รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์

ประธานที่ปรึกษาสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

นับตั้งแต่ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยรวมแล้วกว่า
90 ปี นับว่าเป็นช่วงเวลาที่ยาวนานมากเมื่อเทียบกับอายุขัยของคนเรา ตลอดช่วงระยะเวลาที่ก้าวล่วงมามีตัวเลขมากมายที่สะท้อนถึงความไม่มั่นคงทางการเมืองไทย อาทิ ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญมากถึง 20 ฉบับ การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 25 ครั้ง
ยุบสภา 14 ครั้ง นายกรัฐมนตรี 29 คน คณะรัฐมนตรี 62 ชุด รัฐประหารยึดอำนาจสำเร็จ 13 ครั้ง ซึ่งมากที่สุดในประเทศอาเซียน โดยครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อเหตุการณ์รัฐประหาร ปี 2557 ซึ่งมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้นำรัฐประหาร และดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย นับตั้งแต่นั้นจนถึงปัจจุบัน

เมื่อพิจารณาสถานการณ์การเมืองของบ้านเมือง ณ วันนี้ ก็หวังว่าคงจะยังไม่ถึงขั้นที่จะต้องใช้ ‘รัฐประหาร’ เป็นเครื่องมือจัดระเบียบทางการเมือง หรือควบคุมภาวะความไม่แน่นอนจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองของฝ่ายตรงข้าม ก็จะเป็นที่แน่นอนว่าใน
ปี 2566 นี้ ประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งทั่วไปหรือสภาผู้แทนราษฎรเกิดขึ้น คาดการณ์ว่าจะมีการเลือกตั้งภายในวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 หลังจากที่สภาผู้แทนราษฎรไทยชุดที่ 25 ครบวาระ 4 ปี ในวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2566 อย่างไรก็ตาม หากมีการยุบสภาเกิดขึ้นก่อนหน้านี้ การเลือกตั้งก็จะจัดขึ้นภายใน 45 วัน แต่ไม่เกิน 60 วันหลังจากวันที่พระราชกฤษฎีกายุบสภามีผลบังคับใช้

การปกครองระบอบประชาธิปไตยเป็นการปกครองที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองและมีอิทธิพลเหนือรัฐบาล โดยผ่านการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งการเลือกตั้งเป็นหลักการสำคัญของการปกครองระบอบประชาธิปไตย แต่ทว่าในประเทศที่มีระบอบเสรีประชาธิปไตยมั่นคงดี กลับพบว่าสัดส่วนของคนรุ่นใหม่ผู้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งและมีส่วนร่วมทางการเมืองลดลงอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งส่งผลต่อคุณภาพของประชาธิปไตย

แต่คนรุ่นใหม่ก็ยังคงเป็นพลังขับสำคัญของการขับเคลื่อนการเมืองในอนาคต...คนรุ่นใหม่เป็นกลุ่มที่เติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยีและอินเตอร์เน็ต ทำให้คนกลุ่มนี้มีการแสวงหาข้อมูลข่าวสารและความรู้ใหม่ ๆ ได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งมีความคิด ความเชื่อ ไลฟ์สไตล์ และพฤติกรรมที่แตกต่างไปจากคนรุ่นก่อนหน้าอย่างสิ้นเชิง  และการขยายตัวของคนรุ่นใหม่จนเป็นกลุ่มคนที่มีจำนวนมากที่สุดในโลก

สำหรับประเทศไทยการมีส่วนร่วมทางการเมืองของ “คนรุ่นใหม่” (Young Voters) เป็นที่จับตามองมาก เพราะคนรุ่นใหม่มีฐานะเป็นฐานคะแนนเสียงหลักของประเทศที่มีจำนวนไม่ต่ำกว่า 8 ล้านคน ความสำคัญของคนรุ่นใหม่ในประเทศไทยคือ การเป็นตัวแสดงทางการเมืองใหม่ (New Political Actor) ที่สามารถสะท้อนถึงทิศทางของระบบการเมืองในอนาคต โดยพิจารณาจากความเข้าใจ ทัศนคติ ความคิดเห็น และอุดมการณ์ทางการเมือง ซึ่งนอกจากคนรุ่นใหม่นี้จะเป็นตัวแสดงทางการเมืองใหม่แล้ว ถ้ามีจำนวนมากพอก็จะกลายเป็นกลุ่มประชากรที่มีพลังมากในการสร้างการเปลี่ยนแปลง และ/หรือสงวนรักษาการเมืองตามระบบเดิม ดังนั้น การส่องหรือศึกษาพฤติกรรมทางการเมืองของกลุ่มคนรุ่นใหม่จึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะคนกลุ่มนี้เป็นปัจจัยหรือตัวชี้วัดปรากฏการณ์ทางการเมืองไทยและผลลัพธ์ของระบบการเมืองไทย กล่าวสั้น ๆ ได้ว่า คนรุ่นใหม่คืออนาคตและเป็นผู้กำหนดทิศทางของระบบการเมืองไทย

