ทวี สุรฤทธิกุล

คนแก่หลายคนรู้ว่าตัวเองไม่ได้อยู่ค้ำฟ้า แต่ก็หวงบ้านเพราะกลัวลูกหลานดูแลไม่ดี

ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2528 ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้ลาออกจากหัวหน้าพรรคกิจสังคม ผู้เขียนในฐานะเลขานุการของท่านในตอนนั้นเป็นคนพิมพ์ใบลาออกและเอาไปส่งที่บ้านของเลขาธิการพรรคด้วยตนเอง ยังจำได้ว่าหลายวันต่อมาท่านพาพวกเราไปทานอาหารที่โรงแรมใหญ่ก็มีคนมาร้องไห้ แล้วบอกว่าเสียดายที่ท่านวางมือทางการเมือง ท่านพูดปลอบใจชายคนนั้นว่า อย่าห่วง “ก้อนหิน” ก้อนเดียวนี้เลย โยนมันลงน้ำไป น้ำมันก็กระเพื่อมเป็นวงออกไปอยู่ชั่วครู่แล้วก็ไหลต่อไปดังเดิม น้ำเก่าก็ไหลลงไป น้ำใหม่ก็ไหลมาแทนที่ เป็นวัฏจักรดังนั้นแล

ต่อมาท่านได้เขียนบทความในคอลัมน์ซอยสวนพลู อธิบายถึงเรื่อง “การโยนก้อนหินลงน้ำ” ทั้งยังแต่งเป็นกลอนที่ไพเราะงดงาม เสียดายที่ผู้เขียนค้นหาไม่ได้และจำไม่ได้ทั้งหมด จำได้แต่ชื่อกลอนว่า “คนที่หาใครแทนที่ไม่ได้” ซึ่งท่านบอกว่าไม่มีคนแบบนั้นในโลก และคนที่คิดแบบนั้นก็คือคนที่หลงตัวเองอย่างหนัก ทั้งยังดูหมิ่นดูแคลน(ภาษาปัจจุบันอาจจะพูดว่า “ด้อยค่า”)ผู้อื่นอย่างมาก สำหรับตัวท่านเองแล้วไม่ได้คิดว่าตัวเองเป็นคนสำคัญแต่อย่างใด ก็เหมือนก้อนหินก้อนหนึ่งในก้อนหินนับล้าน ๆ ก้อน ที่ก็คือคนแต่ละคนที่ถูกพระเจ้าโยนไปในน้ำ แต่ละก้อนก็แสดงพลังได้เพียงชั่วครู่ คือมีชีวิตอยู่เพียงเวลาสั้น ๆ ทุกคน จากนั้นหินทุกก้อนก็ต้องจมลงในน้ำ เหมือนชีวิตที่หายตายไป จากนั้นหินก้อนใหม่ก็จะถูกโยนตามมาเรื่อย ๆ ต่อเนื่องไปไม่สิ้นสุด

ในปี 2530 เกิดกรณี “ฎีกา 99 นักวิชาการ” ที่เสนอให้พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งมากว่า 8 ปีแล้วนั้น เวลานั้นผู้เขียนได้ทำงานเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยสุโขธรรมาธิราชแล้ว ก็เป็นผู้หนึ่งที่ร่วมลงชื่อด้วย ทั้งยังได้นัดหมายให้ท่านอาจารย์ชัยอนันต์ สมุทวณิช ผู้เป็นแกนนำได้เข้าพบกับท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ที่บ้านสวนพลู เพื่อขอรับการสนับสนุนในข้อเสนอดังกล่าวนั้นด้วย ซึ่งท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ก็บอกว่าท่านเห็นด้วยกับเหตุผลในฎีกาดังกล่าว โดยเฉพาะในเรื่องที่ว่าการอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไปของพลเอกเปรมจะนำ “อันตราย” มาสู่สถาบันสูงสุดที่คนไทยเคารพเทิดทูนนั้นได้ เพราะสิ่งนี้คือสิ่งที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ยึดมั่นเป็นสรณะ ใครจะมาอาจเอื้อมทำลายให้เสื่อมเสียไม่ได้

ตัดฉากมาที่กรณีการอยู่เกิน 8 ปีของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ยังมีโชคโดยรัฐธรรมนูญ 2560 บอกว่าไม่ให้นับเวลาที่เป็นนายกรัฐมนตรีก่อนที่รัฐธรรมนูญนี้ได้ประกาศใช้ ที่เป็นมาแล้ว 5 ปี นั่นคือท่านจะเป็นนายกรัฐมนตรีได้ถึง พ.ศ. 2568 รวมแล้วก็ 11 ปีแค่นั้น แต่นั่นแหละไม่ว่าเรื่อง “โรคอยากอยู่ยาว” นี้ใครจะเป็นคนสร้างขึ้น หรือรัฐธรรมนูญ 2560 นั้นจะเป็นอุบัติเหตุเหมือนไวรัสโควิดที่พวกนักวิทยาศาสตร์ทำหลุดจากห้องแล็บ มันก็ได้สร้างความเสียหายต่อการเมืองไทยเป็นอย่างมาก โดยที่ระบอบประยุทธ์ได้ “ข่มทับ” ระบอบประชาธิปไตยที่สภาผู้แทนราษฎรควรจะต้องเป็นใหญ่และเป็นหลักประเทศ แต่ระบอบประยุทธ์ได้ทำให้เห็นว่าระบอบผู้แทนฯนั่นวุ่นวายเละเทะ ต้องใช้ระบอบที่ค้ำจุนด้วยกองทัพเท่านั้น ประเทศชาติจึงจะสงบเรียบร้อย ซ้ำร้ายยังอ้างถึงการปกป้องชาติศาสน์กษัตริย์ ว่าไม่อาจจะมีใครมาทำหน้าที่นั้นได้ ดังจะเห็นได้จากการเลือกตั้งที่กำลังจะมีในครั้งต่อไปล้วนตกอยู่ในกำมือของพลเอกประยุทธ์ ทั้งในเรื่องปล่อยเหยื่อล่อปลาให้พรรคต่าง ๆ หันมาหนุนตัวเอง เพราะอำนาจที่จะยุบสภาหรือจะให้อยู่ครบเทอมนั้นอยู่ในมือของท่าน รวมถึงการจัดตั้งรัฐบาลในครั้งต่อไป ที่ไม่ต้องห่วงพรรคการเมืองใด ๆ เพราะมีพรรควุฒิสภาอยูในมือกว่า 250 เสียงนั้นแล้ว ดังนั้นถ้าแนวคิดนี้เป็นจริง ระบอบประยุทธ์นั้นก็ยิ่งน่ากลัว เพราะมุ่งทำลายอำนาจของประชาชนให้หมดสิ้นไป เหลือไว้แต่อำนาจของผู้ยึดกุมรัฐธรรมนูญ ที่เป็นจริงว่า “ใครเป็นผู้ร่าง เขาก็ร่างเพื่อพวกเขานั้นเอง”

