ในลิ้นชักความทรงจำ / ยูร กมลเสรีรัตน์
เส้นทางนักเขียนของนักเขียนหญิงยอดนิยมคนหนึ่งของเมืองไทย นามปากกา “โสภี พรรณราย” เริ่มต้นเขียนเขียนนวนิยายเรื่องแรกตอนที่เธอเรียนจบจากพณิชยการพระนครใหม่ ๆ เป็นการเขียนตามประสาเด็กในวัย 18 ปี ทั้งที่เธอไม่รู้เลยว่านวนิยายเป็นยังไง แต่ด้วยความรักที่อยากจะเขียน เพราะชอบอ่านหนังสือมาตั้งแต่ยังเด็ก ๆ เธอเล่าถึงความหลังให้ฟังว่า...
“ที่บ้านมีหนังสือเป็นพัน สมัยเด็กชอบอ่านหนังสือกำลังภายใน เวลาอ่านก็จินตนาการไปด้วย นวนิยายของไทยชอบ พล นิกร กิมหงวน(อีกชื่อคือ สามเกลอ ของป. อินทรปาลิต) แต่ต้องแอบอ่าน ไม่ให้อาม่าเห็น คนจีนรุ่นเก่าไม่ส่งเสริมลูกผู้หญิงในเรื่องนี้ ได้อ่านจริงจังตอนไปเรียนหนังสือ ที่บ้านครูรับนิตยสาร ชอบมากคือนิยายที่ลงเป็นตอน ๆ ในดรุณี”
โสภี พรรณรายติดเรื่องชุด พล นิกร กิมหงวน ของราชาเรื่องเบาสมองของไทย ขนาดที่ว่าไปซื้ออ่านวันละเล่ม ๆ ละ 3 บาท จะวางตลาดทุกวัน ๆ ละตอน เมื่ออ่านมาก ๆ เขาจึงอยากเขียนเองบ้าง
“ตอนทำงานบริษัท ช่วงพักเที่ยง ทานข้าวเสร็จ จะเอากระดาษฟุลสแก๊ปมานั่งเขียนนิยาย กลับไปบ้านก็เอามาเขียนต่อ เขียนด้วยลายมือตลอด”
นวนิยายเรื่องแรกที่เขียนคือเรื่อง “แฝดสาวเจ้าเสน่ห์” เธอเอาไปเสนอนิตยสารดรุณี รายปักษ์ ซึ่งประกาศรับนวนิยายของนักเขียนใหม่ โดยจะส่งเสริมนักเขียนใหม่ทุกปี มีชิต กันภัย เป็นทั้งเจ้าของและบรรณาธิการ นิตยสารดรุณีในสมัยนั้นถือว่าเป็นนิตยสารที่ได้รับความนิยมสูง มียอดจำหน่ายเกือบแสนฉบับ เธอบอกเล่าด้วยภูมิใจว่า
“ตอนนั้นทำต้นฉบับยังไม่เป็น ไม่รู้เรื่องหรอกว่าเขาทำต้นฉบับกันยังไง เขียนด้วยลายมือใส่สมุดติดต่อกันเป็นพืด ไม่มีการแบ่งเป็นบท ๆ เขียนไป 20 แผ่น คุณชิตเรียกไปพบ บอกว่าใช้ได้และแนะนำวิธีแบ่งบทให้ พร้อมกับสอนว่าบทที่หนึ่งสำคัญมาก ต้องเอาผู้อ่านให้อยู่ ให้เขาอยากอ่าน อยากติดตาม พร้อมกับตั้งนามปากกาว่า โสภี พรรณราย ถือว่าคุณชิตเป็นครูคนแรก”
เธอออกตัวว่าไม่ใช่ผู้หญิงที่สวยเหมือนความหมายของนามปากกา แต่เมื่อบรรณาธิการตั้งให้ก็ต้องรับไว้ ผมว่าเธอถ่อมตัวนะ เธอสวยแบบอ่อนช้อย ผมว่านามปากกานี้เหมาะกับบุคลิกของเธอแล้ว ที่สำคัญ มีความโดยนัยยะ ซึ่งหมายถึงตัวอักษรของเธอนั้น ส่งประกายแห่งความสุขให้แก่คนอ่าน
หลังจากนวนิยายเรื่องแรกจบ เธอก็เขียนนวนิยายเรื่องที่สองต่อเรื่อง ‘พรายปักษิณ’ แต่เขียนได้เพียงสองเรื่องเท่านั้น นิตยสารดรุณีก็ปิดตัว โสภี พรรณรายแค่รู้สึกใจหายบ้างนิด ๆ เพราะไม่ได้คิดจะยึดอาชีพนักเขียนแต่อย่างใด ในเวลานั้นยังเด็กมาก อายุแค่ 20 ปี