ความแตกต่างระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ คนรุ่นเก่าหรือคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์ (Baby Boomer) และคนรุ่น Gen X ให้ความสำคัญกับการรักษาสิ่งที่ดีงามตามทัศนคติของตนเอง คนรุ่นนี้ส่วนใหญ่แล้วถือเป็นคนที่มีแนวคิดอนุรักษ์นิยม กังวล กลัว และ ไม่ชอบให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างทันทีทันใด ขณะที่คนรุ่นใหม่หรือคนรุ่น Gen Y ในทางการเมือง จะมีลักษณะกล้าคิดท้าทายชอบตั้งคำถาม อยากได้รายละเอียดที่ชัดเจนและตรงไปตรงมา กล้าพูด ชอบซักไซ้ไล่เลียง ต้องการสิ่งที่กระชับและเข้าใจง่าย ไม่ชอบสิ่งที่เป็นนามธรรม ต้องการสิ่งที่เป็นรูปธรรมมากกว่าการเป็นเพียงคำพูดที่ดูสวยหรูอย่างเดียว

ประเทศที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยก้าวหน้า การเมืองภาคพลเมืองเข้มแข็ง และมีระบบการศึกษาที่ดี เช่น ออสเตรีย และสหราชอาณาจักร จึงมีการปรับลดข้อกำหนดเกี่ยวกับอายุของผู้ที่จะดำรงตำแหน่งทางการเมือง และผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพื่อกระตุ้นให้เยาวชนคนรุ่นใหม่เข้ามาทำงานในฐานะผู้ตัดสินใจ (Decision-maker) ในสถาบันการเมืองของประเทศมากขึ้นแทนที่จะเป็นเพียงผู้ให้ความเห็นหรือแค่แสดงบทบาทอยู่ภายนอกเท่านั้น

เมื่อฤดูการเลือกตั้งใกล้มาถึง การเมืองไทยที่เรียกว่า “ประชาธิปไตยแบบไทย ๆ” การเลือกตั้งไม่ได้ถูกกำหนดโดยพรรคการเมืองในสนามการเลือกตั้งเท่านั้น แต่ถูกกำหนดจากองค์กรอิสระ วุฒิสภาแต่งตั้ง กองทัพ และเครือข่ายชนชั้นนำรอยัลลิสต์-อนุรักษนิยม และภาพลักษณ์นักการเมืองไทยก็ยังถูกมองว่าเป็นนักการเมืองขี้ฉ้อ ตอแหล สยบยอมเผด็จการร่วมก่อ “วงจรอุบาทว์” ซ้ำซาก นักการเมืองส่วนใหญ่ไม่มีอุดมการณ์ ไม่รู้จักคำว่า “การยึดมั่นอย่างมั่นคงในความถูกต้อง”

เมื่อการเมืองไทยกำลังอยู่ในยุคเปลี่ยนผ่านระหว่างยุคเก่ากับยุคใหม่ และระหว่างอำนาจนิยมกับเสรีนิยม แล้วก้าวต่อไปของสังคมการเมืองไทยจะลงเอยแบบไหน? อย่างไร? คงต้องจับตาดู ‘บทบาทของนักการเมือง’ โดยเฉพาะนักการเมืองคนรุ่นใหม่ที่จะเข้ามาเป็น ‘New Hope’ น้ำดีทางการเมือง หรือเข้าสู่วังวนเก่า ๆ เปลี่ยนแต่เฉพาะผู้เล่นหน้าใหม่หรือไม่นั้น ก็คงต้องติดตามกันยาว ๆ ครับ