เสรี พงศ์พิศ
Fb Seri Phongphit
ดนตรีเป็น “เทวศิลป์” (divine art) ทุกอารยธรรมโลกตั้งแต่โบราณหลายพันปีมีบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับดนตรีไว้เช่นนี้ เป็นเสียงแห่งสวรรค์ ที่เทวดานางฟ้าต่างก็เล่นดนตรีและขับร้อง เบโธเฟน นักดนตรีเอกของโลกกล่าวว่า “ดนตรีล้ำลึกยิ่งกว่าปรีชาญาณและปรัชญาใดๆ”
“เหตุผลไปถึงสมอง ดนตรีไปถึงหัวใจ” เป็นคำกล่าวและแนวคิดของยุคโรแมนติกในยุโรป ที่ไม่เห็นว่า เหตุผลเป็นองค์ประกอบสำคัญที่สุดของคนจนต้องนิยามว่า “คนคือสัตว์ที่มีเหตุผล” เพราะคนมี “ไฟปรารถนา” (passion) อารมณ์ ความรู้สึก ญาณทัศนะ ที่สำคัญไม่น้อยกว่าเหตุผล ทำให้คนเป็นคน เอกภาพองค์รวมนี้ดนตรีสะท้อนออกมาได้ดีที่สุด
เมื่อเราชมการร้องเพลงในรายการประกวด กรรมการไม่ได้ฟังแต่เสียงร้อง แต่ต้องการสัมผัสอารมณ์เพลง คนมี “อินเนอร์” สูงจะทำให้คนฟัง “รู้สึก” ได้ เหมือนเล่าเรื่องให้คนฟังซาบซึ้งจนอาจขนลุก คือคนที่สามารถทำให้เพลงที่ร้องกับตัวเขา “เป็นหนึ่ง” ไม่แปลกแยก
ดนตรีเป็นศิลปะแห่งเทพ บรรดาเทพเจ้าในอารยธรรมกรีก โรมัน ต่างก็มีผู้ทรงดนตรีและอุปถัมภ์ดนตรี ที่บรรดากษัตริย์ จักรพรรดิ ผู้ปกครอง ผู้มีอำนาจทั้งหลายในอดีตต่างก็ฝึกฝนจนเล่นเองร้องเองได้ วงดนตรีดีดสีตีเป่าจึงมีพร้อมในราชสำนักและสถาบันชั้นสูงเสมอ ดังที่บรรดากษัตริย์ ขุนนางในยุโรปยุคกลางเรื่อยมาต่างก็มีวงดนตรี นักดนตรีประจำราชสำนัก และเป็นผู้อุปถัมภ์นักดนตรีที่มีชื่อเสียง
ดนตรีเป็นวิชาชั้นสูง หนึ่งใน “สัปตศาสตร์” (วิชาทั้งเจ็ด) ในยุคกลาง และเป็นวิชาสำคัญเมื่อมีการก่อตั้งมหาวิทยาลัยตั้งแต่ศตวรรษที่ 12 เป็นต้นมา เป็นรากเหง้าและรากฐานดนตรีที่สำคัญ จากดนตรีเกรกอเรียนที่ร้องในโบสถ์ พัฒนามาเป็นดนตรีคลาสสิกแบบต่างๆ จนถึงดนตรีสมัยใหม่ในปัจจุบัน
ดนตรีพื้นบ้านของไทยอยู่ในวิถีชุมชน เป็นทั้งเพื่อความสุขสนุกสนาน เพื่อการร้องรำ ซึ่งมีทุกภาคทุกเผ่าพันธุ์ และเพื่อประกอบพิธีกรรม อย่างหมอลำผีฟ้า ที่มีทั้งแคนและการร้องรำเพื่อขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยรักษาอาการเจ็บป่วย ซึ่งบิดาของการแพทย์ชาวกรีกอย่างฮิปโปเครติส ยืนยันว่า ดนตรีบรรเทาความเจ็บปวดและรักษาโรคได้ ดนตรีคือภาษาที่มนุษย์สื่อกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติ ยกระดับชีวิตจิตใจของตนขึ้นไปสู่อุตรภาวะ
ดนตรีจึงฟื้นฟูพลังชีวิต มีเรื่องเล่าว่า คนไทยคนหนึ่งนอนป่วยอยู่ที่โรงพยาบาลในสหรัฐอเมริกาเป็นเวลานาน หดหู่ซึมเศร้า วันหนึ่งเพื่อนนำดนตรีไทยไปเปิดให้ฟัง คนไข้ลุกขึ้นนั่ง เดินได้อย่างที่แพทย์หรือใครอธิบายไม่ได้ว่าทำได้อย่างไร
ปัจจุบันนี้มีการวิจัยเรื่องดนตรีบำบัดกันมาก ส่วนใหญ่เชื่อได้ว่า ดนตรีมีส่วนช่วยลดอาการป่วยด้วยโรคพาร์กินสัน และอัลไซเมอร์ งานวิจัยพบว่า ดนตรีเป็นเสียงที่เกิดจากการสั่น นำไปสัมพันธ์กับการสั่นของระบบประสาทของผู้ป่วย ปรับให้ลดอาการสั่นลงได้
