รองศาสตราจารย์ ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์

ประธานที่ปรึกษาสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

ตั้งแต่โลกของการศึกษาสามารถเข้าถึงและเรียนรู้ทุกที่และทุกเวลา ไม่ใช่เฉพาะเพียงนักเรียนนักศึกษา แต่ทุกคนสามารถเข้าสู่โลกของประสบการณ์การเรียนรู้ได้เพียงปลายนิ้วมือ (แต่ต้องมีสัญญาณอินเตอร์เน็ต)  ภาพของมหาวิทยาลัยแห่งอนาคต (The University of The Future) จึงไม่ใช่เพียงห้องเรียนสี่เหลี่ยม (หรือวงกลมกรณีหอประชุม) อีกต่อไป แต่เป็นแหล่งการเรียนรู้ที่จำเป็นจะต้องสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ สร้างเรื่องราวอันน่าตื่นเต้น รวมไปถึงต้องสร้างความประทับใจให้กับผู้ใช้บริการได้

ในความเป็นจริงโลกของการศึกษาในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาก็ใช่ว่าจะหยุดนิ่ง สถานการณ์โควิด-19 ยิ่งเร่งเกิดการเปลี่ยนแปลงที่เร็วขึ้นไปอีก การเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยเต็มไปด้วยเทคโนโลยีและอุปกรณ์เครื่องมืออำนวยความสะดวกต่าง ๆ นอกจากการเรียนรู้ด้วยเทคโนโลยีแล้ว ประสบการณ์การเรียนรู้ผ่านสถานที่จริง หรือการเรียนรู้ที่เน้นพื้นที่เป็นฐาน (Place-Based Learning) ก็ได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้น

ภาพของมหาวิทยาลัยแห่งอนาคตจึงมีลักษณะเป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต (Community-based lifelong learning) มากกว่าการเป็นเพียงห้องเรียนสี่เหลี่ยมเท่านั้น ดังเช่น University of Palermo (Universidad de Palermo) มหาวิทยาลัยอันเก่าแก่ในอาร์เจนตินา ได้พัฒนาแหล่งเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางด้วยการสร้างและพัฒนา “Education Lab” ขึ้น เน้นการพัฒนาการศึกษา สร้างสรรค์วิธีสอนใหม่ ให้ผู้เรียนได้ใช้พื้นที่ต่าง ๆ ในการเรียนรู้ รวมไปถึงชุมชนก็เข้ามามีส่วนร่วมในประสบการณ์นี้ด้วยเช่นกัน

การก้าวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษานี้ นอกจากผู้บริหารของมหาวิทยาลัยผู้ทำหน้าที่หัวเรือสำคัญแล้ว บุคคลสำคัญที่ขาดไม่ได้ คือ ผู้ดูแลหรือผู้ให้บริการในแหล่งเรียนรู้ของมหาวิทยาลัย สำหรับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ งานของผู้ดูแลแหล่งเรียนรู้ของมหาวิทยาลัยนี้ เรียกกันหลากหลายชื่อ เช่น Supervisor หรือ Floor Supervisor หรือเฉพาะเจาะจงอย่าง Library Supervisor ซึ่งก็มีหน้าที่คล้ายคลึงกันในการรับผิดชอบภาพรวมและบริหารจัดการแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย จากข้อมูลเว็บรับสมัครงานที่เติบโตรวดเร็วอย่าง Zippia ระบุไว้ว่า คุณลักษณะที่ผู้สมัครงานตำแหน่งผู้รับผิดชอบงานห้องสมุด (Library Supervisor) ของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่มีร่วมกัน ก็คือ ทักษะความคิดริเริ่ม ทักษะการแก้ปัญหา และทักษะการสื่อสารที่ดีและมีประสิทธิภาพ

แม้ว่าโลกใหม่จะเต็มไปด้วยการอำนวยความสะดวกจากอุปกรณ์และเทคโนโลยีหลากหลาย แต่สุดท้ายแล้ว “คน” ก็ยังเป็นจุดสำคัญในการเชื่อมต่อระหว่าง “งาน” และ “การบริการ” เข้าไว้ด้วยกัน เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้ใช้บริการ ผู้ให้บริการจึงไม่ใช่เพียงแค่ “รอ” ให้บริการที่ปลายทาง หากแต่ต้องเข้าไปอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ตั้งแต่ต้นทางเพื่อให้สอดคล้องเป็นไปตามวิสัยทัศน์และวัตถุประสงค์ของการให้บริการของแหล่งเรียนรู้ ดังนั้นการมีทักษะที่จำเป็นและหลากหลายจึงเป็นชุดทักษะ (Skill Sets) ที่ผู้ดูแล (Supervisor หรือ Floor Supervisor) ต้องมี หรือถ้าไม่มีก็ต้องพัฒนาให้มี

นอกจากชุดทักษะเบื้องต้นเกี่ยวกับการบริการแล้ว ผู้ดูแล (Supervisor/Floor Supervisor) จะต้องมีความรู้ (Knowledge) และความสามารถ (Ability) ร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็นความรู้จริงในงานที่ทำ ความรู้ใหม่ที่รองรับการเปลี่ยนแปลง ความรู้พื้นฐานเฉพาะตำแหน่ง ฯลฯ ส่วนความสามารถก็หมายรวมถึงการมีปฏิสัมพันธ์เชิงบวก การสงบสติอารมณ์ในสถานการณ์ที่กดดันสูง และมีความสามารถในการจัดลำดับความสำคัญในการบริการ เป็นต้น

การที่ผู้ดูแล (Supervisor/Floor Supervisor) มีทั้งชุดทักษะ ความรู้ และความสามารถในการปฏิบัติงานเช่นนี้ จะช่วยส่งเสริมการบริการที่ดีและมีคุณภาพให้กับแหล่งเรียนรู้ของมหาวิทยาลัยที่ได้สร้างและพัฒนาขึ้น แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้แม้จะดูยุ่งยากหรือบางทีก็ไม่ได้มีเพียบพร้อมในทุกคน แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะพัฒนากันไม่ได้!!

โลกของการศึกษาในวันพรุ่งนี้ หากทุกคนสามารถเข้าถึงและเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา คุณภาพของงานบริการจึงเป็น สิ่งสำคัญและอยู่ในทุกที่ทุกเวลาด้วยเช่นกัน ผู้ดูแลแหล่งเรียนรู้นั้น ๆ หรือที่รู้จักกันในนามของ Supervisor หรือ Floor Supervisor จึงเป็นผู้รับผิดชอบงานบริการนั้นและมีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับมหาวิทยาลัย

มหาวิทยาลัยจะไปต่อหรือพอแค่นี้ ท่านเลือกได้ครับ