แสงไทย เค้าภูไทย

นโยบายเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท/วันแ ละเงินเดือนผู้จบปริญญาตรี 25,000บาทของเพื่อไทย ถูกฝ่ายตรงข้ามโจมตีว่าเป็นไปไม่ได้ เป็นการเพิ่มภาระต้นทุนผลิต กระทบการส่งออก ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบรุนแรง แต่หากดูกันให้ครบทั้งวัฏจักรเศรษฐกิจแล้ว กลับเป็นผลดีเพิ่มจีดีพี เพิ่มรายได้รัฐ

พรรคการเมืองที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของพรรคเพื่อไทยโจมตีว่าเป็นการหาเสียง ขณะที่องค์กรหน่วยงานด้านแรงงานบอกว่าเป็นการทำลายโครงสร้างการจ้างงาน ส่วนองค์กรนายจ้างหนักใจจะเป็นการเพิ่มภาระแก่ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ผลิตเพื่อส่งออกที่ต้นทุนสินค้าเพิ่มขึ้น  ขีดแข่งขันลดลง

อันที่จริงแทบจะทุกรัฐบาลที่ผ่านมาพยายามจะเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ แต่ก็เพิ่มไม่ได้มาก หรือเพิ่มไม่เข้าเป้าหมาย

 อย่างรัฐบาลชุดนี้ก็เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ ได้แค่ 5-8% เท่านั้น

เพื่อไทยก็ตั้งเป้าไม่ต่างกัน เพียงแต่เพิ่มสูงจนถูกโจมตีว่าเป็นไปไม่ได้ เป็นการหาเสียง

แต่ถ้ามองไปที่วงจรการผลิตแล้ว  ค่าแรงเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งของต้นทุนการผลิตเท่านั้น

องค์ประกอบหลักของต้นทุนการผลิตประกอบด้วย 1.วัตถุดิบ (Raw Materials, Material Cost) 2.ค่าจ้างแรงงาน (Labor Cost ) 3. ค่าใช้จ่ายดำเนินการผลิต (Manufacturing Cost) 4. โสหุ้ย หรือค่าใช้จ่ายปลีกย่อย(Overhead Cost) เช่นค่าเช่า ค่าสาธารณูปโภค ค่าซ่อมบำรุงเครื่องจักร อุปกรณ์ ภาษี สวัสดิการลูกจ้าง ฯลฯ

ค่าจ้างจึงเป็นแค่องค์ประกอบ 1 ใน 4 เท่านั้น  และมีสัดส่วนราว 1ใน 4 ที่ถ้าขยับเพิ่มเป็น 1 ใน 3 ก็ไม่น่าจะเป็นภาระแก่นายจ้าง

เพราะความสำคัญของลูกจ้างแรงงานนั้นมีมาก  โดยเฉพาะแรงงานฝีมือ

การเพิ่มค่าแรงจะมีผลทางอ้อมในการเพิ่มผลผลิตมวลรวมประชาชาติ (GDP) ทั้งทางตรงและทางอ้อม

จีดีพีนั้นประกอบด้วย สินค้าสำเร็จรูปและบริการ (Finished Goods and Services) การบริโภคหรือการใช้จ่ายในประเทศ (Domestic Expenditure)การใช้จ่ายภาครัฐ ( Government Spending  ) ธุรกิจและการลงทุน( Business Investment) การส่งออก (Exports) และ การนำเข้า( Imports)

ตัวสำคัญที่น่าจับตาคือการบริโภคในประเทศ  ถ้าหากประชากรมีรายได้มากขึ้น สภาพความเป็นอยู่ กินดีอยู่ดีขึ้น มีการบริโภคย่อมจะเพิ่มขึ้น

สินค้าอุปโภคบริโภคก็ย่อมจะขายดี เพราะค่าใช้จ่ายสำคัญที่สุดของมนุษย์ก็คือค่าใช้จ่ายเพื่อยังชีพ นั่นคืออาหาร ที่เป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ ซึ่ง 3ปัจจัยหลังมีความสำคัญถัดไป

เมื่อประชากรมีรายได้เพิ่มขึ้นจนถึงขั้นปลดหนี้ และเหลือออม

รัฐก็สามารถขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 7% เป็น 10% ได้เพราะผู้บริโภคสามารถรับภาระภาษีที่เพิ่มขึ้นได้

ภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นภาษีที่ส่งเงินเข้ารัฐมากที่สุด  เป็นภาษีเสมอภาค คนรวย คนจนจ่าย 7% ของราคาสินค้าเท่ากันหมด 

เพราะภาษีนี้บังคับเก็บจากสินค้าตั้งแต่มาม่าซองละ 5-10 บาทไปยันเสื้อ ผ้า รองเท้าหรูคู่ละเป็นหมื่น

แรงงานที่เคยมีรายได้แค่หัวเดือน ท้ายเดือน  ก็จะเหลือเงินจากค่าแรงที่เพิ่มขึ้นพอที่จะจับจ่ายใช้สอยในสิ่งที่ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น เช่นพักผ่อนหย่อนใจท่องเที่ยว ปรับปรุงที่อยู่อาศัย ซื้อเสื้อผ้าใหม่

อีกด้านหนึ่ง ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากค่าจ้างเงินเดือนของแรงงานก็เป็นภาษีอีกตัวที่เพิ่มขึ้นตามค่าแรงที่เพิ่ม

นี่คือผลลัพธ์ทางอ้อม ทั้งการเพิ่มการบริโภคในประเทศ ทั้งเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม เพิ่มภาษีบุคคลธรรมดา

อีกด้านหนึ่ง  การเพิ่มค่าแรงย่อมส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต รัฐจึงต้องหาทางชดเชยให้ผู้ประกอบการ

การลดค่าสาธารณูปโภคซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญหนึ่งในสี่ขององค์ประกอบหลักของต้นทุนทั้งหมด ก็จะชดเชยได้

การประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 600  บาทของเพื่อไทยออกจะทำให้ตื่นตระหนกกันในหมู่ผู้ประกอบการ เพราะเข้าใจผิดว่าจะขึ้นพรวดพราด

แต่แท้จริงเป็นเป้าหมายใน 5 ปีข้างหน้า ซึ่งปัญหาที่ทำให้เศรษฐกิจโลกแปรปรวนจนถึงขั้นถดถอยนั้น  ถึงเวลานั้นจะพลิกกลับมาเฟื่องฟูได้

สถานการณ์ที่เปลี่ยนไป หากค่าแรงไม่แปรตาม แรงงานก็จะอยู่กันอย่างแร้นแค้น อย่าลืมว่ายุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร  ราคาแกงตามแผงลอยขายกันถุงละ 30-35 บาท มาวันนี้รัฐบาลบิ๊กตู่ แกงถุงละ 50-60  บาท แพงขึ้นมาเกือบ 50%แต่ค่าแรงขั้นต่ำ ขึ้นมาเพียง 5-8% เท่านั้น