เรื่องนี้น่าสนใจ ในยุคที่เทคโนโลยีก้าวล้ำไปมาก ขณะเดียวกันการแพร่ระบาดของเชื่อไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมาก็เป็นตัวเร่งให้การนำเทคโนโลยเข้ามาใช้ในชีวิตประจำวัน กลายเป็นวิถีใหม่ที่กำลังจะกลายเป็นวิถีปกติ

การทำธุรกรรมต่างๆ สามารถทำผ่านออนไลนได้ จึงมีการพูดถึงเรื่องของ การพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลอย่างมาก เพื่อมาใช้ระบุตัวบุคคลรองรับ และยืนยันความสามารถในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ ทั้งในระดับส่วนบุคคล นิติบุคคล ในการติดต่อองค์กรภาครัฐและเอกชน  ที่สะดวกรวดเร็ว ประหยัดเวลาและการเดินทาง รวมทั้งการเตรียมเอกสาร

ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา รับทราบรายงานกรอบการขับเคลื่อนการให้บริการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลประเทศไทย ระยะที่ 1 (2565-2567) และแผนปฏิบัติการตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม  โดยการพัฒนาระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตนด้วยใบหน้าทางดิจิทัล ประกอบด้วย 2 ระบบ คือ

1.ระบบ FVS หรือ Face Verification Service เช่น พัฒนาระบบ FVS เพื่อให้บริการตรวจสอบภาพใบหน้ารองรับธุรกรรมสูงสุด 60 รายการต่อวินาที (5 ล้านรายการต่อวัน) และการตรวจสอบภาพใบหน้าใช้เลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก พร้อมภาพใบหน้าเพื่อตรวจสอบกับระบบ FVS

และ 2.ระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล DOPA-Digital ID และแอปพลิเคชัน D.DOPA เช่น ขยายระบบรองรับผู้ใช้งานแอปพลิเคชัน D.DOPA เป็น 60 ล้านคน รองรับการยืนยันตัวตนสูงสุด 100 ธุรกรรมต่อวินาที และรองรับการพิสูจน์ตัวตนโดยไม่ต้องเดินทางไปที่สำนักงานเขตหรืออำเภอเพื่อรองรับการลงทะเบียนในการพิสูจน์ตัวตนด้วยตนเองโดยใช้ภาพใบหน้าตามระดับความน่าเชื่อถือของการพิสูจน์ตัวตน (Identity Assurance Level: IAL) ที่ระดับ IAL 2.3

โดยกระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลักในการให้ข้อมูลและบริการสนับสนุนการพิสูจน์ตัวตนให้กับผู้พิสูจน์และยืนยันตัวตน

ทั้งนี้ ทั้งนั้น เราเห็นว่า แนวทางการพัฒนาระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล จำเป็นต้องมีการวางระบบให้มีความปลอดภัยสูงสุด ท่ามกลางภัยออนไลน์และมิจฉาชีพต่างๆ เพื่อเรียกความมั่นใจและป้องกันความเสียหายระดับบุคคล องค์กรและธุรกิจ