ส่วนการเปิดดนตรีของโมสาร์ทให้เด็กฟังตั้งแต่แรกเกิดหรืออยู่ในครรภ์จะทำให้เด็กฉลาดนั้นมีงานวิจัยที่ยืนยันเรื่องนี้ แต่ก็มีที่แย้งว่าไม่จริงเสมอไป มีปัจจัยอื่นอีกมากที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ดี งานวิจัยต่างก็ยืนยันอย่างหนึ่งว่า ดนตรีช่วยพัฒนาการทางอารมณ์ของเด็กและผู้ใหญ่ได้ เช่นเดียวกับที่มีการทดลองเปิดให้สัตว์และพืช มีปฏิกิริยาตอบสนองและทำให้เติบโตได้ดี
ดนตรีมีความสำคัญมากกับผู้สูงวัย ทำให้อารมณ์ดี ฟื้นความทรงจำชื่นมื่นในอดีต ทำให้เข้าสังคมได้ดี ไม่อยู่คนเดียวเหงาๆ ดนตรีช่วยทั้งทางร่างกายและจิตใจของผู้สูงอายุ เหมือนน้ำทิพย์บำรุงชีวิตให้สดชื่นแจ่มใส ไม่ซึมเศร้า จมปลักอยู่กับปัญหาและความทุกข์ ความน้อยใจของคนวัยชรา
ในบ้านพักผู้สูงอายุส่วนใหญ่จึงมักมีการร้องเพลง ฟังเพลง เล่นดนตรี และการฝึกร้องเพลง เพราะส่วนใหญ่ไม่เคยร้อง หลายคนเขินอาย ผู้ดูแลที่มีจิตวิทยาดี มีวิธีสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้สูงอายุสนใจฝึกร้องเพลง โดยทำให้เห็นคุณูปการของดนตรี ทั้งการเล่นดนตรีและการร้องเพลง และรู้วิธีฝึกที่สนุกและได้ผล
การร้องเพลงเป็นการออกกำลังกายที่ดีอย่างหนึ่ง ทำให้ส่วนต่างๆ ของร่างกายที่ใช้เพื่อออกเสียง โดยเฉพาะปอดแข็งแรง เรียนรู้การร้องที่ไม่ได้ออกมาจากลำคอ แต่จากปอด และส่วนลึกของร่างกาย
ด้วยเหตุดังนี้ ในยุโรป อย่างที่เยอรมนี จึงมีวิชาดนตรีเป็นวิชาบังคับสำหรับเด็กประถม เรียนร้องเพลง เรียนเล่นดนตรีหนึ่งชิ้น คนเยอรมัน คนยุโรปส่วนใหญ่จึงร้องเพลงได้ ร้องเพลงเป็น
ปีใหม่นี้ อยากเห็นการศึกษาไทยทำสัก 2 เรื่อง คือ ดนตรีและกีฬา ดนตรีหมายถึงการพิจารณาวิชานี้ให้เป็นวิชาบังคับในระดับประถม ถ้าบังคับไม่ได้ก็ให้เป็นนโยบายส่งเสริมการเรียนดนตรี ร้องเพลง ขับร้องหมู่ เล่นดนตรีสักหนึ่งชิ้น สร้างแรงจูงใจให้โรงเรียน ครู นักเรียนสนใจเรื่องนี้อย่างจริงจัง
เรื่องกีฬาก็ขอให้ “มวยไทย” เป็นนโยบายที่ทุกโรงเรียน ทั้งประถม มัธยม มีเรียนมีฝึก ไม่ใช่เพื่อให้เป็นนักมวยแต่เพื่อสุขภาพและการป้องกันตัว โดยเฉพาะเด็กผู้หญิง สร้างแรงจูงใจให้มีกิจกรรมต่างๆ อย่างนาฏมวยไทย การแสดงศิลปะแม่ไม้มวยไทยเป็นกลุ่มใหญ่ในโอกาสต่างๆ ของชุมชน ของโรงเรียน
การเรียนดนตรีและมวยไทยจะพัฒนาเด็กได้ดี พัฒนาชีวิตจิตใจ อารมณ์ ความรู้สึกและจิตสำนึก ดนตรีจะทำให้มีความละเอียดอ่อน เห็นอกเห็นใจผู้อื่น มวยไทยจะทำให้เด็กมีน้ำใจนักกีฬา มีวินัย จะไม่ใช้วิชามวยทำร้ายคนอื่น แต่จะช่วยเหลือ ปกป้องคนที่อ่อนแอกว่า จะไม่มีนักเรียนยกพวกตีกันอย่างที่ยังเห็นกันวันนี้
การเรียนดนตรีและกีฬาทำให้เด็กเกิดความเชื่อมั่นและภูมิใจในตัวเอง คนที่ร้องเพลงเป็น เล่นดนตรีเป็น เล่นกีฬาได้ คือคนที่รู้จักเรียนรู้ นี่คือการศึกษาที่พัฒนาคนอย่างรอบด้าน เพราะชีวิตเป็นศาสตร์และศิลป์
นักวิทยาศาสตร์อัจฉริยะอย่างไอน์สไตน์ฝึกฝนจนเล่นไวโอลินได้แบบมืออาชีพ ชอบเล่นโซนาตาของโมสาร์ทสำหรับไวโอลินกับเปียโน นิทเช่ นักปรัชญาโลกสะเทือนก็เล่นเปียโน แต่งเพลง และเขียนหนังสือเล่มแรกเกี่ยวกับดนตรี เพราะดนตรีเป็นส่วนสำคัญของชีวิต นิทเช่จึงบอกว่า “ขาดดนตรี ชีวิตจะเป็นความผิดพลาด” (Without music, life would be a mistake)