ทวี สุรฤทธิกุล

ปัญหาสำคัญที่สุดของการเมืองไทยวันนี้คือ “หาคนเป็นนายกรัฐมนตรีไม่ได้”

ภาวะ “ผยอง” ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา คือสิ่งยืนยันถึงสภาวะปัญหาที่ว่านี้ เพราะแม้ว่าผู้คนจะเบื่อหน่ายพลเอกประยุทธ์มากขึ้นเพียงใด แต่ก็ไม่มีใครที่จะมี “บุญบารมี” มากพอที่จะขึ้นมาทาบรัศมีกับพลเอกประยุทธ์ได้

“บุญบารมี” ของพลเอกประยุทธ์เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับ “ศักดินาความมั่นคง” อันเป็นวัฒนธรรมทางการเมืองที่ฝังรากลึกอยู่ในสังคมไทย นั่นคือการเชื่อมประสานของ “พลังทั้งสาม” คือพระมหากษัตริย์ ทหาร และข้าราชการ ที่ทั้งสามนั้นต่างถือเป็นหน้าที่ที่จะต้องทำให้สังคมไทยสงบสุขและมีความมั่นคง

นั่นก็คือถ้าจะให้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมีความมั่นคง นายกรัฐมนตรีคนนั้นต้องเป็น “ทหาร” และเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย กับ “มีบารมีมาก” ในการบริหารราชการ

ผู้เขียนเรียนวิชาการเมืองการปกครองไทย ท่านอาจารย์ที่สอนใน พ.ศ. 2519 บรรยายว่า ตำแหน่งราชการที่มีอำนาจและบารมีมากที่สุดคือ “ผู้บัญชาการทหารบก” โดยการปฏิวัติรัฐประหารในทุกครั้งถ้าจะให้ประสบความสำเร็จต้องกระทำหรือได้รับการสนับสนุนจาก ผบ.ทบ.นี้เป็นหลัก ซึ่งภายหลังรัฐประหารคนที่เป็นนายกรัฐมนตรีก็คือ ผบ.ทบ.นั่นเอง

การรัฐประหารใน 2 ครั้งหลัง พ.ศ. 2549 และ 2557 ก็เป็นไปในรูปแบบนี้ ต่างกันแต่ว่าพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน “มีบุญ” น้อยกว่าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มีเหตุการณ์สำคัญของบ้านเมืองหนุนเนื่อง ร่วมกับความพยายามที่จะสืบทอดอำนาจอยู่ด้วยนั้นพอดี พลเอกประยุทธ์จึงอยู่มาได้อย่างยาวนานแบบนี้

แต่ถ้าหากจะมองด้วยความเป็นธรรม ก็ต้องมองไปที่ฝ่ายประชาธิปไตยหรือนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งนั้นด้วย โดยเฉพาะภาพลักษณ์ที่ตกต่ำมาตั้งแต่หลังยุคของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ในยุคที่เรียกว่า “บุฟเฟ่ต์คาบิเน็ต” จนกระทั่งทหารต้องออกมาทำรัฐประหารใน พ.ศ. 2534 จนเมื่อทหารกลุ่มนั้นถอยออกไปในปีต่อมา ก็เกิดกระบวนการปฏิรูปการเมือง เป้าหมายหนึ่งก็คือแก้ไขความอัปลักษณ์ของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง จนกระทั่งได้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ที่เป็นที่วาดหวังว่าจะสร้างประชาธิปไตยที่สวยงามให้เกิดขึ้นได้ในประเทศไทย ก็ยังมาพังด้วยการใช้อำนาจอย่างน่าเกลียดของนายทักษิณ ชินวัตร

การรัฐประหารใน 2 ครั้งหลังเกิดขึ้นก็เพื่อกำจัดความอัปลักษณ์ของนักเลือกตั้งเหล่านั้น แต่ทหารก็ก้าวไม่พ้น “กับดักอำนาจ” เพราะเมื่อได้อำนาจมาแล้วก็บริหารจัดการไม่เป็น เช่น ให้นักการเมืองที่ตนเองใช้เป็นเหตุอ้างเพื่อยึดอำนาจนั้นมาร่วมงาน หรือร่วมสนับสนุนให้ตนเองเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งอาจจะเป็นด้วย “กองเชลียร์” คอยเป่าหูให้สืบทอดอำนาจ หรือ “อีโก้” ของตัวเองที่คิดว่าไม่มีใครยอดเยี่ยมเทียมเท่า

บางทีก็ทำให้คิดไปได้เช่นกันว่า คนที่คิดสืบทอดอำนาจนั้นก็ได้อาศัยความอัปลักษณ์ของนักการเมืองนั่นแหละช่วยให้ตัวเขาเอง “สง่างาม” อยู่เหนือ ซึ่งนี่ไม่เพียงแต่จะเห็นแก่ตัวอย่างไม่ละอายแล้ว แต่ยังส่งผลทำลายประชาธิปไตยโดยตรงอีกด้วย

