ทีมข่าวคิดลึก
"ศึกประชามติ" ครั้งนี้คึกคักเข้มข้น และดุเดือดยิ่งนัก เมื่อถึงเวลานี้ทั้ง "ฝ่ายหนุน" และ "ฝ่ายต้าน" เพราะดูเหมือนว่านาทีนี้ ไม่มีใครยอมใคร !
การเคลื่อนไหวของฝ่ายต่อต้านร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งจากฝ่ายการเมืองไปจนถึงกลุ่มนักวิชาการ และองค์กรต่างๆ ได้โหมประโคมกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึง "ข้อเสียข้อด้อย" อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการพุ่งเป้าไปยังปมประเด็นว่าด้วยการ "สืบทอดอำนาจ" ของ "คณะรักษาความสงบแห่งชาติ"
และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การดำรงอยู่ของ "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.ไม่ว่าที่สุดแล้วร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะผ่านประชามติหรือไม่ก็ตาม
เพราะต้องไม่ลืมว่าปมประเด็นที่ว่าด้วยการ "สืบทอดอำนาจ" ของคสช.นั้นถือเป็นเรื่องที่เปราะบาง เป็นจุดอ่อนที่ทำให้ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์และ "บิ๊กป้อม" พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ต้องออกมายืนยัน หลายต่อหลายครั้งว่า ทุกอย่างจะต้องเดินไปตามโรดแมป นั่นคือการเลือกตั้งในปี 2560 และคสช.ไม่เคยคิดที่จะสืบทอดอำนาจแต่อย่างใด !
ขณะเดียวกัน เมื่อคสช.ถูก "รุกหนัก" จากฝ่ายต่อต้าน ปฏิบัติการกระชับพื้นที่ จึงเกิดขึ้นทั่วประเทศอย่างที่เห็น ทั้งการส่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายตำรวจ ทหาร และมือไม้จากกระทรวงมหาดไทย ลงไปปูพรมเพื่อตรวจค้นติดตามการเคลื่อนไหวเพื่อบิดเบือนร่างรัฐธรรมนูญ มีเป้าหมาย "คว่ำร่างฯ" ในการลงประชามติครั้งนี้อย่างเข้มข้นเช่นกัน
พื้นที่เป้าหมายที่ถูกสแกนจากเจ้าหน้าที่รัฐ ฝ่ายความมั่นคง มีขึ้นทั่วประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ "เรดโซน" ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็น "ฐานที่มั่น"ทางการเมืองของพรรคเพื่อไทย อย่างภาคเหนือและอีสาน ควบคู่ไปกับจังหวัดต่างๆ ที่มีการก่อเหตุ สร้างความวุ่นวายด้วยการทำลาย ขโมย ไปจนถึงเผารายชื่อผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติ อีกทั้งยังสืบเสาะ หาเบาะแส "ต้นตอ" ของเอกสารร่างรัฐธรรมนูญปลอม จนกลายเป็น "ข่าวใหญ่" เกิดขึ้นต่อเนื่อง"กระแส" ที่ถูกปลุกเร้าขึ้นในเวลานี้จากฝ่ายต่อต้านและฝ่ายสนับสนุน คสช. ทั้งที่เปิดเผยและกลุ่มบุคคลที่ทำงานอย่างเงียบๆ ในพื้นที่ล้วนแล้วแต่มีความสำคัญ ส่งผลต่อการตัดสินใจของประชาชนที่จะออกมาใช้สิทธิออกเสียงประชามติ ในวันที่ 7 ส.ค.นี้ ไม่น้อย
เนื่องจากต้องยอมรับว่า การอ่าน ศึกษาและทำความเข้าใจในเนื้อหาสาระของร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่จะลงประชามตินั้นอาจไม่สามารถทำได้อย่างทั่วถึง ด้วยข้อจำกัดของประชาชนเอง และปัญหาจากการรณรงค์เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)รวมถึงแม่น้ำแต่ละสายที่ลงไปในแต่ละพื้นที่ เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว ผลการสำรวจของโพลสำนักต่างๆ ล้วนประเมินออกมาในทิศทางเดียวกันว่าปัญหาขณะนี้คือความรู้เรื่องร่างรัฐธรรมนูญและการลงประชามติ
อย่างไรก็ดี การจัดดีเบตเพื่อทำความเข้าใจในร่างรัฐธรรมนูญ อาจกลายเป็นเรื่องที่ล่าช้าและไม่ทันการ เนื่องจากกระแสที่ถูกปลุกขึ้นทั้งหนุนและรับร่างรัฐธรรมนูญจากแต่ละฝ่ายนั้นได้มีการเผยแพร่ และกระจายไปอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นการบอกต่อชนิดปากต่อปากตาม"สภากาแฟ" ในต่างจังหวัด ไปจนถึงจนการส่งข้อความ ผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์ การใช้ช่องทางโซเชียลที่มีความเหนือชั้นกว่า จนกลายเป็นไฟลามทุ่ง ณ เวลานี้คือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงซึ่งจะส่งผลต่อการต่อสู้ในศึกประชามติ อย่างเห็นผลลัพธ์ได้จะแจ้ง !-