ถ้าจะมองพลเอกประยุทธ์ในอีกมุมหนึ่ง ท่านอาจจะไม่ได้มีความฉลาดหลักแหลมพอที่จะคิดทำลายระบอบประชาธิปไตยในแนวทางนั้น แต่ท่านอาจจะเพียงแค่ “หวงบ้าน” อยากอยู่เฝ้าบ้านที่ชื่อว่าประเทศไทยนี้ต่อไปอีกสักระยะ โดยอาจจะคิดว่าไม่มีใครมาทำหน้าที่นี้ได้ หรือไม่ก็ไม่ไว้ใจที่จะให้ใครมาทำแทน แต่ท่านไม่ได้มองว่าท่านไม่ได้อยู่ค้ำฟ้า ท่านควรจะปล่อยมือแล้วให้คนอื่นมาทำแทนต่อไป แต่ก็เป็นโชคร้ายของประเทศไทยที่คนที่จะมาทำแทนคือนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งก็มาทะเลาะกันเอง อันเป็นอีกเหตุอ้างหนึ่งที่ทำให้พลเอกประยุทธ์จะต้องอยู่ทำหน้าที่ต่อไป ปัญหาของประเทศไทยจึงไม่ใช่ปัญหาของการขาดแคลนผู้ที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรี แต่เป็นปัญหาว่าไม่มีตำแหน่งอื่นที่จะให้พลเอกประยุทธ์เป็น นอกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเท่านั้น

ขอปิดท้ายด้วยเรื่องส่วนตัวแต่ก็เป็นปัญหาระดับชาติเหมือนกัน เพราะเป็นเรื่องของ “จริยธรรมทางการบริหาร” เช่นเดียวกันกับปัญหาทางจริยธรรมของพลเอกประยุทธ์ที่ยังไม่ยอมปล่อยมือจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้น นั่นก็คือการดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ของของศาสตราจารย์วิจิตร ศรีสอ้าน (เกิดวันที่ 22 ธันวาคม 2477 อายุย่าง 88 ปี) ที่ดำรงตำแหน่งนี้มาอย่างยาวนานเกิน 8 ปีแล้ว และกำลังเป็นเรื่องราวถึงขั้นมีผู้ร้องเรียนไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาฯ (อว.) เพราะมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชกำลังจะเสนอให้ศาสตราจารย์วิจิตรเป็นนายกสภามหาวิทยาลัยต่อไปอีก แต่รัฐมนตรี อว.ได้ยับยั้งไว้ ขอให้มีการตรวจสอบเรื่องนี้ให้เรียบร้อยเสียก่อน ซึ่งก็น่าติดตามว่าเรื่องนี้จะเป็นอย่างเรื่อง “คนแก่หวงบ้าน” นี้อีกหรือไม่

ผู้เขียนเองในทางส่วนตัวก็มีความเคารพนับถือศาสตราจารย์วิจิตรเป็นอย่างมาก เพราะได้รับความเอ็นดูจากท่านตั้งแต่ครั้งแรกที่เข้ามาอยู่ในมหาวิทยาลัยนี้ใน พ.ศ. 2530 เสมอมา จึงออกจะเห็นใจท่านที่จะต้องอยู่ในภาวะ “หวงบ้าน” เพราะมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของท่านที่ท่านปลุกปั้นสร้างขึ้นมากับมือ ยิ่งในตอนหลังที่โลกการศึกษาเกิด “พลิกผัน” ระบบออนไลน์เกิดขึ้นกับทุกมหาวิทยาลัย ทำให้มหาวิทยาลัยเปิดแบบมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชได้รับผลกระทบอย่างหนัก จนดูเหมือนว่าจะแข่งขันกับใคร ๆ ไม่ได้เสียแล้ว ก็ยิ่งเห็นใจท่านว่ายังจะต้องมารับเคราะห์กรรมนั้นอยู่อีกหรือ

ที่ภายในมหาวิทยาลัยมีสระน้ำใหญ่อยู่ตรงกลางนั้น อยากให้ท่านเอาก้อนหินโยนลงไปแล้วคอยดูสิ่งที่เกิดขึ้น ยิ่งก้อนหินที่มีตำแหน่งใหญ่ ๆ เช่นอย่างท่าน ก็แค่คลื่นใหญ่ ๆ ตูมหนึ่งเท่านั้น แต่ถ้ามันมีปลามีเต่าอยู่ข้างใต้ อันตรายจากก้อนหินใหญ่นี้ก็สยดสยองยิ่งนัก