จบลงไปแล้วสำหรับการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 แต่กรณีอื้อฉาวกระฉ่อนโลก ยังเป็นควันหลงให้ได้ติดตามกันต่อไป หลังจากกาตาร์เจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก ถูกโจมตีว่ามีปัญหาการทุจริตและละเมิดสิทธิมนุษยชน

โดยถูกกล่าวหาว่าติดสินบน นักการเมือง ระดับรองประธานรัฐสภายุโรป เอวา ไคลี ที่ถูกควบคุมตัวพร้อมผู้ต้องสงสัยอีก 3 คน  ในข้อหามีพฤติกรรมเข้าข่ายพัวพันกับองค์กรอาชญากรรม การฟอกเงินและการทุจริต ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ทำการตรวจค้นบ้านพักของเธอ พบหลักฐานเป็นถุงเงินสดในบ้านพัก  มูลค่า 600,000 ยูโร หรือ กว่า 21,900,000 บาท

เมื่อย้อนกลับมาดูประเทศไทย กรณีติดสินบนข้ามชาติ มีคดีกระฉ่อนโลก ที่ขอหยิบยกมาเป็นอุทาหรณ์ ให้ทุกภาคส่วนได้ตระหนัก ในช่วงที่ไทยกำลังเฟื่องฟู บูมเศรษฐกิจการท่องเที่ยวกันอย่างคึกคัก

คือคดีที่นางจุฑามาศ ศิริวรรณ อดีตผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) รับสินบนจำนวน 60 ล้านบาท จากนายเจอรัลด์ และนางแพทริเซีย กรีน นักสร้างภาพยนตร์ชาวอเมริกัน เพื่อให้ได้สิทธิ์การจัดนิทรรศการภาพยนตร์นานาชาติ ที่กรุงเทพฯ เมื่อปี 2550

คดีนี้ เกิดจากการที่ศาลสหรัฐอเมริกาและเอฟบีไอ ได้ดำเนินคดีตามกฎหมาย FCPA ของสหรัฐกับนายเจอรัลด์และนางแพทริเซีย กรีน ในข้อหาให้สินบนกับนางจุฑามาศ ทำให้นายเจอรัลด์และนางแพทริเซีย กรีน ถูกศาลสหรัฐอเมริกาพิพากษาให้มีความผิดและถูกตัดสินจำคุก 6 เดือน จากนั้นจะถูกกักบริเวณในบ้านอีก 6 เดือน และต้องจ่ายค่าชดใช้ 250,000 ดอลลาร์ หรือประมาณ 8 ล้านบาท ส่วนนางจุฑามาศ ศิริวรรณ และบุนางจิตติโสภา ศิริวรรณ บุตรสาวนั้น ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดีเรียกรับสินบนจัดงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ กรุงเทพมหานคร ปี 2545 พิพากษาจำคุกนางจุฑามาศ 50 ปี และ บุตรสาว 40 ปี ในความผิดฐานเรียกรับทรัพย์สินหรือจะยอมรับทรัพย์สิน เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในหน้าที่ ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือไม่ชอบด้วยหน้าที่ และความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ในขณะที่มีการติดตามไล่ล่ายึดทรัพย์ในคดีทางเพ่ง ที่มีการโอนเงินระหว่างประเทศหลายทอด  

ที่หยิบยกมา ก็เพื่อหวังจะกระตุกเตือนใจ ให้ทุกภาคส่วนตระหนัก และมีจิตสำนึก ทั้งผู้รับและผู้ให้  อย่าคิดว่ายอมติดคุกและลดโทษไปเรื่อยๆ แล้วจะได้ออกมาใช้เงินได้สบายใจยามแก่ เพราะโรคภัยสมัยนี้ มันมีอุบัติใหม่เข้ามาเรื่อยๆ อาจไม่ได้ใช้เงินชาตินี้