ตลอดระยะเวลาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19 ที่ผ่านมา แม้จะมีการประชาสัมพันธ์กระตุ้นให้มีการฉีดวัคซีนเพื่อลดอาการรุนแรง โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบาง หรือกลุ่ม 608 แต่ก็ต้องเผชิญทั้งการต่อสู้กับเสียงวิจารณ์เรื่องคุณภาพและประสิทธิภาพของวัคซีนในช่วงแรกๆ ความกังวลเกี่ยวกับผลข้างเคียง ข่าวปลอมและความขัดแย้งทางการเมืองต่างๆ ทำให้ยังพบว่ามีผู้ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนอยู่
ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักวิจัยด้านไวรัสวิทยา ไบโอเทค โพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana ยกผลวิจัยของแคนาดาเกี่ยวกับความเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุทางถนนกับการฉีดวัคซีนโควิด โดย ทีมวิจัยตั้งสมมติฐานว่า ในกลุ่มคนที่ไม่ยอมฉีดวัคซีนทั้งๆที่หน่วยงานของรัฐพยายามสื่อสารถึงความเสี่ยงของโควิด-19 ในสภาวะที่ร่างกายไม่มีภูมิคุ้มกันมาช่วย ความรู้สึกไม่อยากฉีดวัคซีนด้วยเหตุผลใดๆ อาจเกี่ยวเนื่องไปถึงความอยากต่อต้าน หรือ ความไม่ใส่ใจในกฏจราจรเวลาอยู่บนท้องถนนด้วย
ดร.อนันต์ ระบุว่าทีมวิจัยไปเก็บข้อมูลจากประชากรใน Ontario มากกว่า 11 ล้านคน โดยมีประมาณ 16% ไม่ได้รับวัคซีนโควิด ตัวเลขผู้ประสบเหตุบนท้องถนนเมื่อนำมาเทียบกลุ่มที่ได้และไม่ได้วัคซีน พบว่า กลุ่มที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนมีความเสี่ยงสูงกว่ากลุ่มที่ฉีดวัคซีนมากถึง 72%
ขณะที่ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Yong Poovorawan ว่า “ โควิด 19 การดูแลผู้ป่วย covid ของไทย เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการผ่อนหนักผ่อนเบาในการดูแลผู้ป่วย และจัดการกับการระบาดของโรคโควิด 19 มีทั้งผ่านอุปสรรค อย่างมากมาย โดยเฉพาะในสื่อสังคมออนไลน์ผลลัพธ์ที่ผ่านมาถึงแม้ว่าจะมีการสูญเสีย มีผู้เสียชีวิตสูงถึง อย่างน้อย 33,000 คน หรือเฉลี่ยปีละ 10,000 คน เมื่อดูแล้วก็นับว่ามากพอดู แต่เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศทางตะวันตก ไม่ว่ายุโรปและอเมริกา ในอเมริกาเอง มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 1 ล้านคนในช่วง 3 ปี หรือเปรียบเทียบกับประชากรประมาณ 3,200 คน ต่อประชากร 1 ล้านคน สำหรับของประเทศไทยอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 470 ต่อประชากร 1 ล้านคน หรือน้อยกว่าอเมริกามากกว่า 6 เท่า ข้อมูล จาก Our world in data
อเมริกาเริ่มให้วัคซีนก่อนประเทศไทย และมีการใช้วัคซีนส่วนใหญ่ เป็น mRNA ทั้งสิ้น ก่อนประเทศไทยหลายเดือน แต่ผลระยะยาวทุกคนคงเข้าใจแล้วว่า มาตรการในการดูแลควบคุมโรค ต้องประกอบไปด้วยหลายปัจจัยด้วยกัน ไม่ใช่เฉพาะวัคซีนเท่านั้น เรามีวัคซีน mRNA ใช้ในประเทศไทยช้ากว่าอเมริกาเกือบร่วมปี และในที่สุดก็ทราบว่าวัคซีนแต่ละชนิดไม่มีความแตกต่างกันเลย กาลเวลาที่ผ่านมาได้พิสูจน์ ความคาดหวังแต่เริ่มแรก ได้มีการเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอดขณะนี้เรากำลังกลับคืนเข้าสู่ภาวะปกติ มากขึ้น และในที่สุดเชื่อว่าในปีหน้าก็จะเข้าสู่ภาวะปกติตั้งแต่ Q2 เป็นต้นไป แม้ยังมีโรคนี้อยู่ที่เป็นโรคประจำฤดูกาล
มรสุมที่เราได้ต่อสู้มา ยาวนาน ยิ่งกว่าวิ่งมาราธอน และในที่สุด ก็จะถึงเป้าหมาย และก้าวผ่านไปได้อย่างดี ภูมิต้านทานที่เรามีอยู่ขณะนี้ส่วนใหญ่จะเป็นภูมิต้านทานแบบลูกผสม คือจากวัคซีนและการติดเชื้อ ซึ่งผลที่ได้ มีประสิทธิภาพสูง ถึงแม้ว่าจะมีการติดเชื้อซ้ำได้อีก ความรุนแรงของโรคก็จะลดลงไปตามลำดับ จำนวนผู้ป่วยที่จะต้องนอนโรงพยาบาล หรือป่วยหนัก ก็จะอยู่ในสภาวะที่ระบบสาธารณสุขรองรับได้”
สิ่งที่ นพ.ยงแสดงความเห็นนั้น เราๆท่านๆสามารถย้อนกลับไปตรวจสอบข้อมูลได้ แล้วจะประจักษ์เห็นแจ้ง ส่วนใครที่สร้างมายาคติ จะด้วยขาดความรู้ หรืออคติ ด้วยวิธีใดๆ พวกเขายังคงไม่ได้แสดงความรับผิดชอบกับการสูญเสียที่เกิดขึ้น