แนวโน้มสถานการณ์เศรษฐกิจไทยที่กำลังโงหัวขึ้น จากการเปิดประเทศ ผ่อนคลายมาตรการต่างๆ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ กำลังออกดอกผล โดยมีปัจจัยบ่งชี้ที่น่าสนใจ จากทั้งสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. เปิดเผย ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ไตรมาสที่ 3 ปี 2565 ของไทย ขยายตัวร้อยละ 4.5 ซึ่งเป็นการขยายตัวต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปี 2564 ที่ร้อยละ 1.8 โดยการบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาคเอกชนและการส่งออกบริการขยายตัวเร่งขึ้น ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญ
ขณะที่สภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผย ผลสำรวจในเดือนพฤศจิกายน 2565 “ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index)” พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index: ICI) ในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 124.42 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 14.3% จากเดือนก่อนหน้า ขึ้นมาอยู่ในเกณฑ์ "ร้อนแรง" โดยความเชื่อมั่นของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติปรับเพิ่มมากขึ้นถึง 40.0% อยู่ที่ระดับ 140.00 โดย หมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดท่องเที่ยวและสันทนาการ (TOURISM) หมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดแฟชั่น (FASHION) และปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ การฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว
ตัวเลขอีกตัวหนึ่งก็คือ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนพฤศจิกายน 2565 โดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจ พบว่า ดัชนีมีการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 มาอยู่ที่ ระดับ 47.9 ทั้งนี้ เป็นผลมาจากสำนักงานสภาพัฒนา การเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเปิดเผยเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 3 ขยายตัว 4.5% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2 ที่ขยายตัวเพียง 2.5% โดยมีปัจจัยบวกมาจากการผ่อนคลายมาตรการในการควบคุมโควิด-19 รวมถึงนโยบายในการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีการผ่อนคลายมากขึ้น โดยมีการปรับประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจในปีนี้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 3.2% ซึ่งเศรษฐกิจที่ขยายตัวมาจากแนวโน้ม การบริโภคของภาคเอกชนที่มากขึ้น การลงทุนของ ภาครัฐและเอกชนรวมถึงเม็ดเงินจากภาคการท่องเที่ยว ที่เพิ่มขึ้น ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2566 คาดว่า จะขยายตัวอยู่ที่ 3-4% จากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวการขยายตัวของการลงทุนและการขยายตัว อย่างต่อเนื่องของการบริโภครวมถึงภาคเกษตรที่ขยายตัวดี
เมื่อดูปัจจัยทั้ง 3 จะมองเห็นโอกาสและความหวัง ในการที่จะฟื้นฟูเศรษฐกิจ ให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ยังมีคำเตือนให้เฝ้าระวัง ปัจจัยที่จะฉุดรั้งการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทย จากปัจจัยของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว โดยเฉพาะในปีหน้านี้ จะกลายเป็นกับดักสำคัญที่ทุกฝ่ายจะต้องข้ามผ่าน ไปทั้งมาตรการและนโยบายจากภาครัฐ ภาคเอกชนที่เข้มแข็ง รวมทั้งภาคประชาชน