เสรี พงศ์พิศ

FB Seri Phongphit

แต่ก่อนกาลนานมาแล้ว หลังจากสร้างโลกและมนุษย์เสร็จ ทวยเทพปรึกษากันว่า จะเอา “ความสุข” ไปไว้ที่ไหน มนุษย์จึงยากจะหาพบ องค์หนึ่งบอกว่า เอาไปไว้บนภูเขาสูง ก็มีผู้โต้แย้งว่า สูงแค่ไหนมนุษย์ก็ไปถึงไม่ยาก อีกองค์หนึ่งบอกว่า เอาไปซ่อนไว้ใต้ดิน ก็มีผู้โต้แย้งว่า ลึกอย่างไรมนุษย์ก็ขุดไปจนพบ

องค์หนึ่งเสนอว่า เอาไปไว้ใต้สมุทร ก็มีผู้โต้แย้งอีกว่า เราให้ความฉลาดแก่มนุษย์ สุดท้ายเขาก็คิดค้นเครื่องดำน้ำ ดำลึกลงไปจนพบได้  อีกคนก้าวหน้ามองไกลเสนอว่า เอาไปไว้ที่ดวงดาวไกลสุดขอบฟ้า  ก็ยังมีผู้แย้งอีกว่า เราให้สมองปราดเปรื่องแก่มนุษย์ไปแล้ว เขาจะประดิษฐ์ยานอวกาศไปถึงจนได้ ไม่ว่าไกลแค่ไหน

นิ่งไปนาน ที่สุดเทพองค์เล็กสุดก็บอกว่า รู้แล้ว เอาไปซ่อนไว้ในตัวเขานั่นแหละ เพราะเขามัวแต่หาความสุขที่อื่นนอกกาย ในทรัพย์สมบัติ บ้านหลังใหญ่ รถยนต์คันโต เกียรติยศชื่อเสียง สารพัดที่เขาเรียกมันว่าความสุข ที่สุด ทุกอย่างก็มลายหายไป (ปรับมาจากนิทานสเปน)

ด้วยเหตุนี้กระมัง โลกวันนี้จึงมีเรื่องแปลกแต่จริง ทั้งๆ ที่เต็มไปด้วยเครื่องอำนวยความสะดวกสบาย ไปมาหาสู่ ดูหนังดูละคร เสื้อผ้าอาภรณ์ อาหารเครื่องดื่ม มีเพลงมีดนตรี มีมือถือคนละหลายเครื่อง น่าจะมีความสุขสนุกสนาน แต่ก็ยังรู้สึกโดดเดี่ยว เซ็ง เหงา บ้า และฆ่าตัวตายมากกว่ายุคใด

ความสุข 4 มิติ เริ่มจาก 1 “ตัวเอง” ซึ่งมีคนเตือนสติอยู่ไม่ขาด ถ่ายทอดคำสอนและแบบอย่างชีวิตของพระพุทธเจ้า ผู้ทรงพร้อมด้วยทรัพย์ศฤงคาร อำนาจวาสนา ความรู้ทางโลกจากสำนักตักศิลา ยังทรงบำเพ็ญตบะจนเหลือแต่หนังหุ้มกระดูกก็ยังไม่ “พ้นทุกข์” ต่อเมื่อทรงเดินเข้าไปในหมู่บ้านในเมือง เห็นคนเกิด แก่ เจ็บ ตาย ถึงได้ “รู้แจ้ง”  ด้วยดำเนินตามทางสายกลาง หรือมัชฌิมาปฏิปทา

มิติที่ 2 พุทธศาสนาสอนให้คนเปลี่ยนจาก “ข้างใน” หาความสงบสุขจาก “ข้างใน” แต่ก็ไม่ให้ปิดกั้นจาก “ข้างนอก” ความสัมพันธ์กับคนอื่น ความสัมพันธ์ที่ดีพรหมวิหาร 4 ตามวิถีสู่ความเป็นอริยะ มรรคมีองค์ 8  หรือไตรสิกขา ศีล สมาธิ ปัญญา “ข้างในกับข้างนอก” จึงเป็นสองหน้าของเหรียญเดียว

มิติที่ 3 “คุณเป็นใครไม่ได้อยู่ที่ตัวคุณ แต่อยู่ที่ความสัมพันธ์กับผู้อื่น” ดังที่นิโคลัส แห่งคูส์ที่ ปราชญ์ปลายยุคกลางของยุโรปบอก  เพราะคุณไม่ได้เกิดมาจากตอไม้ หรือหล่นมาจากฟ้า แต่มาจากพ่อแม่ มีพี่น้อง มีญาติมิตร มีชุมชน มีสังคม

พระเยซูสอนให้รักพระเจ้าและรักเพื่อนมนุษย์เหมือนรักตัวเอง ความรักที่แท้จริงทำให้เกิดความสุข ทำให้สุขภาพดี การแพทย์ก็ยืนยันว่า ความปรารถนาดี มีเมตตาและรักผู้อื่นทำให้สุขภาพดีมีความสุข ป้องกันและรักษาโรคที่เกี่ยวกับระบบประสาท ทางเดินอาหาร และอีกหลายโรคได้  โดยเฉพาะโรคไม่ติดต่อร้ายแรงทั้งหลาย อันเป็นผลของความ “โลภ โกรธ หลง” ที่บ่อนทำลายระบบสุขภาพ

