ทวี สุรฤทธิกุล

รัฐไทยเติบโตมาใต้ระบบราชการ การเปลี่ยนแปลงระบบราชการจึงหมายถึงการเปลี่ยนแปลงประเทศ

คนที่เคยเรียนการเมืองการปกครองของไทย อาจจะพอจำได้ว่าระบบราชการไทยสถาปนาขึ้นในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี โดยพระองค์ได้ออกพระธรรมนูญการทำหน้าที่ของข้าราชการใน พ.ศ. 2001 และได้จัดแบ่งการปกครองหัวเมืองเป็นฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้ ใน พ.ศ. 2006 โดยให้สมุหกลาโหมปกครองหัวเมืองทางเหนือ และสมุหนายกปกครองหัวเมืองทางใต้ พร้อมกับตั้งระบบ “จตุสดมภ์” คือตำแหน่ง เวียง วังคลัง และนา เพื่อจัดหมวดหมู่ของการปฏิบัติราชการ พร้อมกับให้มีตำแหน่งและชั้นยศของขุนนาง เพื่อให้การบังคับบัญชาเป็นไปอย่างเรียบร้อย ร่วมกับการจัดแบ่งหัวมืองออกเป็นชั้น ๆ ตั้งแต่เมืองมหานครหรือเมืองหลวง ออกไปเป็นเมืองลูกหลวงหรือหัวเมืองชั้นเอก เมืองเจ้าพระยามหานครหรือหัวเมืองชั้นโท และชั้นนอกสุดคือเมืองบริวารหรือหัวเมืองประเทศราช ทำให้ระบบราชการของไทยมีความมั่นคงแข็งแรง และใช้ระบบนั้นมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จึงได้นำระบบของตะวันตกมาใช้ มีการจัดตั้งกระทรวงทบวงกรมแบบฝรั่ง ข้าราชการต้องคัดสรรเข้ามา มีเงินเดือนประจำ แต่ก็ยังมีชั้นยศของขุนนางแบบเดิม กระนั้นก็ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงระบบราชการครั้งใหญ่ จนถึงสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 กลุ่มข้าราชการทหารและพลเรือนนั่นเองก็เป็นผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง แล้วเลิกระบบชั้นยศของขุนนางแบบโบราณ แต่ก็ยังปกครองประเทศด้วยความ “ใหญ่โต” ของระบบราชการ ซึ่งดูเหมือนว่าจะยิ่งขึ้นกว่าเมื่อครั้งที่พระมหากษัตริย์มีอำนาจโดยสมบูรณ็นั้นด้วย จนนักรัฐศาสตร์เรียกการปกครองแบบที่ข้าราชการเป็นใหญ่นี้ว่า “อำมาตยาธิปไตย”