นักเขียนหญิงผู้นี้เปิดใจอย่างไม่ปิดบังว่า หลังจากนิตยสารดรุณีปิดตัวไป เธอส่งไปนิตยสารอื่น ๆ 2-3 แห่งก็ไม่ได้ลง
“นี่กล้าพูดให้ฟังเลย ไม่ปิดบัง สมัยนี้ยังง่ายกว่า เพราะมีเปิดรับ สมัยก่อนมีดรุณีฉบับเดียวที่ให้โอกาสนักเขียนใหม่ ถึงได้ลงเรื่อง แฝดสาวเจ้าเสน่ห์”
โสภี พรรณรายหยุดเขียนหนังสือไปประมาณ 1 ปี เพราะไม่มีสนาม แล้ววันหนึ่งโอกาสก็มาถึง ดังที่เธอบอกเล่า
“คุณบำรุง เจ้าของสำนักพิมพ์บำรุงสาส์นแนะนำให้ไปพบบรรณาธิการภาพยนตร์บันเทิง บรรณาธิการจึงชักชวนให้ไปเขียนในภาพยนตร์บันเทิง นวนิยายเรื่องนั้นคือเรื่อง ปิ่นมุก”
นักเขียนหญิงยอดนิยมผู้นี้จึงมีโอกาสเขียนนวนิยายอีกครั้งที่สนามแห่งใหม่และเขียนติดต่อกันนับแต่นั้นมา ก่อนจะก้าวไปเขียนในนิตยสารฉบับอื่น และถึงแม้ว่าเธอจะเขียนหนังสือมากว่า 40 ปีแต่กว่านามปากกา “โสภี พรรณราย”จะเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ต้องใช้เวลาครึ่งค่อนของชีวิตการเขียนเลยทีเดียว
“สำหรับตัวเองแล้วสิบปีแรกยังเงียบอยู่เลย กว่าคนจะรู้จักโสภี พรรณราย ใช้เวลาร่วม 20 ปี คนรู้จักตอนที่เรื่อง สาวน้อยในตะเกียงแก้ว สร้างเป็นละครช่อง 7 ได้รับการฟีดแบ็กดีมาก”
ในเวลานี้นวนิยายแฟนตาซีชุด สาวน้อยในตะเกียงแก้ว ที่แตกแขนงด้วยชื่อเรื่องต่าง ๆ กันมีถึงภาค 5 แล้ว ด้วยนามปากกา “โสภี พรรณราย”แล้ว การันตีได้ว่า ผู้อ่านไม่ผิดหวังอย่างแน่นอน
โสภี พรรณราย เขียนนวนิยายหลายแนว ทั้งแนวรัก แนวชีวิต แนวกระจุ๋มกระจิ๋ม แนวผีหรือแนวบู๊ เธอก็เคยเขียนมาก่อน แต่มีเพียงไม่กี่เรื่องได้แก่ ลูกไม้ไกลต้น หน้ากาก กิเลสมาร ลูกตาลลอยแก้ว ตุ๊กตาเริงระบำ ระบำปลายฟ้า ภูตาลัย สาปคฤหาสน์ ดวงหทัย รอยทรายในแสงจันทร์ คุณหนูเทวดา นางฟ้าไร้ปีก เพชรกินรี วิมานดวงดาว บอดี้การ์ดสาว สาวน้อยในตะเกียงแก้วภาค ๑-๒ ไฟหิมะ กรงเพชร เป็นอาทิ ถึงวันนี้ผลงานของเธอรมทั้งสิ้น 130 เรื่อง
แม้ว่านักเขียนมือทองคนนี้จะเขียนนวนิยายได้หลายแนว หากแนวที่เธอชอบเขียนคือแนวรักกระจุ๋มกระจิ๋ม บ่งบอกให้รู้ว่าเธอเป็นคนโรแมนติก เธอเปิดเผยความรู้สึกจากใจว่า
“เขียนแล้ว มันรู้สึกสบาย มีความสุข เขียนไปอมยิ้มไป ถ้าไม่โรแมนติก คงเขียนเรื่องรักลำบากนะ มันจะไม่เข้าใจอารมณ์ตรงนั้น ตอนยังเป็นหญิงสาว จะหาเรื่องทะเลาะกับแฟนเป็นประจำ เพราะเวลามาคืนดีกัน มันรู้สึกหวานฉ่ำ แต่พอแต่งงานก็ไม่หวานเหมือนเดิมอีกแล้ว เพราะมีภาระหน้าที่ต้องรับผิดชอบ”
