รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์

ประธานที่ปรึกษาสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต       

หมู่นักวิชาการแวดวงคอมพิวเตอร์หรือเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารให้นิยามคำว่า “ข้อมูล” “สารสนเทศ” และ “องค์ความรู้” ไว้ในตำราที่เขียนกันมาหลายปีแล้วทำนองเดียวกันไว้ว่า ...

ข้อมูล (Data) หรือ ข้อมูลดิบ (Raw Data) คือ ข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ หรือเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอาจเป็นคน สัตว์ สิ่งของ หรือเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ถูกเก็บบันทึกเอาไว้โดยยังไม่ผ่านกระบวนการประมวลผล วิเคราะห์ หรือแปลงสภาพ ลักษณะของข้อมูลอาจอยู่ในรูปตัวเลข ตัวอักษร ข้อความ หรือสัญลักษณ์ เช่น ราคาทองคำในแต่ละวัน นอกจากนี้ยังอาจอยู่ในรูปของภาพและเสียง เช่น บันทึก
การสัมภาษณ์ผู้บริหาร

สารสนเทศ/สารนิเทศ (Information) คือ ข้อมูลที่ผ่านการประมวลผล วิเคราะห์ และจัดการให้มีความถูกต้อง ทันสมัย และสามารถนำไปใช้งานได้ตามที่ต้องการผ่านการจัดระบบ เรียบเรียง และจัดหมวดหมู่ เช่น รายงานยอดนักเรียนที่สมัครสอบเข้ามหาวิทยาลัยย้อนหลัง 5 ปี

องค์ความรู้ (Body of Knowledge) คือ สารสนเทศที่ผ่านการวิเคราะห์ กลั่นกรอง หรือคัดเลือกเพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ตามที่ต้องการอย่างมีประสิทธิภาพผ่านการทำความเข้าใจและเชื่อมโยงหาความสัมพันธ์ระหว่างชุดข้อมูล องค์ความรู้ต้องอาศัยประสบการณ์เกี่ยวกับวิธีการเลือกสารสนเทศมาใช้ในการแก้ไขปัญหาอย่างเหมาะสม

ด้วยการมาถึงของยุคดิจิทัล (Digital Age) ได้เกิดคำศัพท์ใหม่ ๆ เกี่ยวกับข้อมูล และนักวิชาการหรือผู้รู้ก็มีการกำหนด ปรับเปลี่ยน ขยาย และแก้ไขนิยามให้สอดคล้อง ทันสมัย และเข้ากับสถานการณ์จริง ๆ อย่างเช่น

ข้อมูลดิจิทัล (Digital Data) หรือ ‘เชิงเลข’ ตามทฤษฎีข้อมูลหรือระบบข้อมูล หมายถึง ข้อมูลหรือชิ้นงานต่าง ๆ ในรูปแบบของตัวเลข โดยเฉพาะเลขฐานสอง ที่ไม่ต่อเนื่องกัน สำหรับที่มาหรือแหล่งข้อมูลดิจิทัลในวันนี้และอนาคตมาจากการทำธุรกรรม (Transactions) ข้อมูลบนคลาวด์คอมพิวติ้ง โซเชียลมีเดีย Internet of Things  ซึ่งลักษณะข้อมูลอาจเป็นภาพ เสียง กราฟ ข้อความ และสัญลักษณ์

บิ๊กดาต้า (Big Data) เป็นข้อมูลขนาดใหญ่มาก ข้อมูลอาจอยู่ในรูปไม่มีโครงสร้าง (Unstructured) กึ่งโครงสร้าง (Semi-structured) และมีโครงสร้าง (Structured) และ 80% ของบิ๊กดาต้าปรากฏว่าเป็นข้อมูลดิจิทัลแบบไม่มีโครงสร้าง และอีก 20% เป็นข้อมูลดิจิทัล
แบบมีโครงสร้าง

อดีตที่ผ่านมายุคที่ข้อมูลยังไม่เป็น Big Data แบบทุกวันนี้ ฐานข้อมูลที่พวกเราต่างคุ้นเคยดี เช่น SAP, Microsoft Excel, Oracle, Microsoft SQL Server, IBM DB2, PostgreSQL, MySQL, Teradata ก็สามารถใช้จัดการข้อมูลได้อย่างเพียงพอแล้ว แต่พอมาเป็น
Big Data ทำให้ต้องนำเอาเครื่องมือใหม่ ๆ ที่สร้างขึ้นมารองรับเสริมเข้าด้วย เช่น Hadoop