เมื่อทางเลือกในเรื่องนายกรัฐมนตรีมีไม่มาก ก็ต้องไปพิจารณาเรื่อง “พรรคการเมือง” เพราะเท่าที่ดูพรรคการเมืองในฝ่ายที่เคยสนับสนุนนายกรัฐมนตรีก็กำลังแตกคอกัน ทั้งพรรคพลังประชารัฐ พรคประชาธิปัตย์ หรือพรรคภูมิใจไทย แม้กูรูบางคนบอกว่าเป็นการแยกกันตีแล้วก็กลับมารวมกันอีกที แต่มันก็คงไม่สนิทดั้งเดิม ดังนั้นเราจึงได้เห็นพลเอกประยุทธ์ที่ตอนแรกก็ยึกยักว่าจะไม่หวังพึ่งพิงพรรคใด ที่สุดก็ต้องตัดสินใจเลือกพรรครวมไทยสร้างชาติ เพื่อแสดงตัวตนให้ชัดเจนว่า “อยาก” เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย

ในความเป็นจริงพลเอกประยุทธ์อาจจะมองว่าพรรครวมไทยสร้างชาติเป็นเพียงแค่ “นั่งร้าน” เพื่อไต่ขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกอันหนึ่งเท่านั้น แต่นั่งร้านที่พลเอกประยุทธ์ต้องการยังมีอีกมาก โดยเฉพาะนั่งร้านอันใหญ่คือ “พรรควุฒิสภา” ที่พลเอกประยุทธ์คิดว่าตนเองมีมากกว่าฝ่ายของพลเอกประวิตร ส่วนพรรคอื่น ๆ นั้นก็น่าจะมาเป็นนั่งร้านให้พลเอกประยุทธ์อยู่ดั้งเดิม โดยเฉพาะพรรคภูมิใจไทยกับพรรคประชาธิปัตย์ ที่ยังคงอยู่ในสภาพ “วัวเคยขา ม้าเคยขี่” ซึ่งคงจะต้องหวนกลับมาหนุนพลเอกประยุทธ์อยู่ดี

กระนั้น “เรื่องพลิกล็อก” ในทางการเมืองก็ยังเกิดขึ้นได้ และอาจจะเกิดขึ้นได้ง่าย ๆ อย่างที่เริ่มมีหลาย ๆ คนมองเห็น นั่นก็คือ “ศึกล้มประยุทธ์” ซึ่งเริ่มที่จะได้ยินเสียงศึกนี้ดังกระหึ่มมากขึ้นทุกวัน

พูดตรง ๆ พลเอกประยุทธ์อาจจะไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี หรือถ้าได้เป็นก็แค่ช่วงสั้น ๆ พร้อมกับกระแสต่อต้านอย่างรุนแรง และต้องเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีในเวลาไม่นาน

เหตุการณ์ล้มประยุทธ์เป็นภาพสถานการณ์ (Scenario) อันเกิดขึ้นแบบภาพยนตร์ชุด (Series) เริ่มจากชุดแรกหรือ EP.1 คือการแบ่งขั้วการเมืองก่อนการเลือกตั้ง ดังภาพที่เห็นแยกกันเดินอยู่ตอนนี้ รวมทั้งพรรคที่ต่อต้านระบอบประยุทธ์ก็ยังไม่ได้เกาะตัวกันอย่างเข้มแข็ง แต่เชื่อได้ว่าการหาเสียง “ไม่เอาประยุทธ์” จะเข้มข้นเป็นอย่างยิ่ง

EP.2 ด้วยระบบการกาบัตร 2 ใบ พรรคที่อยู่ในใจประชาชน เช่น พรรคเพื่อไทยที่ยังมีพลังของระบอบทักษิณหนุนอยู่ กับพรรคก้าวไกลที่ขับเคลื่อนด้วยความหวังของคนรุ่นใหม่ จะได้คะแนนบัญชีรายชื่ออย่างเป็นกอบเป็นกำ เมื่อรวมเข้ากับ ส.ส.แบบเขตก็น่าจะได้จำนวนมากกว่าตามสัดส่วน ดังนั้นในสภาผู้แทนราษฎร ส.ส.ในฝ่ายที่เรียกว่า “ฝ่ายประชาธิปไตยนี้” ก็น่าจะมีจำนวนมากกว่า ส.ส.ในฝ่ายที่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ เพียงแต่พลเอกประยุทธ์ก็ไม่ยี่หระ เพราะมีพรรควุฒิสภาอยู่อีกกว่า 200 เสียง จึงนำมาสู่ปัญหาเรื่องความชอบธรรมในการตั้งนายกรัฐมนตรี อันจะเป็นชนวนไปสู่ “วิกฤติหลังเลือกตั้ง” นั้นอย่างแน่นอน

จุดเปลี่ยนของการเมืองไทยจะเกิดขึ้นด้วยภาพยนตร์อีก 2 ตอน คือ EP.3 กับ EP.4 ซึ่งจะจบด้วย “ทางรอด” หรือ “ทางตัน” ของการเมืองไทย ก็ขอให้ติดตามบทสรุปนั้นในสัปดาห์หน้า

สวัสดีปีใหม่ คนดีผีคุ้มนะครับ