แทนที่มนุษย์จะใช้ความสัมพันธ์แบบสร้างสรรค์ ก็ใช้แบบ “เห็นแก่ตัว” จึงเป็นทุกข์ หาความสุขไม่พบ เพราะเอาแต่วิ่งหาความสัมพันธ์กับคนที่ให้ประโยชน์ ระบบอุปถัมภ์จึงไม่เสื่อมคลาย มีเส้นมีสาย มีพรรคมีพวก มีชมรมสมาคม มีเครือข่ายเพื่อผลประโยชน์

ไม่ใช่ความสัมพันธ์แบบนั้นที่ทำให้คนสุขภาพดีมีความสุข ผลการวิจัย 80 ปีของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดบอกว่า ดูแลตัวเองก็สำคัญ แต่การมีความสัมพันธ์ที่ดีก็เป็นการดูแลตนเองเช่นเดียวกัน งานวิจัยพบว่า ไม่ใช่เงินหรือชื่อเสียงที่ทำให้คนมีความสุขไปตลอดชีวิต ความสัมพันธ์ที่ดีช่วยให้คนลดความไม่พอใจในชีวิตลง อายุยืนและมีความสุขกว่าคนที่มีฐานะดี ร่ำรวยเงินทอง ฉลาดปราดเปรื่อง ไอคิวสูง แต่อีคิวต่ำ

มิติที่ 4 ความเป็นตัวของตัวเอง ที่ “ปลดปล่อยและเป็นอิสระ”  ฌอง ปอล ซาร์ตร์ ปราชญ์ชาวฝรั่งเศสบอกว่า “คนอื่นคือนรก” ซึ่งไม่ได้แปลว่า คนอื่น คือผู้สร้างความยุ่งยากลำบากให้แก่เรา แต่หมายถึงการที่เราไปเอาความคิดเห็นของคนอื่นที่มีต่อตัวเรามาครอบงำตัวเอง มากำหนดตัวเรา มาเป็นทุกข์ นี่ต่างหากคือนรก

ในเวลาเดียวกัน ชีวิตก็มีความจำเจ น่าเบื่อหน่าย ไร้เหตุผลจนเป็นความบัดซบ (absurd) อย่างที่อัลแบร์ต คามูส์ บอก “ตื่นเช้าขึ้นมา ล้างหน้าแปรงฟัน อาหารเช้า นั่งรถไฟไปทำงาน กินข้าวเที่ยง ทำงาน กลับบ้าน กินข้าว ดูทีวี นอน ตื่นเช้าขึ้นมา ล้างหน้าแปรงฟัน...” วันแล้ววันเล่า จะหาความสุขได้จากที่ไหน

คามูส์เล่าเรื่องตำนานซิซิฟุส ที่ทำผิด ถูกเทพเจ้าลงโทษให้เข็นหินขึ้นเขา ขึ้นไปเกือบถึงก็ไหลลงมา เข็นขึ้นไปใหม่เกือบถึงก็ไหลลงมาอีก เช่นนี้ชั่วนิจนิรันดร์ ไม่มีเหตุผล ไม่มีความหมาย แต่คามูส์ก็หักมุมบอกว่า ลองจินตนาการว่า ซิซิฟุสมีความสุขดูสิ คนก็สงสัยว่า ทำได้ยังไง

คำตอบของคามูส์ คือ ซิซิฟุส เกิด “จิตสำนึก” (consciousness) ในตัวเองว่าสามารถเป็นนายเหนือชีวิตและการกระทำของตนเองได้

“จิตสำนึก” ของคามูส์ คงไม่ต่างจาก “สติ” ในพุทธศาสนา ที่ “รู้ตัว” ทุกขณะ  หรือ “ความหมาย” ในจิตวิเคราะห์แบบค้นหาความหมาย (logotherapy) ของวิคตอร์ ฟรังเคิล ที่พบว่า คนอเมริกันฆ่าตัวตายสูงไม่ใช่เพราะเหตุผลทางเศรษฐกิจ แต่เพราะ “ชีวิตไร้ความหมาย” “ไม่รู้จะอยู่ไปทำไม”

วิคตอร์ ฟรังเคิล เป็นยิว รอดตายจากค่ายนรกนาซี เพราะเขาคิดว่า ยังมีคนที่รอเขาอยู่ คนที่เขารัก ส่วนคนจำนวนมากที่ตายในนั้นไม่ใช่เพราะถูกส่งเข้าห้องรมแก๊ส แต่เพราะไม่ต้องการมีชีวิตอยู่ต่อไปในนรกนั้น

ชีวิตที่สิ้นหวัง คือ ชีวิตที่ไม่มีความสุข ไม่มีความหมาย และสุดท้ายก็ทำลายตัวเอง เหมือนในยุคแรกๆ ที่เอดส์ระบาดหนัก ผู้ติดเชื้อถูกรังเกียจ ถูกกีดกันไม่ให้อยู่ในบ้าน ในชุมชน จนตรอมใจตายเพราะไม่อาจมีชีวิตอยู่โดดเดียวเดียวดายในโลก โดยไม่มีความสัมพันธ์กับใคร

ทวยเทพที่สร้างมนุษย์มาไม่ได้โหดร้ายให้คนมีแต่ทุกข์ เพราะได้ให้คนชี้ทางออก ทางรอด ทางพ้นทุกข์ และมีความสุขแล้ว ไม่ได้ซ่อนไว้ห่างไกลจนไปไม่ถึงหาไม่พบ อยู่ที่ว่า มนุษย์จะค้นพบความสุข “ภายใน” ตัวเอง และ “ภายนอก” ในความสัมพันธ์อันดีกับคนอื่นหรือไม่เท่านั้น