เราคงไม่ปฏิเสธว่า การทำรัฐประหารในทุกครั้ง และในทำนองเดียวกันกับที่มีการเลือกตั้ง การเปลี่ยนแปลงอำนาจรัฐในรูปแบบทั้งสองนั้นก็เพียงเพื่อ “เข้าเกาะกุม” ระบบราชการนั่นเอง เพราะถ้าหากใครควบคุมระบบราชการได้ โดยการเป็นรัฐบาล ซึ่งก็คือการเข้าไปใช้อำนาจกำกับควบคุมข้าราชการ ก็จะเป็นผู้ที่มีอำนาจสูงสุดในประเทศไทย และยิ่งตั้งแต่ยุคของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นต้นมา ซึ่งจอมพลสฤษดิ์จับจุดได้ว่า ความอ่อนแอและการล่มสลายของคณะราษฎรก็เป็นด้วยการทำตัวเป็นปฏิปักษ์กับพระมหากษัตริย์ ดังนั้นทหารกับพระมหากษัตริย์ตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษด์จึง “หล่อหลอม” เป็นเนื้อเดียวกัน และพึ่งพิงกันตลอดมา โดยมีระบบราชการเป็น “ฟันเฟือง” ที่ขับเครื่องความเจริญเติบโตของประเทศ พร้อมด้วยการเกื้อหนุนระหว่างกันและกันของของทั้งสามสถาบันนั้น (พระมหากษัตริย์ ทหาร และข้าราชการ) จนมาถึงยุคของ ดร.ทักษิณ ชินวัตร ใน พ.ศ. 2544 ก็คิดที่จะเอา “นักการเมืองนำข้าราชการ” โดยการจัดระบบกระทรวงบวงกรมต่าง ๆ เสียใหม่ แล้วใช้แผนยุทธศาสตร์ในการนำประเทศ แผนยุทธศาสตร์นี้เป็นของนักการเมืองที่พรรคไทยรักไทยสร้างขึ้น แทนที่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่ใช้กันมาตั้งแต่ พ.ศ. 2504 ทั้งนี้ในส่วนภูมิภาคก็ใช้การบริราชการแบบ “บูรณาการ” ที่ก็คือการรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่นักการเมืองและข้าราชการที่จะต้องเอาใจนักการเมืองในพื้นที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างนักการเมืองในฝ่ายที่เป็นรัฐบาล ที่สุดนายกรัฐมนตรีก็เหิมเกริมว่าตัวเองมีอำนาจมี่สุดในแผ่นดิน เพราะคุมทั้ง ส.ส.เป็นจำนวนมากเกือบหมดสภา และเป็นรัฐบาลที่มีอำนาจเด็ดขาดเหนือข้าราชการทั้งประเทศ จึงคิดจาบจ้วงทำตัวเทียบเทียมสถาบันสูงสุด นำมาซึ่งความเสื่อมและหายนะของนายกรัฐมนตรีคนดัง จนต้องกลายเป็นนักโทษหนีคดีมาถึงทุกวันนี้ เช่นเดียวกันทหารก็ใช้ความวุ่นวายเละเทะของรัฐบาลที่มาจากนักการเมืองเข้าควบคุมระบบราชการไว้ในมืออีกครั้ง ต่อเนื่องกันมาตั้งแต่การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และ 22พฤษภาคม2557

คงจะพูดไม่ผิดอีกเช่นกัน ที่จะพูดว่าทหารนั้นอยู่รอดมาได้เพราะระบบราชการนี่เอง โดยการที่ทหารเมื่อยึดอำนาจได้แล้วก็จะต้องเอาข้าราชการต่าง ๆ มาเป็นพวก เช่น ในช่วงแรกภายหลังที่ยึดอำนาจเสร็จก็จะเอาข้าราขการมาร่วมทั้งในรัฐบาลและสภานิติบัญญัติที่ทหารแต่งตั้ง เพื่อควบคุมข้าราชการไว้ชั้นหนึ่งเสียก่อน จากนั้นเมือบริหารประเทศไปก็จะคอยพิทักษ์ปกป้อง “เอื้ออวย” ประโยชน์ต่าง ๆ ให้กับข้าราชการ จนเมื่อทหารยอมปล่อยมือบางส่วน เช่น ให้มีรัฐธรรมนูญและมีการเลือกตั้ง ก็จะเขียนรัฐธรรมนูญเพื่อเอาข้าราชการมาเป็นพวกและเป็นฐานค้ำจุนอำนาจ รวมทั้งที่เมื่อเลือกตั้งเสร็จแล้ว ทหารก็จะควบคุมการตั้งรัฐบาล รัฐบาลที่ได้ก็จะถูกทหารกำกับดูแล เช่น ในการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ ทหารก็จะมีส่วนยุ่งเกี่ยวอยู่มาก นั่นก็คือข้าราชการจะ “เคารพยำเกรง” ทหารมากกว่านักการเมือง จึงไม่เกรงกลัวนักการเมือง ในขณะเดียวกันก็นอบน้อมต่อทหารที่มีอำนาจเหนือกว่านักการเมืองมาโดยตลอดนั้น และยิ่งทหารวางบทบาทให้ผู้นำทหารมีอำนาจต่อไปทั้งในรัฐสภาและรัฐบาล ข้าราชการที่เป็นอาชีพที่จะต้องไต่เต้าโดยอาศัยความสืบเนื่องของเวลา ก็ยิ่งจะต้องยำเกรงทหาร มากกว่านักการเมืองที่เข้ามาชั่วครั้งขั่วคราวแล้วหมุนเวียนเก้าอี้กันไป

