ในเชิงการเมืองแล้ว กระแสที่ออกมาต่อต้านและลดทอนความน่าเชื่อถือของการนำเสนอนอโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท ภายใน ปี 2570 ของพรรคการเมืองบางพรรคนั้น มีเสียงเตือนจากคนในแวดวงการเมืองกันเอง ว่าไม่ควรไปปรามาสนโยบายดังกล่าว ด้วยประสบการณ์ในอดีตการนำเสนอนโยบายขึ้นค่าแรง 300 บาทเคยทำให้พรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม ได้รับบทเรียนมาแล้ว

ทว่าการนำเสนอนโยบายในเรื่องค่าแรงออกมาจากพรรคการเมือง ที่ดูมีภาษีมากว่าจะมีชัยชนะในการเลือกตั้งรอบหน้าก็อาจเป็นการส่งสัญญาณที่ผู้เกี่ยวข้องต้องเงี่ยหูฟังไม่น้อย โดยแฉพาะเกิดขึ้นในจังหวะที่เศรษฐกิจไทยทยอยฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง จากการเดินเครื่องยนต์ของภาคท่องเที่ยวเต็มสูบ ในขณะที่มาตรการส่งเสริมการลงทุนจากภาครัฐ กระตุ้นให้เกิดเม็ดเงินการลงทุน จากต่างชาติ ในช่วง 11 เดือนคือ มกราคม -พฤศจิกายน สูงถึง 112,466 ล้านบาท ทว่าภาพรวมเศรษฐกิจโลกชะลอตัว อาจเป็นปัจจัยฉุดการเติบโตของเศรษฐกิจไทยหรือไม่

แม้จะมีบรรดาผู้รู้ด้านเศรษฐกิจ การเงิน ออกมาให้ความเห็นว่า แม้ภาวะเศรษฐกิจโลกจะถดถอย แต่เมื่อถึงต่ำสุดก็จะฟื้นตัวขึ้นมาเอง เป็นวัฏจักรเศรษฐกิจ ซึ่งการวางเป้าหมายไว้ในระยะ 4 ปี จึงไม่น่าจะเป็นอุปสรรค

แต่ในระยะสั้นเฉพาะหน้านี้ เมื่อมีการนำเสนอนโยบายค่าแรงดังกล่าวเมื่อประกาศออกไป หน่วยงานที่เกี่ยวข้องน่าจะมีการศึกษา และติดตามว่า ส่งผลกระทบในเชิงจิตวิทยาต่อนักลงทุนอย่างไร ให้มีข้อมูลอย่างเป็นรูปธรรม

อย่างไรก็ตาม ขอทิ้งท้ายเอาไว้ สำหรับความเห็นของ นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)  ด้วยความเป็นห่วง ความว่า “ค่าแรงขั้นต่ำเป็นผลตอบแทนของแรงงาน ไร้ทักษะ สิ่งที่รัฐทำมาโดยตลอด คือการเพิ่มทักษะให้กับแรงงาน เพื่อให้มีรายได้ตรงกับทักษะที่เขามี ฉะนั้นหากรายได้ของแรงงานขั้นต่ำมีการขยับขึ้น ก็ต้องมีการปรับรายได้ของแรงงานมีทักษะขึ้นไปด้วย เพื่อให้มีกรอบที่ชัดเจนระหว่างแรงงานมีทักษะกับที่ไม่มีทักษะ ภาระก็จะตกอยู่กับผู้ประกอบการ หากมีการปรับขึ้นค่าแรงภาคอุตสาหกรรมก็ต้องปรับไปใช้หุ่นยนต์แทน ตามมาด้วยการปลดคนงาน สิ่งที่ควรทำคือการเพิ่มทักษะแรงงานให้สูงขึ้น และเพิ่มค่าใช้จ่ายตรงนั้น มั่นใจว่าภาคอุตสาหกรรม ยอมรับได้และการปรับเพิ่มเงินเดือนเด็กปริญญาตรีจบใหม่ จะส่งผลกระทบภาคเอกชนและภาครัฐ ซึ่งที่ผ่านมาที่มีการปรับเพิ่มขึ้นเงินเดือนเด็กจบใหม่ 15,000 บาทต่อเดือน ภาครัฐก็ต้องปรับเพิ่มเงินเดือนข้าราชการเช่นกัน เพื่อให้เกิดกรอบที่ชัดเจนระหว่างเด็กจบใหม่และคนที่ทำงานมาก่อนแล้ว ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาระงบประมาณ ที่ผ่านมาเราได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้มีข้อจำกัดของฐานะการเงินการคลัง จึงต้องดูวินัยการเงินการคลังในระยะถัดไป สิ่งที่ควรทำคือการพัฒนาฝีมือแรงงาน ให้มีคุณภาพและปรับเงินเดือนตามฝีมือแรงงาน”