ทวี สุรฤทธิกุล

การเมืองไทยยังคงไม่พัฒนาไปทางใด ถ้ายังวนเวียนอยู่ในมือของนักการเมืองรุ่นเก่า

หลายคนคงผิดหวังกับ “ระบอบประยุทธ์” นี้ยิ่งนัก

ประการแรก ไม่น่าเชื่อว่าเขาเป็นชายชาติทหารที่ได้ชื่อว่าเป็นอาชีพที่ต้องมี “สัจจะ” แต่การที่เขาทำไม่ได้ในการสร้างสรรค์การเมือง อย่างที่เขาแต่งเป็นเพลงว่า “เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน” ทำให้เสื่อมมาถึงสถาบันกองทัพและทหารทั้งหลายอย่างไม่มีทางเลี่ยง

เขาใช้เวลานานมากกว่า 8 ปี และถ้าอยู่ต่อไปอีก 2 ปี ก็จะอยู่นานกว่านายกรัฐมนตรีคนใด ๆ ของประเทศนี้ แต่ระหว่างทางเขาล้มร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่น่าจะดีกว่าฉบับนี้ แล้วให้นิติบริกรร่างขึ้นใหม่เพื่อให้มีการสืบทอดอำนาจ เสร็จแล้วก็ร่วมมือกับนักการเมืองในกลุ่มที่เขายึดอำนาจมา(และจับไปจองจำปรับทัศนคติ)สร้างพรรคการเมืองที่สร้างปัญหากับระบบรัฐสภาเป็นอย่างมาก มาเสนอชื่อให้เขาเป็นนายกรัฐมนตรี

การพลิกลิ้นกับลำมาคบกับ “สวะ” ทั้งหลายนั้น จะเรียกว่า “ตระบัดสัตย์” ได้หรือไม่

ประการต่อมา เขาไม่เอาใจใส่กับงานสภาและการพัฒนาตัวผู้แทนราษฎร เขาดูจะพอใจกับความวุ่นวายในสภาผู้แทนฯ แล้วปล่อยให้ “พี่ใหญ่” กระง่อกกระแง่กดูแลไปแกน ๆ เหมือนมีแผนที่จะไม่ให้สภานั้นเป็นระเบียบเรียบร้อย เพื่อที่จะให้อำนาจเผด็จการของเขามีความโดดเด่น ในอันที่จะเป็นข้ออ้างไม่ให้พวกนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งได้มีราศรีขึ้นมาเทียบเทียบ จนถึงที่กำลังจะมีเลือกตั้งใหม่นี้

ที่สุด แม้เมื่อพี่ใหญ่กำลังอยู่ในภาวะ “พรรคแตก” พี่แกก็ยังไม่ยี่หระ รวมถึงพรรคที่ตั้งขึ้นใหม่ที่หวังว่าพี่แกจะเข้ามาเป็นหัวให้ พี่แกก็อมพะนำไม่ลดตัวลงไปร่วมให้ชัด ๆ เหมือนไม่อยากเกลือกกลั้ว

โนสน โนแคร์ ขอเพียงข้าเป็นพระเอก “ประเทศไทยอย่าหวังว่าใครจะมาเป็นนายกฯแทนข้าได้”

ประการสุดท้าย(แต่ยังไม่ท้ายที่สุด) แม้ว่าท่านจะไม่ได้ฉลาดหลักแหลมมากพอที่จะคิดทำลายประชาธิปไตยได้อย่างแยบยล แต่ด้วยลีลายียวนชวนหมั่นไส้ แถมด้วยการวางตัว “เหนือ” และ “ด้อยค่า” พวกนักเลือกตั้ง ก็ยิ่งทำให้เชื่อได้ว่าท่านมีความรังเกียจการให้อำนาจกับประชาชนนั้นเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการที่ท่านได้ใช้อำนาจของวุฒิสภามาค้ำจุน โดยไม่สนใจว่าผลการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร ก็ยิ่งแสดงว่าท่านไม่ได้ให้ความสำคัญกับระบบรัฐสภาและกระบวนการประชาธิปไตยแต่อย่างใดเลย ขอเพียงท่านมีอำนาจสืบต่อ และทุกคนต้องงอนง้อท่าน

เลือกตั้งที่จะมาถึง ถ้าผลออกมาเละเทะวุ่นวาย ท่านอาจจะเลิกใช้รัฐธรรมนูญนี้ แล้วก็ “อยู่ค้ำฟ้า” ไปตลอดชีพ แล้วประชาธิปไตยในประเทศไทยก็จะไม่ได้เกิดอีกตลอดไป