ดังนั้นเราจึงไม่ต้องแปลกใจที่รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 จึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า “ฉบับสืบทอดอำนาจ” ซึ่งฝ่ายตรงข้ามกับทหารก็คงจะเข้าใจเรื่องนี้เป็นอย่างดี จึงพยายามที่จะแยกทหารออกจากระบบราชการ อย่างที่ได้มีการเสนอกฎหมาย “ปลดล็อกท้องถิ่น” และ “เลิกการปกครองส่วนภูมิภาค” ที่แม้ฝ่ายค้านจะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ แต่นั่นก็เป็นสัญญาณว่าสังคมไทยกำลังมาถึง “แพร่งมฤตยู” คือการเลือกทางเดินต่อไปของการต่อสู้ทางการเมือง ที่แน่นอนว่าฝ่ายค้านก็จะต้องใช้เรื่องการ “ปลดแอกระบบราชการ” เป็นประเด็นหรือนโยบายในการหาเสียงที่สำคัญต่อไป

แต่การนำระบบราชการออกจากการควบคุมของทหารนั้นนับว่าเป็นเรื่องยากเสียยิ่งกว่า “เข็นครกขึ้นภูเขา” ด้วยเหตุผลทางประวัติศาสตร์ที่ผู้เขียนได้ยกมาอธิบายในตอนต้น ว่าเป็น “ความผูกพันกันอย่างแน่นหนา” ระหว่างพระมหากษัตริย์ ทหาร และข้าราชการ นั่นแหละ แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว แต่การเมืองไทยก็ยังปกครองด้วยระบบ “3 ขาใหญ่” นั้นอยู่ไม่เสื่อมคลาย คอมมิวนิสต์ที่มีต่างชาติหนุนหลังมาในช่วงตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็เอาชนะสถาบันทั้งสามนี้ไม่ได้ ประสาอะไรกับนักการเมืองที่กำลังซ่า ๆ อยู่ในบางพรรค ที่หลายคนยังดูถูกว่าเป็น “เด็กอมมือ” จะมาต่อกรด้วยได้

ผู้เขียนเคยดูหนังเรื่อง Under Seize ที่แสดงนำโดยพระเอกนักบู๊ ฉายา “จอมหักมือ” สตีเวน ซีกัล เขาแสดงเป็นทหารเรืออเมริกันที่ชอบขัดขืนคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ที่สุดถูกย้ายไปเป็นพ่อครัวอยู่ใต้ท้องเรือ ที่พอดีกำลังถูกผู้ก่อการร้ายมายึด แต่สุดท้ายด้วยความเก่งกาจของซีกัล เขาก็กอบกู้และปราบกบฏได้ ในตอนหนึ่งเขาพูดกับผู้บังคับบัญชาที่พยายามจะข่มขู่เขา โดยเขาบอกว่าเขาไม่กลัวนายทหารขี้โกงหรอก แต่เขากลัวคนอเมริกัน เขาเป็นทหารของคนอเมริกัน ไม่ใช้ทหารของนายพันนายพลคนใด

ฝ่ายค้านถ้าคิดจะยึดระบอบประยุทธ์คงจะต้องพูดแบบนายซีกัลนี้ แล้วก็ต้องพยายามให้คนไทยเบื่อหน่ายหรือเกลียดชังจนกระทั่ง “โกรธแค้น” ระบอบประยุทธ์นั้นให้ได้

เมื่อนั้นแหละคุณก็จะสร้างหนังเรื่อง “Thailand Seize” ได้สำเร็จ