เสรี พงศ์พิศ
FB Seri Phongphit
ข่าวไม่ตื่นเต้น คนไม่สนใจ ระหว่างปี 2021-2022 มีรัฐประหารใน 2 ประเทศแอฟริกา ทหารยึดอำนาจจากประธานาธิบดีของกีเนีย ซึ่งเป็นคนแรกที่ได้รับการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย และทหารโค่นผู้นำของบูร์กินา ฟาโซ ที่มาจากรัฐประหารก่อนนั้น
ข่าวตื่นเต้น คือ การบุกรัฐสภาอเมริกันเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2021 และการวางแผนยึดอำนาจในเยอรมนีแต่ถูกกวาดล้างเมื่อวันที่ 7 ธันวาคมที่ผ่านมา วันเดียวกับที่นายเปโดร คาสติโญ ประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งของเปรูประกาศยุบสภาเพื่อตั้งรัฐบาลใหม่ และร่างรัฐธรรมนูญใหม่
สามกรณีนี้ทำความประหลาดใจให้โลก โดยเฉพาะการบุกรัฐสภาอเมริกัน ที่อ้างตนเป็น “แม่แบบ” ประชาธิปไตย แต่กลับแสดงให้เห็นความพยายามใช้อำนาจ และแก้ปัญหาด้วยความรุนแรง มีการยิงกันตายรายวันทีละหลายศพ เป็นสังคมที่แตกแยก ขัดแย้ง แบ่งฝักแบ่งฝ่าย เหยียดผิว
สหรัฐอเมริกาอ้างหลักนิติธรรม (rule of law) แบบมือถือสากปากถือศีล (hypocrite) ทั้งในบ้านตนเองและกับประเทศอื่น เพราะล้วนเอาผลประโยชน์ตนนำหน้า อ้างสิทธิมนุษยชน เสรีภาพ ประชาธิปไตย คำใหญ่ๆ ที่พูดออกไปแบบปากว่าตาขยิบ
ในกรณีของเยอรมนี คณะบุคคลนำโดยอดีตศักดินา อดีตนายทหาร อดีตสมาชิกสภาผู้แทนฯ พรรคขวาจัด ร่วมกับขบวนการขวาสุดขั้ว รวมหัวกันวางแผนกันมาตั้งแต่ต้นปีแล้วที่จะโค่นล้มรัฐบาล เพื่อกลับไปเป็นการปกครองแบบ “อภิชนาธิปไตย” (Aristocracy) ที่คนชั้นสูงกลุ่มหนึ่งอ้างตนเหมาะสมที่จะปกครองบ้านเมือง ไม่ใช่ด้วยระบอบ “ประชาธิปไตย” ที่พวกเขาอ้างว่าเลวร้ายล้มเหลว
มีการใช้กำลังตำรวจสามพันนายทำการ “กวาดล้าง” ทั่วเยอรมนี รวมทั้งบางแห่งในออสเตรียและอิตาลี ที่มีเครือข่ายโยงใยไปถึง แกนนำสำคัญถูกจับเบื้องต้น 25 คน
ขบวนการต่อต้านสังคม ขวาจัดหัวรุนแรงเติบโตในเยอรมนี 30 ปีที่ผ่านมา ก่ออาชญากรรมอย่างต่อเนื่อง มีกลุ่มนีโอนาซีที่อ้างอิงแนวคิดทฤษฎีเดิมแบบไม่เกรงกลัวอำนาจที่เข็ดขยาดและยังไม่ลืมความหฤโหดของนาซีก่อนและระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง
นาซีอ้างยิว นีโอนาซีอ้างผู้อพยพ ว่าสร้างความยุ่งยากลำบากให้คนเยอรมัน เจ้าของประเทศ แม้ไม่อ้างสายเลือดอารยันแบบที่นาซีอ้าง แต่ก็ในความหมายเดียวกัน นี่คือหอกข้างแคร่ให้รัฐบาลอังเกลา แมร์เกิล “แม่พระของผู้ลี้ภัย” และทำให้พรรคการเมืองขวาจัดได้รับคะแนนเสียง (เกิน 5%) จนเข้าสภาได้ และขบวนการนี้ก็เติบใหญ่ในหมู่คนชั้นกลางเยอรมัน
กรณีที่เยอรมนีทำให้หลายประเทศในยุโรปตื่นตัว และหันมาร่วมมือกันหาทางกำจัดลัทธินาซีใหม่และขบวนการขวาจัดสุดขั้วที่กำลังขยายตัว แตกออกไปหลายแขนง
กรณีนายเปโดร คาสติโญ ของเปรูนั้น ถือว่าเป็นการทำรัฐประหาร (ตัวเอง) ขัดรัฐธรรมนูญ ฝ่ายตุลาการและฝ่ายนิติบัญญัติ (รัฐสภา) จึงปลดเขาออกจากตำแหน่ง ถูกจับกุม บวกข้อหาเดิม คือละเมิดรัฐธรรมนูญและคอร์รัปชัน อาจติดคุก 10-20 ปีเช่นเดียวกับอดีตประธานาธิบดีอัลแบร์โต ฟูจิโมริ