ตอนนี้มีการคาดการณ์ว่านายกฯประยุทธ์น่าจะยุบสภาก่อนที่อายุสภาจะครบวาระ 4 ปี ในวันที่ 24 มีนาคม 2566 โดยอาจจะยุบภายหลังปีใหม่นี้ หรือก่อนวันที่ 24 มกราคมที่จะถึง เพื่อให้มีเวลาสำหรับนักการเมืองที่จะย้ายค่ายหาพรรคใหม่ โดยเฉพาะมาเข้าพรรคใหม่ที่มีคนตั้งไว้คอยท่า

แต่ดูท่าแล้วคนทั้งหลายน่าจะ “คิดผิด” เพราะด้วยท่าทีที่ “โนสน โนแคร์” ของอดีตทหารที่เคยน่าเชื่อถือ ทำให้มองไปได้อีกเช่นกันว่า ท่านจะลากของท่านให้สภาอยู่ไปจนครบวาระ เพราะถึงอย่างไรท่านก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปอยู่ดี ในขณะที่ท่านก็คงอยากให้ ส.ส.ที่เลือกเข้ามานั้น “ยิ่งเละยิ่งดี” เพื่อเสริมความเป็น “ภูเขาทอง” ของท่านให้สง่างามมาก ๆ ยิ่ง ๆ ขึ้นต่อไป

หลังเลือกตั้งที่คาดกันว่าน่าจะมีขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2566 ท่านก็จะอยู่ได้แน่ ๆ อย่างน้อยก็เกือบ 2 ปี รวมถึงออปชั่นที่อาจจะได้อยู่ต่อไปอีก หากสภาใน พ.ศ. 2568 ที่ท่านอยู่ในตำแหน่งครบ 8 ปีแล้วนั้นไม่สามารถจะตกลงหาใครมาแทนที่ท่านได้ รัฐธรรมนูญก็มีข้อยกเว้นที่จะให้ท่านเป็นต่อไปได้อีก ทีนี้ท่านก็นับหนึ่งในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไปได้อีก 2 สมัย รวมอีก 8 ปี

2557 ถึง 2574 คือ 17 ปีของนายกรัฐมนตรีที่ชื่อ “ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ผู้ที่จะมีอายุ 77 ปีในปี 2574 นั้น

นั่นคือ “ฝันหวาน” สำหรับนักสืบทอดอำนาจคนนี้ แต่ฝันของเขาน่าจะมีอุปสรรคมาก ๆ เพราะความฝันของเขานั้นจะสร้าง “สารพันปัญหา” ให้กับการเมืองของประเทศนี้เป็นอย่างมากในอนาคต โดยเฉพาะกับคนรุ่นใหม่ ที่ไม่เชื่อว่าทหารคือสถาบันเดียวที่ค้ำจุนประเทศนี้ รวมถึงทหารรุ่นใหม่ที่จะรับ “มรดก” ในการค้ำจุนประเทศในลักษณะนี้ไปได้อีกนานแค่ไหน

คนรุ่นใหม่มองว่าสังคมไทยที่เป็น “ศักดินาบนฐานความมั่นคง” มาได้อย่างนี้ ก็เพราะการพึ่งพาอาศัยกันและกันจอง “3 สถาบันหลักแห่งชาติ” คือ พระมหากษัตริย์ ทหาร และข้าราชการ

คนรุ่นใหม่มองว่าถ้าสามารถ “ปฏิรูป” สถาบันทั้งสามนี้ได้ ประเทศไทยก็จะเปลี่ยนแปลงได้

สถาบันที่ปรับตัวได้ค่อนข้างดีก็คือ “ข้าราชการ” ที่สามารถปรับตัวเข้ากับได้กับทุก ๆ สถาบัน โดยเฉพาะที่ยอมอยู่ใต้การบังคับบัญชาของรัฐบาลที่มีผู้นำเป็นทหาร เพราะอยู่รอดปลอดภัยได้สบายใจกว่าที่จะอยู่ใต้การกำกับความคุมของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่กระนั้นก็ต้องมีการปฏิรูปให้ดีขึ้น เช่นเดียวกันกับที่คนรุ่นใหม่พยายามที่จะปฏิรูปทหารและพระมหากษัตริย์

การเลือกตั้งปี 2566 คือการต่อสู้ของรุ่นใหม่กับสถาบันทั้งสาม ที่คนรุ่นพ่อรุ่นแม่อาจจะไม่อยากเห็น แต่ลูกหลานของเราต่อไปนั้นอยากให้เป็น ซึ่งจะขอไปนำเสนอในตอนต่อไป