แม้จะมีปฏิกิริยาจากนักลงทุนรายย่อย ปรับลดการเทรดเพื่อแสดงออกถึงการคัดค้านการเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือ ภาษีหุ้น  

โดยนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน มองว่าไม่เหมาะสมและได้ไม่คุ้มเสีย ด้วยเหตุผลว่า ยังไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม ตลาดหุ้นทั่วโลกลดลงหนักจากเงินเฟ้อและปัญหาเศรษฐกิจ จะส่งผลกระทบต่อสภาพคล่อง โดยกระทบนักลงทุนทุกประเภท รวมทั้งรายย่อยที่ลงทุนโดยตรงและลงทุนผ่านกองทุนรวม และนักลงทุนต่างประเทศ  ส่งผลต่อผลประกอบการของทั้งอุตสาหกรรม และส่งผลต่อเม็ดเงินที่บริษัทใน Real Sector (กลุ่มอุตสาหกรรม) จะสามารถระดมทุนโดยการออกหุ้นสามัญเพื่อนำไปใช้ในการขยายกิจการ            

“ตลาดหลักทรัพย์ฯ นอกจากจะเป็นแหล่งระดมเงินทุนสำหรับผู้ประกอบการแล้ว ยังทำให้เกิดการจัดเก็บภาษีนิติบุคคลนำส่งรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 80% ของบริษัทเอกชนที่เสียภาษีในประเทศไทย และยังทำให้เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้ให้คนไทย มาเป็นเวลากว่า 48 ปี รายได้ภาษีขายหุ้นที่รัฐคาดว่าจะได้รับประมาณ 1.6-2 หมื่นล้าน จะไม่คุ้มค่ากับผลลบที่จะเกิดกับตลาดทุน แหล่งระดมทุนสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่จะเติบโตเป็นฟันเฟืองทางเศรษฐกิจของประเทศ”

อย่างไรก็ตาม ท่าทีของรัฐบาล โดยนายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพากร คาดว่า ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะ และกำหนดกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. จะประกาศในราชกิจจานุเบกษาได้ในเดือน มกราคม 2566 และเริ่มเก็บภาษีได้ในวันที่ 1 ของเดือนที่ 4 ถัดไป น่าจะเป็นวันที่ 1 พฤษภาคม  2566

ทั้งนี้ กฎหมายกำหนดให้สมาชิกของตลาดหลักทรัพย์ฯ (Broker) ที่เป็นตัวแทนของผู้ขายมีหน้าที่หักภาษีธุรกิจเฉพาะจากเงินที่ขายและยื่นแบบแสดงรายการภาษี และชำระภาษีในนามตนเองแทนผู้ขาย โดยผู้ขายไม่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีอีก

อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ยกเว้นการจัดเก็บภาษีดังกล่าวมามากกว่า 30 ปี ซึ่งการยกเลิกการยกเว้นการจัดเก็บภาษีในครั้งนี้ อาจส่งผลให้ต้นทุนการทำธุรกรรมในตลาดหลักทรัพย์ ของไทยสูงขึ้นจาก 0.17% เป็น 0.22% แต่ยังอยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันได้ โดยต่ำกว่าของมาเลเซีย ซึ่งอยู่ที่ 0.29% และของฮ่องกงซึ่งอยู่ที่ 0.38% แต่อาจสูงกว่าของสิงคโปร์ซึ่งอยู่ที่ 0.20% เล็กน้อย

สำหรับการจัดเก็บภาษีขายหุ้นนั้น แบ่งการจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะเป็น 2 ช่วง ในอัตรา ดังนี้

ช่วงที่ 1 จัดเก็บในอัตรา 0.05% (0.055% เมื่อรวมกับภาษีท้องถิ่น) ตั้งแต่วันที่ พระราชกฤษฎีกามีผลใช้บังคับ จนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 66

ช่วงที่ 2 จัดเก็บในอัตรา 0.1% (0.11% เมื่อรวมกับภาษีท้องถิ่น) ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2567 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ เราเห็นว่า การเก็บภาษีจากผู้มีรายได้ คือกลไกที่ถูกต้องของการสร้างความเท่าเทียม เช่นเดียวกันกับผู้ที่มักอ้างเหตุหลบเลี่ยงไม่เข้าร่วมโครงการรัฐ  ในบางโครงการโดยอ้างเหตุว่าจะเป็นช่องทางให้ถูกเก็บภาษี โดยที่ไม่ได้คิดว่าที่ผ่านมาได้ใช้สิทธิประโยชน์และสวัสดิการจากเงินภาษีของผู้มีรายได้กลุ่มอื่นๆ โดยเฉพาะมนุษย์เงินเดือน