ด้วยกรอบ 180 วันก่อนการเลือกตั้ง ที่นักการเมืองต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกติกาของคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือกกต. ในข้อห้ามแจกของ แจกเงินต่างๆ ทำให้มาตรการของขวัญปีใหม่ของรัฐบาลที่ให้กับประชาชนในช่วงปลายปี ไม่ได้ทำแบบเทกระจาด แต่เป็นไปด้วยความระมัดระวังในแง่มุมของกฎหมาย

โดยที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ให้พิจารณาไปตามศักยภาพ

และแม้นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะให้เหตุผลของการไม่มีโครงการครละครึ่งเฟส 6 แล้วว่า เนื่องจากเห็นว่ากำลังซื้อคนกลับมาแล้ว

แต่ก็เชื่อกันว่า เงื่อนไข 180 วันก่อนการเลือกตั้ง อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้รัฐบาลไม่เสี่ยงที่จะกดปุ่มเปิดก๊อกคนละครึ่ง

อย่างไรก็ตาม หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่นๆ ยังคงออกมาตรการของขวัญประชาชนกันหลายหน่วยงาน  เฉพาะแค่กระทรวงการคลังกระทรวงเดียวก็ 27 มาตรการ

โดยในส่วนของมาตรการภาษี  โครงการช้อปดีมีคืน ยังได้กลับมากระตุ้นเศรษฐกิจช่วงปีใหม่ โดยสามารถนำใบเสร็จรับเงินมาลดหย่อนภาษีได้ ซึ่งช้อปดีมีคืนนี้จะเริ่ม 1 มกราคม  - 15 กุมภาพันธ์  2566 สำหรับผู้ที่เสียภาษีบุคคลธรรมดา แต่ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะนิติบุคคล โดยสามารถนำใบกำกับภาษีไปลดหย่อนภาษีได้ กรอบวงเงินตามจำนวนจ่ายจริง แต่ไม่เกิน 40,000 บาท และซื้อกับห้างร้านที่สามารถออกใบกำกับภาษี 30,000 บาทแรก เป็นกระดาษ หรืออิเล็กทรอนิกส์ได้ และจะได้ลดหย่อนอีก 10,000 บาท ในการหักภาษีเพิ่ม หากซื้อจากห้างร้าน หรือผู้ให้บริการที่ให้ใบกำกับภาษีในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อส่งเสริมการจ่ายภาษีแบบอิเล็กทรอนิกส์ แต่มีสินค้าและบริการ 10 อย่างที่ไม่สามารถลดหย่อนภาษีได้ คือ สุรา เบียร์ ไวน์ ยาสูบ ซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ เรือ ค่าซื้อหนังสือพิมพ์ และนิตยสาร

ทั้งนี้ จากโครงการช้อปดีมีคืน คาดว่าจะทำให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นมูลค่าประมาณ 5.6 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายมาตรการที่เป็นของขวัญปีใหม่สำหรับประชาชน ที่จะช่วยบรรเทาภาระประชาชนและกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่เชื่อว่าอานิสสงส์จะช่วยฟื้นเศรษฐกิจไตรมาสแรกต้นปี 2566