กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF คาดการณ์เศรษฐกิจโลกเติบโตลดลง โดยในปีนี้อยู่ 3.5% และปีหน้าอยู่ที่ 2.7% และเศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวลง ส่งผลให้เกิดความผันผวนทางเศรษฐกิจ ภูมิรัฐศาสตร์ และนิเวศวิทยา ขณะที่สถานการณ์ของสงครามรัสเซีย-ยูเครน จะทำให้เกิดวิกฤตค่าครองชีพ
ในขณะที่ธนาคารโลก ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากขยายตัว 2.9% เป็น 3.1% และเพิ่มขึ้นเป็น 3.4% ที่เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวดีขึ้นจากภาคท่องเที่ยวและการบริโภคภายในประเทศ แต่ปี 2566 ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยลงอย่างต่อเนื่อง จากขยายตัว 4.3% เป็น 4.1% และล่าสุดลดเหลือ 3.6% สาเหตุหลักเป็นผลจากการชะลอตัวของอุปสงค์โลกที่เกิดขึ้นเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ ทำให้การส่งออกสินค้าของไทยคาดว่าจะหดตัว 2.1% ในปี 2566 ลดลงอย่างมากจากที่คาดการณ์ว่าในปี 2565 จะขยายตัว 8.1%
ส่วนศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์แนวโน้มที่เศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญในปี 2566 ซึ่งจะกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ และยูโรโซนมีแนวโน้มที่จะไม่เติบโต เป็นผลจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบจากวิกฤตพลังงานในยุโรปด้วย ในขณะที่ แนวโน้มที่จีนจะเปิดประเทศในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2566 มีมากขึ้น ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงมีมุมมองที่ระมัดระวังต่อสถานการณ์การเปิดประเทศของจีนดังกล่าว โดยยังคงจำนวนนักท่องเที่ยวที่ 22 ล้านคน และการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ไว้ที่ 3.2%
อย่างไรก็ตาม สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงรายงานภาวะสังคม ไทยไตรมาส 3/2565 ระบุสถานการณ์การจ้างงานในช่วงไตรมาส 3 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยมีการจ้างงาน 39.6 ล้านคน เพิ่มขึ้น 2.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียว กันของปีก่อน จากการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่ขยายตัว 4.3% โดยสาขาที่มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นมากที่สุดคือ สาขาโรงแรมและภัตตาคาร เนื่องจากการท่องเที่ยว ปรับตัวดีขึ้น ขณะที่การจ้างงาน ในภาคเกษตรยังคงหดตัวที่ -2.4% เพราะได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยในช่วงไตรมาสที่ 3/2565 ที่ผ่านมา
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ยกข้อมูลของสำนักงานประกันสังคมรานงานเด็กจบใหม่ปี 63-65 มีจำนวน 1,193,376 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้มีงานทำและมีรายชื่ออยู่ในฐานข้อมูลประกันสังคมจำนวน 957,900 ราย คิดเป็น 80.27%
แม้สถานการณ์โลกจะมีแนวโน้มชะลอตัว ที่จะเป็นปัจจัยฉุดรั้งการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะการส่งออก นั่นยิ่งทำให้การท่องเที่ยวยังคงเป็นหัวใจสำคัญ ที่ต้องกระตุ้นกันต่อไป