครั้งที่ 18 ได้ชูประเด็น “พลังครู คือ หัวใจของการพลิกโฉมคุณภาพการศึกษา” ตามธีมหลักของการจัดงานวันครู โดยเน้นตัวชี้วัด 20 ประเด็นที่บ่งบอกถึงความเชื่อมั่นต่อครูไทยทั้งในด้านส่วนตัว การพัฒนาตนเอง และ การพัฒนาวิชาชีพในรอบปีที่ผ่านมา ซึ่งแต่ละตัวชี้วัดมีคะแนนเต็ม 10 ทั้งนี้ผลการสำรวจจะเป็นกระจกสะท้อนความคิดเห็นของประชาชนชาวไทยที่มีต่อวิชาชีพครูในหลากหลายมิติ ทั้งจุดเด่นและจุดด้อยของครูไทย ตลอดจนวิธีการที่ “ครูไทย” จะร่วมช่วยกันพลิกโฉมคุณภาพการศึกษาให้เป็นรูปธรรมได้อย่างไร?

โปรดติดตาม 16 มกราคม 2566 “วันครู” นี้นะครับ !