ข่าวสำนักงานตำรวจแห่งชาติประชุมหน่วยงานในสังกัดให้เข้มงวดป้องกันการก่อร้ายใน กทม. ซึ่งการข่าวระบุด้วยว่า อาจจะเป็นคาร์บอมบ์ เรื่องนี้ย่อมตกเป็นข่าวใหญ่หน้าหนึ่ง แน่นอน และอาจจะทำให้ผู้คนบางส่วนตื่นตระหนกได้
แต่เมื่อย้อนดุบทเรียนในอดีตแล้ว เราก็เห็นด้วยกับการเสนอข่าวของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ การเตือนภัยกันบ้างดีกว่าปล่อยให้มึนชาไม่ใส่ใจระวังป้องกันเสียเลย
งานนี้ถือเป็นการ “ขันน็อต” และ/หรือ “ซ้อมใหญ่” ตระเตรียมไว้เป็นระยะ ๆ อย่างน้อยก็น่าจะเกิดการตรวจสอบกล้องวงจรปิดทั่ว กทม. ว่ายังใช้งานได้จริงหรือไม่ ? มีการเข้มงวดตรวจสอบบุคคลน่าสงสัยมากขึ้น เป็นต้น คาร์บอมบ์ในจุดท่องเที่ยวหลายจังหวัดก็เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ การ “ขันน็อต” ตำรวจใน กทม.และปริมณฑลจึงจำเป็น
ในอดีตคนไทยถูกทำให้เข้าใจว่า ประเทศไทยไม่ใช่เป้าหมายของผู้ก่อการร้าย แต่บัดนี้เราเห็นว่าสถานการณ์เปลี่ยนไป และไทยกลายเป็นเป้าหมายของผู้ก่อการร้ายแล้ว
การก่อการร้ายในปัจจุบันนั้นไร้พรมแดนมีกองกำลังกระจายเป็นกลุ่มเล็ก ๆ และมีอำนาจตัดสินใจปฏิบัติการโดยอิสระมากขึ้น แม้ว่าในอดีตประเทศไทยไม่ใช่เป้าหมายโดยตรงของการก่อการร้ายสากล แต่เพราะการที่ประเทศไทยเป็นประเทศเปิดเสรี ทำให้ผู้ก่อการร้ายสากลได้ใช้ประเทศไทยเป็นเส้นทางผ่าน และแหล่งพักพิงชั่วคราวและแหล่งจัดหาสิ่งสนับสนุนปฏิบัติการ
ประเทศไทยเป็นที่ตั้งของบริษัท หน่วยงานของประเทศต่าง ๆ ที่เป็นคู่กรณีที่ขัดแย้งกันซึ่งมีการดำเนินการทั้งพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวากลุ่มชาตินิยม กลุ่มศาสนา กลุ่มปฏิวัติ และรัฐบาล เหตุผล ที่ผู้ก่อการร้ายสากลเลือกที่จะใช้ประเทศไทยเป็นเป้าหมายในการปฏิบัติงาน เพราะไทยมีปัจจัยเกื้อกูลหลายประการ เช่น เป็นศูนย์กลางการคมนาคม การบังคับใช้กฎหมาย
หลายท่านก็อาจจะไม่ทราบว่า จากการประเมินข้อมูลปี 2557 ของหน่วยงานสากล ประเทศไทยเรามีการก่อร้ายสูงเป็นอันดับสิบของโลกแล้ว สถาบันเศรษฐศาสตร์และสันติภาพ (Institute for Economics and Peace : IEP) ร่วมกับกลุ่มวิชาการระหว่างประเทศ เผยรายงานดัชนีก่อการร้ายโลก หรือ 2015 Global Terrorism Index ซึ่งประเมินจากความเสียหายที่เกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายในปี 2557 จากการสำรวจใน 162 ประเทศทั่วโลก พบประเทศไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 10 รองจาก อิรัก อัฟกานิสถาน ไนจีเรีย ปากีสถาน ซีเรีย อินเดีย เยเมน โซมาเลีย และลิเบีย
สำหรับในปีที่ผ่านมามีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายในประเทศไทย จำนวน 156 ราย เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 16 แต่ยังคงน้อยกว่าตัวเลขสูงสุด 255 ราย เมื่อปี 2552 โดยความสูญเสียส่วนใหญ่มาจากเหตุความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขณะที่การก่อเหตุในกรุงเทพฯ ในปี 2557 อยู่ที่ 58 ครั้ง เพิ่มขึ้นถึง 5 เท่าจากปีก่อนหน้าที่มีการก่อเหตุ 9 ครั้ง
ทั้งนี้ ถือได้ว่าในปี 2557 เป็นปีที่สถานการณ์การก่อการร้ายรุนแรงที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกมา โดยมีผู้เสียชีวิตมากถึง 32,658 ราย การก่อการร้ายวางระเบิดในแหล่งท่องเที่ยวพร้อมกันในเจ็ดจังหวัด เป็นสิ่งยืนยันว่า ผู้ก่อการร้ายมีศักยภาพที่จะก่อเหตุใหญ่มากขึ้นได้ การตรวจสอบ , ทบทวน , ฝึกซ้อม การป้องกันภัยก่อการร้ายจึงเป็นเรื่องจำเป็น