ดังนั้น เธอจึงสร้างบรรยากาศโรแมนติกในนวนิยาย โดยผ่านตัวละครแทน เช่นให้พระเอกเอาดอกไม้ให้นางเอก
โสภี พรรณรายยอมรับว่านวนิยายที่เธอเขียนเป็นเรื่องเพ้อฝัน ซึ่งเป็นแนวที่เธอถนัด คนสมัยนี้จะเครียดกับชีวิตประจำวัน คนอ่านอยากจะอ่านเรื่องเบา ๆ แต่คนอ่านบางกลุ่มอาจจะชอบอ่านเรื่องหนัก ๆ เธอเน้นเสียงว่า
“เกือบทุกเรื่อง แปดสิบเปอร์เซ็นต์มาจากจุดเล็ก ๆ บางเรื่องมาจากจินตนาการ บางเรื่องมาจากชีวิตจริง”
เธอเล่าถึงนวนิยายเรื่อง “หน้ากาก” ให้ฟังว่ามาจากชีวิตจริงอันรันทดของพ่อเธอที่ถูกโกง เพราะเป็นคนซื่อ ไว้ใจคนขายบ้าน ซื้อบ้านโดยไม่ทำสัญญา จนต้องฟ้องร้องกัน เจ้าของเก่าจะวิ่งขึ้นศาลบ่อย แต่ในนวนิยาย เธอเปลี่ยนเป็นให้พระเอกวิ่งขึ้นศาล เหตุผลก็คือ...
“มันขมขื่นเกินกว่าที่จะนำชีวิตจริงของพ่อมาเขียนเป็นนวนิยายได้ อีกประการหนึ่ง ถนัดเขียนเรื่องเบา ๆ ซึ่งเป็นแนวของตัวเอง ไม่ถนัดเขียนเรื่องหนัก ๆ”
แน่นอนทีเดียว นักเขียนควรเขียนแนวที่ตนมีความถนัด ฝืนปากกาไม่ได้หรอก งานเขียนก็เปรียบได้กับกับข้าวที่ต้องมีหลายอย่างหลายรสชาติให้เลือกกิน สุดแท้แต่ใครชอบอะไร คนอ่านก็มีหลายกลุ่มหลายแบบ ชอบไม่เหมือนกัน
สำหรับโสภี พรรณรายนั้น คนอ่านชื่นชอบผลงานของเธอเพียงใด วัดได้จากจดหมายของแฟนนักอ่านเขียนถึงเธอด้วยความชื่นชมไม่ใช่น้อยเลย ซึ่งมักจะเป็นคนวัยหนุ่มสาวหรือเด็กรุ่น ๆ
กระนั้นนวนิยายที่เธอเขียนมาทั้งหมด เรื่องที่เธอชอบกลับไม่ใช่แนวกระจุ๋มกระจิ๋ม แต่เป็นนวนิยายชีวิตที่ค่อนข้างหนักคือเรื่อง “กิเลสมาร” ซึ่งเธอชอบเป็นพิเศษ
“เป็นเรื่องราวของมนุษย์ที่ทะเยอทะยานเกินตัว เป็นเรื่องของคนที่อยากรวย ถ้าเขียนนวนิยายชีวิตเมื่อไหร่ จะเน้นเรื่องกิเลสตัณหาของมนุษย์ทุกครั้ง
จากนักบัญชีที่บริษัทการเงินแห่งหนึ่ง ก่อนจะเบนเข็มไปยึดอาชีพนักเขียนเต็มตัว โสภี พรรณรายต้องอดทนรอคอยเป็นเวลานานถึง 20 ปี เมื่อมั่นใจว่าการเขียนหนังสือจะสามารถเลี้ยงชีพได้ เธอจึงลาออกจากงานบริษัท ทำงานที่เธอรักสุดหัวใจ เธอฝากข้อคิดเอาไว้สำหรับนักเขียนใหม่ว่า
“นักเขียนใหม่ต้องอดทนต่อการรอคอย อย่าเพิ่งรีบร้อนเขียนหนังสือเพียงอย่างเดียว ควรมีงานอื่นรองรับก่อน เขียนแนวที่ตนถนัด เขียนด้วยความสนุก นักเขียนใหม่สมัยนี้โชคดีมากที่มีสนามเปิดกว้างในเสนอผลงานทางออนไลน์มากมาย สมัยก่อนเกิดยากมาก แล้วเวลาเขียนส่งต้องให้ตรงกับแนวของเขา”
“หากหัวใจของผู้ใดตายแล้ว มีเพียงสองวิธีเท่านั้นที่จะสามารถบันดาลให้มันฟื้นคืนมาได้ หนึ่ง..คือความรัก หนึ่ง..คือความแค้น”(โกวเล้ง)