การเดินทางของข้อมูล (Data Journey) เป็นบันทึกเส้นทางที่ข้อมูลเดินทางตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุดการเดินทาง (การนำไปใช้)  หรือง่าย ๆ คือ เป็นเรื่องของการแปลงข้อมูลดิบ (Raw Data) ให้กลายเป็นข้อมูลเชิงลึก (Data Insights) ที่เป็นงานของ Data Analyst ‘นักวิเคราะห์ข้อมูล’ หรือผู้ที่ทำหน้าที่ค้นหาสิ่งต่าง ๆ ที่แอบซ่อนอยู่ในข้อมูลผ่านการทำความเข้าใจข้อมูลต่าง ๆ ขององค์กรที่เกิดขึ้นและจัดเก็บไว้ แล้วนำมาวิเคราะห์ พร้อมกับนำเสนอในรูปแบบที่เข้าใจได้ง่าย ๆ ตัวอย่างเครื่องมือช่วยที่รู้จักกันดีคือ Google Data Studio หรือปัจจุบันเรียกว่า Looker Studio

การรู้ข้อมูล (Data Literacy) เป็นการกำหนดแนวคิดใหม่เกี่ยวกับการรู้ข้อมูลว่าจะต้องมากกว่าความสามารถในการอ่าน ทำความเข้าใจ สร้าง และสื่อสารข้อมูลเป็นสารสนเทศ ซึ่งการรู้ข้อมูลนี้เกี่ยวกับความสามารถและความเต็มใจที่จะใช้ข้อมูลในการตัดสินใจ องค์กรสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่เข้าถึงได้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของข้อมูล โดยตั้งอยู่บนรากฐานที่สำคัญคือ ความสามารถด้านข้อมูล (Data Ability) ขององค์กร ซึ่งก็คือการรู้ข้อมูลที่เป็นความสามารถในการรับข้อมูลที่มีความหมายจากข้อมูลแล้วใช้ข้อมูลนี้สำหรับ
การตัดสินใจ

นอกจากนี้ ความน่าไว้วางใจ (Trust) ที่จัดว่าเป็นตัวแปรหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อผลการดำเนินงานขององค์กร พบว่าระดับความ น่าไว้วางใจขององค์กรสัมพันธ์กับความน่าเชื่อถือของข้อมูลองค์กรใน 3 มิติคือ 1) แรงบันดาลใจด้านข้อมูล (Data Aspirations) 2) สินทรัพย์ข้อมูล (Data Assets) และ 3) ความสามารถด้านข้อมูล (Data Abilities)

ความสำเร็จในอนาคตขององค์กรต่าง ๆ ส่วนสำคัญนั้นขึ้นอยู่กับการรวบรวม จัดการ และวิเคราะห์ข้อมูลให้มีประสิทธิภาพ
มากขึ้น ข้อมูลเชิงลึกนำมาใช้ช่วยการตัดสินใจที่ชาญฉลาดยิ่งขึ้น และพึงจำไว้ว่า “ข้อมูลก็เหมือนภูเขาน้ำแข็ง” ปัจจุบันมีเพียง 20% ของข้อมูลที่ได้รับการจัดการและวิเคราะห์ ส่วนอีก 80% (ส่วนหนึ่งของภูเขาน้ำแข็งใต้น้ำ) ของข้อมูลไม่ได้นำเอามาใช้ ข้อมูลเปรียบเป็นทรัพย์สินอันมีค่าขององค์กร ในการขุดทรัพยากรข้อมูล (น้ำมัน) ทั้งข้อมูลที่มีโครงสร้างและข้อมูลที่ไม่มีโครงสร้างเป็นความท้าทายขององค์กรในอนาคต และ ณ วันนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นการเดินทางของข้อมูลใหม่บนนิยามใหม่ของข้อมูลเท่านั้นครับ

“ข้อมูล” จึงเป็นสินค้าอมตะที่ขายได้ตลอดเวลา เพราะคนเรา “ต้องการ” นั่นเอง…