นายคาสติโญถูกข้อหาเหลิงอำนาจ ขาดธรรมาภิบาล เอื้อพวกพ้องญาติพี่น้องของตน แค่ปีครึ่งที่เข้าสู่อำนาจเปลี่ยนคณะรัฐมนตรีแล้ว 5 คณะ ตั้งรัฐมนตรีไปมา 80 คน และต้องการรื้อระบบการเมือง การเลือกตั้ง รวมทั้งระบบยุติธรรม ที่ทำให้เขาเป็นผู้ต้องหาหลายคดี
เหตุการณ์เหล่านี้คงทำให้คนเชื่อว่า นี่คือยุค “สนธยาประชาธิปไตย” หรือ “ประชาธิปไตยตายแล้ว” เพราะท้ายที่สุด ประชาธิปไตยไม่ใช่เรื่อง “การเมือง” แต่เป็น “เศรษฐกิจการเมือง” เรื่องผลประโยชน์บวกอำนาจที่เป็นตัวกำหนดระบอบการเมืองการปกครอง ทำให้ประเทศต่างๆ เป็น “บริวารประชาธิปไตย” ของมหาอำนาจ
ในยุคสงครามเย็นก็เห็นสหรัฐอเมริกา กับสหภาพโซเวียต เป็นมหาอำนาจ มีลิ่วล้อเก่าใหม่มาจนถึงทุกวันนี้ ขยายเครือข่ายอีกหลายรูปแบบ เพิ่มมหาอำนาจใหม่ คือ จีน ที่ใช้ “เศรษฐกิจการเมือง” นำหน้า
จีนไม่สนใจว่าบ้านคุณมีระบอบการปกครองแบบไหน หลายปีที่ผ่านมา จึงเข้าไป “พัฒนา” ไป “ลงทุน” ในแอฟริกา ทวีปแห่งอนาคต ตลาดใหญ่ที่ใครๆ มองข้าม ประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เต็มไปด้วยเด็กและคนหนุ่มสาว วันนี้มีประชากรกว่า 1,200 ล้านคน ใหญ่อันดับสองรองจากเอเชีย
พยาธิวิทยาว่าด้วยอำนาจ ในแอฟริกา รัฐประหารอย่างในบูร์กินา ฟาโซ ที่ทหารล้มล้างกันเองนับเป็นเรื่อง “ปกติ” ในทวีปนี้และในบางประเทศในเอเชีย ขณะที่กีเนียนั้น ประธานาธิบดีต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้ตนเองสืบทอดอำนาจไปอีกเป็นสมัยที่สาม ที่เปรูก็คล้ายกันที่ต้องการสร้างฐานอำนาจใหม่ให้ตนเอง
อำนาจมีพลังดึงดูดคนให้เข้าไปหาเหมือน “หลุมดำ” หรือเหมือนขี่หลังเสือแล้วลงไม่ได้ เพราะอาจโดนเสือกัด เนื่องจากไปทำอะไรให้เสือบาดเจ็บ บางคนไปแล้วก็พยายามย้อนกลับมา อย่างที่อเมริกาและทั่วโลก
ความเข้าใจเรื่องเศรษฐศาสตร์การเมืองมีความสำคัญ เพราะเรื่อง “ปากท้อง” กับ “อำนาจ” ไปด้วยกัน แก้ปัญหาปากท้องได้ ก็ได้ฐานอำนาจสำคัญ แต่ต้องมีอีกฐาน คือทำอย่างไรให้คนเชื่อ ยอมรับ ที่กรัมชี เรียกว่า “อำนาจนำ” (hegemony) คือ ครอบงำด้วยค่านิยม ความเชื่อ วัฒนธรรม
มองอเมริกา รัสเซีย จีน ในบริบทของ “อำนาจโลก” แบบวิพากษ์ ก็จะเข้าใจว่า ไม่มีใครให้อะไรฟรี การเข้าไปมีอิทธิพล ครอบงำประเทศต่าง ๆ ของมหาอำนาจเหล่านี้ อาจจะเรียกว่า “ลัทธิอาณานิคมใหม่” เพราะไม่ได้แตกต่างกันใน “เนื้อหา” เพียงแต่ “รูปแบบ” เท่านั้นที่ทันสมัยและแยบยลมากขึ้น
คนไทยเองก็ไม่ได้รับอะไรฟรีๆ จาก “รัฐบาล” (ที่มักอ้างว่าให้ “ของขวัญ” เหมือนการให้เปล่า) เพราะล้วนเป็นเงินภาษีของประชาชน การอยู่ในอำนาจ พวกเขายังมีโอกาสมากมายเพื่อ “กอบโกย” ผลประโยชน์ ไม่ว่าจากงบประมาณแผ่นดินหรือวิธีการอื่นแบบอื่น
นี่คือวงจรอุบาทว์ของอำนาจการเมืองโลก และการเมืองไทย